เตือนผู้ปกครองช่วยดูแลบุตรหลานช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ หลังสำรวจพบพื้นที่เสี่ยงหลายแห่ง ล่อใจเยาวชนเข้าไปใช้บริการ อย่าง “แพเธค” กลางแม่น้ำแคว เมืองกาญจน์ วัยรุ่นแห่จองเข้าไปมั่วสุม โรงเรียนต้องจัดครูคอยสอดส่อง
จากการสำรวจตามโครงการแผนที่สุขภาพ เพื่อเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยงรอบโรงเรียน ของสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีโรงเรียนกว่า 150 โรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วม โดยกลุ่มนักเรียนในโครงการจะทำการสำรวจพื้นที่รอบๆ โรงเรียนในรัศมี 5 กิโลเมตร
จังหวัดกาญจนบุรีมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ คือ โรงเรียนเทพมงคลรังสี อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ได้สำรวจพื้นที่ พบว่า แพกลางแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระญาณสังวร เขตเทศบาลเมืองกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เสี่ยงอีกแห่งหนึ่งที่กลุ่มเยาวชนเข้าไปมั่วสุมกันมาก
น.ส.กนกพร มีคติธรรม อายุ 19 ปี นักเรียนชั้น ม.6/2 โรงเรียนเทพมงคลรังสี หัวหน้าโครงการแผนที่สุขภาพฯ กล่าวว่า สาเหตุที่มองว่าแพกลางน้ำเป็นพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากแพดังกล่าวมีราคาถูก คืนละประมาณ 100-200 บาทเท่านั้น ลักษณะแพบางลำจะมี 2 ชั้น มีอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการ มีดีเจเปิดเพลงคล้ายผับกลางน้ำ หรือที่เรียกกันว่า “แพเธค” และที่สำคัญสามารถค้างคืนได้ ที่ผ่านมาก็จะมีวัยรุ่นเข้าไปมั่วสุมเป็นประจำ
น.ส.กนกพร กล่าวด้วยว่า ช่วงวันวานเลนไทน์ที่กำลังจะมาถึง วัยรุ่นในเมืองกาญจนบุรีตื่นตัวกันมาก และแพกลางแม่น้ำแควก็เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่วัยรุ่นนิยม บางคนถึงกับจองแพล่วงหน้าเพื่อเตรียมฉลองวันวาเลนไทน์
“เรื่องนี้เราเยาวชนคงไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ เพราะเป็นการหาเลี้ยงชีพของผู้ประกอบการ บทบาทของเราก็ทำได้แค่จุดประกายความคิดในหมู่เพื่อนๆ ไม่ให้เข้าไปในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมกับวัยตัวเอง” น.ส.กนกพร กล่าว
ส่วนอาจารย์นงนุช สุขประเสริฐ อาจารย์โรงเรียนเทพมงคลรังสี กล่าวว่า ช่วงเทศกาลวาเลนไทน์อาจารย์จากทุกโรงเรียนในเขตอำเภอเมือง กาญจนบุรี จะคอยสอดส่องดูแลนักเรียนตามพื้นที่เสี่ยงต่างๆ และแพเธคกลางแม่น้ำแควก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นสถานที่มั่วสุมสำคัญของวัยรุ่นในเขตเทศบาลเมืองกาญจนบุรี
“เราพยายามบอกกับนักเรียนมาโดยตลอดว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่เสี่ยงสำหรับพวกเขา และเหมาะสมกับวัยแค่ไหนถ้าเข้าไปสถานที่แบบนั้น นอกจากนี้ในช่วงเทศกาล ทางโรงเรียนของเราก็หาทางป้องกันทุกรูปแบบ อย่างเช่นช่วงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เราก็จะพานักเรียนในโรงเรียนทุกคนไปเข้าค่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เขาใช้โอกาสในวันวาเลนไทน์ไปมั่วสุมกัน” อาจารย์นงนุช กล่าว
ทางด้านนายประยูร อองกุลนะ กรรมการบริหารแผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในเทศกาลวาเลนไทน์จะไม่ใช่ช่วงเสี่ยงเลยถ้าเยาวชนตระหนักรู้ว่าเป็นเทศกาลแห่งความรัก ไม่มีเรื่องของเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้พ่อแม่และสังคมต้องเข้าไปช่วยเหลือ โดยที่เราต้องทำความเข้าใจว่าฮอร์โมนบางอย่างอาจจะไปกระตุ้นให้พวกเขาเสี่ยงกับการดำรงชีวิต
“โครงการแผนที่สุขภาพฯ เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของสสส.ที่ต้องการวัยรุ่นได้ศึกษาวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาว่าพื้นที่ไหนเสี่ยง พื้นที่ไหนดี ก่อนตัดสินใจว่าพื้นที่ไหนเหมาะสำหรับตัวเขา แต่ทั้งนี้สังคมต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเขาด้วย” นายประยูร ให้ความเห็น