ทุกครั้งเมื่อถึงจุดเปลี่ยนของสหัสวรรษ หรือศตวรรษ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม การคิดค้นยาปฏิชีวนะรักษาโรค และในศตวรรษที่ 21 ศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า Anti-aging medicine หรือ เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์ แต่เราจะยังมีชีวิตอยู่จนถึงจุดเปลี่ยนนั้นหรือไม่
องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้อายุเฉลี่ยของคนไทยผู้ชายอยู่ที่ 68 ปี ผู้หญิง 72 ปี แต่เป้าหมายของ Anti-aging คือ การป้องกัน รักษา และให้ค้นหาจุดอ่อนของคนแต่ละคน เพื่อให้อายุยืนถึง 120 ปี พร้อมกับสุขภาพที่เป็นเลิศ ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน แล้วอะไรคือหัวใจของการอายุยืน ค้นคำตอบได้นับจากนี้...
**อะไรที่ทำให้เราแก่
นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย(TCELS) ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ไม่กี่ล้านคน แต่อีกไม่นานเกิน 5-10 ปี ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นมหาศาล เนื่องจากคนในยุคเบบี้ บูมเมอร์ ซึ่งมีอายุระหว่าง 51-61 ปี จ่อรอเข้าแถวอีกหลายล้าน และจำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นประชาชนคนแก่ที่เคยทำงานหนัก ใช้ร่างกายเปลืองมาตั้งแต่สมัยหนุ่มสาว
“หากพูดถึงการใช้ศาสตร์ Anti-aging นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนแก่ แต่เป็นเรื่องของคนหนุ่มสาว คนที่เตรียมตัวจะแก่ เพราะหากเริ่มต้นได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งได้กำไรให้ชีวิตมากเท่านั้น ซึ่งต่อไปเราก็จะกลายเป็นคนแก่ที่มีคุณภาพ อายุยืนอย่างไร้โรค และมีความสุข”
นพ.กฤษดา ศิรามพุช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ อธิบายเสริมว่า สาเหตุที่ทำให้คนเราแก่ คือ อวิชชา อันได้แก่ การนอนดึก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งสัญญาณของความเสื่อมถอยของร่างกาย เริ่มจากเหนื่อยเพลีย หลับไม่สนิท คิดช้า นอนมากแต่เหมือนไม่ได้นอน กินน้อยแต่อ้วน ขี้ลืม เริ่มเห็นริ้วรอย ผิวหน้าเริ่มหยาบ รูขุมขนเริ่มใหญ่ ผิวพรรณไม่เปล่งปลั่ง หากมีอาการเหล่านี้แม้แต่เพียงข้อเดียว แสดงว่ากำลังเข้าสู่วัยชราแล้ว
“ความแก่แบ่งเป็น 3 ประเภท 1. แก่ก่อนอายุตัวเลข หรือหน้าแก่ 2.แก่ตามอายุ คือ สมวัย และ 3.แก่น้อยกว่าตัวเลข หรือที่เรียกกันว่าหน้าเด็ก ซึ่งคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคุณผู้หญิงมักมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับความแก่ และคำว่า สุขภาพดีอยู่ เพราะส่วนใหญ่คิดว่าเพียงการไม่มีโรคนั้นก็แสดงว่าเราแข็งแรงแล้ว ซึ่งไม่จริง เนื่องจากการตรวจสุขภาพประจำปีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องตรวจระดับยีนด้วย เพื่อที่จะได้รู้ว่าร่างกายเราขาดวิตามินตัวใด ฮอร์โมนตัวใดน้อย และอะไรที่ต้องเพิ่ม เสมือนว่าเป็นการปรุงยาเฉพาะของแต่ละคนจึงจะได้ผล” นพ.กฤษดา ขยายความ
**3H หัวใจของการมีอายุยืน
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ ยังบอกต่อไปอีกว่า นอกจากการทำความเข้าใจกับคำว่าสุขภาพดีเสียใหม่แล้ว คนรุ่นใหม่ยังต้องรู้ถึงหัวใจสำคัญของการมีอายุยืน ซึ่งประกอบด้วย 3H คือ Healthy weight, Healthy diet and lifestyle และ Healthy mind
- Healthy weight หรือ การจำกัดแคลอรี และคุมน้ำหนักตัว ซึ่งจะต้องควบคุมอาหารได้ร้อยละ 40 ต่อ 1 วัน หรือ 1 ใน 3 หลักเดียวกับการฉันอาหารของพระสงฆ์ เพราะความอ้วน หรือไขมันในเลือดที่มากเกินไปนั้น จะนำโรคต่างๆ มาให้ ยังผลให้อายุสั้นตามมา
- Healthy diet and lifestyle หรือ การกินอาหารสุขภาพและการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม อย่างที่ทราบว่า อนุมูลอิสระเป็นตัวกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้คนเราแก่เร็วขึ้น แม้การหายใจเข้า-ออก ก็นำสารอนุมูลอิสระเข้าสู่ร่างกายมากมายหลายล้านเซลล์แล้ว ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แครอท มะเขือเทศ ฟักทอง ฯลฯ ซึ่งอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยวิตามิน เอ ซี อี ที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้วิตามินทั้ง 3 ทำงานเป็นทีมในระดับเซลล์
อาหารประเภทเส้นใย เช่น กระเจี๊ยบ กล้วยหอม กล้วยไข่ ยอดมะรุม ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ อีกทั้งกรดไขมันต้านชรา Omega 3
“ฝรั่งมักคิดว่า อาหารต้านอนุมูลอิสระมักจะมีที่มาจากแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว อาหารเอเชีย และอาหารไทยนั่นเอง ที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ไม่แพ้กัน หากสังเกตแล้ว อาหารไทยจะมีการจับคู่วิตามินอย่างดี เช่น เมี่ยงคำ : ใบชะพลูกับมะพร้าวคั่วที่ไขมันจากมะพร้าวจะไปละลายวิตามิน ทำให้ร่างกายนำไปใช้ได้ทันที, น้ำพริกอ่อม: น้ำเงี้ยว มีโปรวิตามินเอจากมะเขือเทศ เป็นต้น”
“การรับประทานอาหารเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว ในอนาคตที่จะมาถึงกระแสของการใช้อาหารเป็นยา และใช้ยาเป็นอาหารกำลังมาแรงมาก ดังนั้น หากปรับพฤติกรรมการกินในวันนี้ได้ โดยกินผักหลากสีให้ได้ 5 กำมือ และผลไม้ 3 กำมือต่อหนึ่งวัน จะเป็นต้นทุนชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า”
ส่วนเรื่องไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่นอนดึก ตื่นสายนั้น เสี่ยงต่อการแก่ก่อนวัย และอายุสั้นมากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth hormone) ซึ่งจำเป็นต่อร่ายกายจะไม่สร้างหลังเที่ยงคืนจึงทำให้คนที่นอนดึกรู้สึกเพลียแม้ว่าจะนอนชดเชยแล้วก็ตาม ฉะนั้นหากยังดำเนินชีวิตเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ นานเข้าฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะไม่สร้างหรือสร้างน้อยลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้นระดับฮอร์โมนลดลง จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์
- Healthy mind การออกกำลังใจ คือ การไม่เครียด ซึ่งความเครียดสมองจะหลั่งสารทุกข์หรืออะดรีนาลินทีทำให้หัวใจเต้นเร็ว หน้าแดง เหนื่อยหอบ อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระที่ทำให้ผมร่วง หรือผมขาวชั่วข้ามคืนอีกด้วย
“การออกกำลังใจทำได้อย่างไรบ้าง เราลองทำอะไรที่ไม่ถนัด เช่น ลองเขียนหนังสือหรือหวีผมด้วยมือที่ไม่ถนัด เปลี่ยนไปแสกผมข้างที่ไม่เคยทำมาก่อนการทำเช่นนี้เรียกว่า Neurobics การออกกำลังระบบประสาทนั่นเอง”
แต่วิธีที่ดีที่สุดในการออกกำลังใจนั้น นพ.กฤษดา บอกว่า เป็นการฝึกสมาธิ และเจริญเมตตา การฝึกสมาธิจะทำให้สมองหลั่งสารความสุข (Endorphin) ออกมา นอกจากจะทำให้จิตใจสงบแล้ว ยังพบว่าการฝึกสมาธิทำให้อายุน้อยกว่าตัวเลขลงอีก 5 ปี มีการคาดการณ์ว่าในอนาคต ราวๆ ปี ค.ศ.2050 สาเหตุการเสียชีวิตของมนุษย์จะเปลี่ยนไปเป็น ฆ่าตัวตาย, ฆาตกรรม และอุบัติเหตุ ซึ่งจะเห็นว่าสาเหตุหลักจะมาจากภาวะจิตใจที่เสื่อมทรามลงของมนุษย์
ดังนั้นนอกจากจะดูแลร่างกายจนอายุยืนและสุขภาพดีแล้ว อย่าลืมดูแลจิตใจบ้าง เริ่มจากการคิดในแง่บวก มองโลกในแง่ดี ซึ่งจะเป็นการสร้างความสุขให้ตัวเองและผู้อื่น เพียงเท่านี้ก็จะมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขอย่างแท้จริง