กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้คนไทยหันมารับประทานผัก-ผลไม้สดให้มากขึ้น ชี้ประโยชน์เพียบ โดยผลวิจัยล่าสุดพบมีผลไม้ 30 ชนิด ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินอี และเบตาแคโรทีน ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ทำลายอนุมูลอิสสระ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญก่อโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคตาต้อกระจกในผู้สูงอายุ
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าในขณะนี้คนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่เกิดมาจากพฤติกรรมการกินการอยู่มากขึ้น มีข้อมูลการวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศบ่งชี้ว่า ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับสารที่เรียกว่า อนุมูลอิสระ โดยอนุมูลอิสระดังกล่าวสามารถทำปฏิกิริยาโยงใยในร่างกายได้มากมาย ก่อให้เกิดการอักเสบ การทำลายเนื้อเยื่อ เกิดต้อกระจกในผู้สูงอายุ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะโรคมะเร็ง และโรคหัวใจนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก
ทั้งนี้ คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว จากปี 2540 เสียชีวิต 26,237 คน เป็น 52,062 คน ในปี 2549 เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 ราย เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละ 34,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 4 ราย โดยอนุมูลอิสระนี้ มาจากภายนอกและภายในร่างกาย ได้แก่มลพิษในอากาศ จากควันบุหรี่ แสงแดด รังสีแกมมา คลื่นความร้อน ส่วนที่มาจากภายในร่างกายเกิดจากกระบวนการเผาผลาญของอ็อกซิเจนภายในเซลล์ หรือเกิดจากย่อยทำลายเชื้อแบคทีเรียของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ก็ทำให้เกิดอนุมูลอิสระได้
นพ.ปราชญ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยดังกล่าวพบว่ามีสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่วิตามินอี วิตามินซีและเบต้าแคโรทีน สารทั้ง 3 ตัวนี้ สามารถกำจัดอนุมูลอิสระได้ โดยวิตามินซี ซึ่งละลายน้ำได้จะทำหน้าที่จับอนุมูลอิสระในเซลล์ที่เป็นของเหลว ป้องกันการถูกอนุมูลอิสระทำลาย ส่วนวิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน จะช่วยยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้ วิตามินเอ ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันที่อยู่ในรูปของเบตาแคโรทีน หรือแคโรทีนอยด์ ซึ่งมีในอาหารธรรมชาติประมาณ 600 กว่าชนิด ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ป้องกันเนื้องอก และมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพด้านอื่นๆ ได้แก่ ลดความเสี่ยงเกี่ยวกับการเสื่อมของตาเนื่องจากสูงอายุ และต้อกระจก รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิด และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างดี
ทั้งนี้สารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ มีมากในผักผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะที่มีสีเขียว แดง แสด และเหลือง เช่น ผักใบสีเขียวเข้ม ได้แก่ ผักขม ผักคะน้า ผักตำลึง ผักบุ้ง ผักผลไม้ที่มีสีเหลือง เช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ มะม่วงสุก มะละกอสุก เป็นต้น วิตามินอี เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำมัน และมีมากในน้ำมันพืชทั่วไป เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย เป็นต้น ในผักและผลไม้มีวิตามินอีค่อนข้างน้อย ส่วนวิตามินซีมีมากในผักและผลไม้สดทั่วไป
ด้านนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ทำการศึกษาแหล่งอาหารไทยที่มีสารต้านอนุมูลอิสระทั้ง 3 ตัวนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลส่งเสริมให้ประชาชนทั่วประเทศได้บริโภคสารสำคัญนี้อย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยศึกษาผลไม้ที่มีบริโภคในประเทศไทย 83 ชนิด ในปริมาณส่วนที่รับประทาน 100 กรัม ผลพบว่า
ผลไม้ที่พบสารเบตาแคโรทีนมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สุก มี 873 ไมโครกรัม รองลงมาได้แก่ มะเขือเทศราชินีมี 639 ไมโครกรัม มะละกอสุกมี 532 ไมโครกรัม แคนตาลูปเหลืองมี 217 ไมโครกรัม มะปรางหวาน มี 230 ไมโครกรัม มะยงชิด มี 207 ไมโครกรัม สัปปะรดภูเก็ต มี 150 ไมโครกรัม แตงโม มี 122 ไมโครกรัม ส้มสายน้ำผึ้งมี 101 ไมโครกรัม และลูกพลับมี 93 ไมโครกรัม
ผลไม้ที่มีวิตามินอีสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ขนุนหนัง มี 2.38 มิลลิกรัม มะขามเทศ มี 2.29 มิลลิกรัม มะม่วงเขียวเสวยดิบ มี 1.52 มิลลิกรัม มะเขือเทศราชินี มี 1.34 มิลลิกรัม มะม่วงเขียวเสวยสุก มี 1.23 มิลลิกรัม มะม่วงน้ำดอกไม้สุก มี 1.1 มิลลิกรัม มะม่วงยายกล่ำสุก มี 0.97 มิลลิกรัม กล้วยไข่ มี 0.47 มิลลิกรัม แก้วมังกรเนื้อสีชมพู มี 0.59 มิลลิกรัม และสตรอเบอรี มี 0.54 มิลลิกรัม
ส่วนผลไม้ที่มีวิตามินซีมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ ฝรั่งกลมสาลี่ มี 187 มิลลิกรัม ฝรั่งไร้เมล็ดมี 151 มิลลิกรัม มะขามป้อม มี 111 มิลลิกรัม มะขามเทศ มี 97 มิลลิกรัม เงาะโรงเรียน มี 76 มิลลิกรัม ลูกพลับ มี 73 มิลลิกรัม สตรอเบอรี มี 66 มิลลิกรัม มะละกอแขกดำสุก มี 55 มิลลิกรัม พุทราแอปเปิล มี 47 มิลลิกรัม และส้มโอขาวแตงกวา มี 48 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ในกลุ่มของกล้วยต่างๆ 24 สายพันธุ์ มีทั้งเนื้อสีขาว สีเหลือง สีเหลืองอมแสด จากการศึกษา พบว่า กล้วยไข่พม่ามีสารเบตาแคโรทีนสูงสุด คือ 528 ไมโครกรัม รองลงมาคือกล้วยงาช้างมี 520 ไมโครกรัม กล้วยไข่โนนสูงมี 397 ไมโครกรัม กล้วยนางพญามี 393 ไมโครกรัม กล้วยไข่มี 271 ไมโครกรัม และกล้วยหักมุกนวลมี 270 ไมโครกรัม
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยปกติเราจะได้รับสารอาหารทั้ง 3 ชนิดจากการรับประทานอาหารโดยทั่วไปน้อย เพราะถูกทำลายได้ง่ายจากความร้อน จึงต้องเพิ่มการรับประทานผลไม้และผักสดด้วย โดยแนะนำให้รับประทานอาหารให้หลากหลายชนิดและให้ได้สัดส่วนตามธงโภชนาการ โดยใน 1 วันคนเราควรบริโภคผลไม้ให้ได้ วันละ 4 ส่วน โดย 1 ส่วนของผลไม้ หากเป็นผลไม้ขนาดเล็ก เช่น องุ่น ลิ้นจี่ ลำไย เท่ากับ 6-8 ผล, ผลไม้ขนาดกลาง เช่น ส้ม ชมพู่ กล้วยน้อยหน่า เท่ากับ 1-2 ผล ส่วนผลไม้ขนาดใหญ่เช่น แตงโม สับปะรด มะละกอ จะเท่ากับ 6-8 ชิ้นพอคำ
อย่างไรก็ดี ในกลุ่มที่ต้องคุมปริมาณน้ำตาล โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานอาจต้องเลือกผลไม้ที่รสไม่หวาน ในอเมริกาได้แนะนำให้ผู้ชายบริโภคแคโรทีนอยด์วันละ 6 มิลลิกรัม ในคนไทยแนะนำให้บริโภค วิตามินอีวันละ 6-15 มิลลิกรัม และวิตามินซีวันละ 40-90 มิลลิกรัม