“วิจิตร” ชี้ สพฐ.ศึกษาบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาฟรี 12 ปีตามรัฐธรรมนูญใหม่ ขอคำตอบโรงเรียนจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเหมือนในปัจจุบันได้หรือไม่ เผยยังค้าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีทางการศึกษาแห่งชาติ และ กฎหมายรองรับวิทยาลัยชุมชน ให้รัฐบาลหน้าสานต่อ
นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดแนวทางการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ตนได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปศึกษาว่า ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญระบุให้บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น จำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ เพราะมีโรงเรียนบางแห่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครอง จึงให้ สพฐ.ไปศึกษาดูว่าสามารถปฏิบัติเช่นนี้ต่อไปได้หรือไม่
ขณะเดียวกัน ให้ศึกษาคำตีความของคณะกฤษฎีกาที่เคยตีความว่าโรงเรียนสามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ปกครองได้ในกรณีที่เป็นการจัดกิจกรรมพิเศษนอกเหนือจากหลักสูตร แต่ถ้าเป็นการจัการศึกษาตามปกติไม่สามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมนั้น ยังนำคำตีความดังกล่าวมาใช้กับรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่
ถ้าวินิจฉัยว่า โรงเรียนไม่สามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ปกครองได้อีกต่อไป ก็ให้ สพฐ.คำนวณมาว่า รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่โรงเรียนเป็นวงเงินเท่าไหร่ มีเรื่องใดบ้าง
นายวิจิตร กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้วิเคราะห์ร่วมกันด้วยว่า ศธ.ได้ดำเนินการออกกฎหมายต่างหรือปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ครบถ้วนแล้วหรือไม่ เพราะมาตรา 303 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลจัดทำและปรับปรุงกฎหมายในเรื่องดังต่อไปนี้ให้เสร็จภายใน 1 ปีนับจากวันแถลงรัฐบาล ได้แก่ การออกกฎหมายกำหนดรายละเอียดเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้, จัดทำกฎหมายเพื่อการพัฒนาการศึกษาของชาติ โดยส่งเสริมการศึกษาในระบบ การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย การเรียนรู้ด้วยตัวเอง การเรียนรู้ตลอดชีวิต วิทยาลัยชุมชน หรือรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับระบบการศึกษาทุกระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โดยที่ประชุมลงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายการศึกษาที่รัฐบาลนี้ออกมา 17 ฉบับนั้น ครอบคลุมทุกบทบัญญัติด้านการศึกษาในรัฐธรรมนูญแล้ว เหลือเพียงกฎหมายอีก 2 ฉบับเท่านั้น คือ พ.ร.บ.สถานบันเทคโนโลยีทางการศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายรองรับวิทยาลัยชุมชนที่รัฐบาลหน้าต้องเร่งผลักดันต่อไป