xs
xsm
sm
md
lg

ลด-ป้องกัน การใช้สารเคมี เสียงเล็กๆ จาก “เยาวชน” ถึง “เกษตรกรไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เกษตรกรรม” คือ อาชีพที่อยู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน จากอดีตสู่ปัจจุบันการทำเกษตรกรรมได้มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้มีการเน้นในส่วนของผลผลิตมากขึ้น ทำให้เกษตรกรพยายามที่จะสรรหาวิธีการได้มาซึ่งผลผลิตที่ได้คุณภาพปราศจากโรคที่เกิดขึ้นกับพืชผล ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้สารเคมี กำจัดศัตรูพืชต่างๆ จึงเข้ามามีอิทธิพลต่อการเกษตรกรรมอย่างสูง

ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ มีการใช้สารเคมีอย่างขาดความระมัดระวังจนเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เช่น ศัตรูพืชเพิ่มความต้านทานต่อสารเคมี สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม และที่สำคัญ เกิดอันตรายต่อผู้ใช้นั่นคือตัวของเกษตรกรเองด้วยเหตุนี้กลุ่มพันธมิตรในธุรกิจยาสูบ และผู้เกี่ยวข้องจากภาคเอกชนจึงมีการจัดตั้งโครงการ “เกษตรกรปลอดภัย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม” เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้บริโภค เกษตรกร ตระหนักถึงผลกระทบของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยโครงการนี้มุ่งไปสู่กลุ่มเยาวชนที่จะเป็นตัวกลางในการสร้างความเข้าใจกับเรื่องดังกล่าว

**เน้นเยาวชนเป็นสื่อกลาง
สำหรับที่มาที่ไปของโครงการนั้น พิกุล ชมดวง ผู้ประสานงานพิเศษฝ่ายส่งเสริมการเกษตรภาคพื้นเอเชีย และผู้ประสานงานโครงการ อธิบายว่า เนื่องจากต้องทำงานร่วมกับเกษตรกร ชาวไร่ในพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน มากว่า 30 ปี จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการเกษตรมาโดยตลอด และในปัจจุบันเกษตรกรมีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น ซึ่งการใช้แต่ละครั้งก็ไม่เคยระมัดระวังตัวเองจากสารเคมีที่ใช้ ทั้งเรื่องของการป้องกันตัวเองโดยใช้สิ่งป้องกัน เช่นถุงมือ เสื้อคลุม หน้ากากป้องกัน ผ้าปิดปากปิดจมูก หมวก รองเท้าบูต เป็นต้น

ที่ผ่านมา มีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงอันตรายแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ และไม่มีใครปฏิบัติตาม อ้างว่าทำมานานแล้วไม่เห็นจะมีอันตรายเกิดขึ้นแต่อย่างใดที่สุดแล้วจึงเกิดแนวคิดที่ให้เด็กซึ่งเป็นลูก หลานของเกษตรกรนั้นเป็นสื่อกลางในการบอกผ่านข้อมูล อีกทั้งคอยเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญ และเห็นถึงอนาคตของเยาวชนหากไม่มีการป้องกันการใช้สารเคมีดังกล่าว

สำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการนั้น พิกุล อธิบายต่อว่า กิจกรรมจะให้ความสำคัญต่อครู และนักเรียนให้ดำเนินการร่วมกัน ซึ่งเริ่มด้วยขั้นการฝึกปฏิบัติ โดยการให้เด็กๆ ทำการสำรวจก่อนว่าที่บ้านผู้ปกครองใช้สารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ชนิดใด โดยการให้เด็กไปสัมภาษณ์คนในครอบครัว และใช้แบบฟอร์มที่เข้าใจง่าย
จากนั้นเด็กจะรู้จักว่าชื่อสามัญ ชื่อตลาดของสารเคมีนั้นๆ เรียกว่าอะไร วิธีใช้อย่างไร ใช้ปริมาณเท่าไรสำหรับการใช้ต่อครั้ง เมื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้วให้เด็กเก็บข้อมูลไว้เมื่อไปโรงเรียนก็จะนำข้อมูลที่ได้มานำเสนอ จากนั้นครูผู้สอนจึงทำการให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลสารเคมีที่นักเรียนได้สำรวจมา

ต่อไปเป็นขั้นสำรวจเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยให้เด็กๆ ลงพื้นที่ทำการสำรวจในพื้นที่ทำการเกษตรจริง เพื่อเก็บตัวอย่างของแมลงที่จะมีทั้งแมลงที่เป็นศัตรูพืช เช่น เพลี้ยชนิดต่างๆ หนอนชอนใบ หนอนม้วนใบ ตั๊กแตน เป็นต้น และแมลงที่มีประโยชน์ต่อพืช เช่น ผึ้ง เมื่อเก็บตัวอย่างได้จากนั้นจะทำการวิเคราะห์การป้องกันศัตรูพืชเหล่านี้ วิธีการใช้สารเคมีในการกำจัดที่ถูกต้อง ตลอดจนสาธิตวิธีการเตรียมตัวก่อนออกฉีดพ่น การแต่งกายที่ถูกวิธี การฉีดพ่นยาที่ถูกวิธี เพื่อให้เด็กทราบถึงแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง และสามารถนำไปเผยแพร่ต่อคนในครอบครัว คนในชุมชน

“ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่มีความรู้สึกที่ดีขึ้นหลังจากที่ลูกๆ ของเขาได้มาเข้าร่วมโครงการ หลายรายเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของลูก หลานจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้สารเคมี มีการรู้จักป้องกันตัวเองจากสารเคมีมากขึ้น รู้จักดูแลตัวเอง และลดปริมาณการใช้สารเคมีเพื่อสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”พิกุล ทิ้งท้าย

**รู้จักป้องกัน เพื่ออนาคตเยาวชน
ในส่วนของทูตเกษตรกรตัวน้อยนั้น “น้องแป้ง” ประภาพร ปั๋นแก้ว อายุ 9 ขวบ เล่าว่า สนุกและได้รับความรู้จากการเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะได้สัมผัสกับแมลงที่เป็นศัตรูพืชไร่จริงๆ และได้รู้ถึงวิธีการที่จะกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อที่จะได้ไปบอกแก่พ่อแม่ให้ระวังการใช้สารเคมี เพราะหากพ่อแม่ใช้สารเคมีอย่างถูกวิธีแล้วนั้นโรคต่างๆ ที่เกิดจากสารพิษก็จะไม่เกิดขึ้น และเพื่อที่พ่อแม่จะได้อยู่กับตนนานๆ

เช่นเดียวกับ “น้องบี” บี นะโว อายุ 13 ปี ที่บอกว่า พ่อแม่รับจ้างทำสวนลำไย และไร่ยาสูบ ซึ่งตนก็ไม่เคยสนใจในการทำเกษตรกรรมของผู้ปกครอง แต่เมื่อได้รับความรู้ในเรื่องของสารเคมีจากครู และจากการเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ตนเห็นความสำคัญในส่วนที่จะเตือนให้ผู้ปกครองใช้สารเคมีอย่างระวัง ใช้อย่างถูกวิธี
“จริงๆ แล้วสารเคมีใช้อย่างถูกวิธีก็จะเกิดประโยชน์ ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช แต่ถ้าใช้ผิดวิธี ไม่มีการป้องกันตัวเอง แทนที่แมลงจะตาย แต่กลับกลายเปลี่ยนมาเป็นตัวของผู้ใช้นั่นเองที่จะโดนกำจัด”น้องบี ฝากความเห็นทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น