"คนที่ไม่ใช่แฟน ทำแทนทุกเรื่องไม่ได้ หน้าที่ตามฐานะใจ ห้ามเดินก้าวล้ำเส้นแฟน...ภาระในเขตอ้อมแขน ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้..."
ท่อนหนึ่งของเพลง "ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้" ที่ขับร้องโดยนักร้องหญิง "ตั๊กแตน ชลดา" ดังลอดผ่านลำโพงออกมาให้เจ้าของวิทยุได้ฮัมตาม
นอกจากกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นกับเพลงนี้แล้ว "ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้" ยังฉายให้เห็นภาพที่เด่นชัดถึงการเปลี่ยนแปลงของเพลงลูกทุ่ง(ไทย)ที่เป็นไปไปตามวันและเวลา
...
จากจุดเริ่มต้นด้วยความงามของท้องถิ่นชนบท ที่อธิบายให้เห็นได้อย่างชัดเจนในเพลง "มนต์รักลูกทุ่ง" ของ "ไพรวัลย์ ลูกเพชร" ผลงานการแต่งทั้งคำร้องและทำนองโดย "ไพบูลย์ บุตรขัน" ใช้เวลาที่ไม่นานมากนัก เหล่าคนหนุ่มคนสาวอย่างไอ้คล้าวกับอีทองกวาว ก็พากันทิ้งเคียวเกี่ยวข้าว บอกลากลิ่นโคลนสาบควายเข้ามาแสวงหาอนาคตในเมืองหลวง
แม้หลายคนถูกไอ้หนุ่มเมืองกรุงหลอก แม้หลายคนจะกลับไปตามเสียงเพลง "สมศรี 1992" ของ "ยิ่งยง ยอดบัวงาม" แต่ด้วยแสงสีอันยั่วยวนนั่นเองที่ทำให้สาวบ้านนา หนุ่มบ้านไร่อีกมากยินดีที่จะก้มหน้าก้มตาหาเงินต่อไปในเมืองกรุง กระทั่งก่อให้เกิดยุคเพลงลูกทุ่ง(เนื้อหาเกี่ยวกับ)คาเฟ่เฟื่องฟู แต่ถึงแม้ตัวจะหลงอยู่ในมหานครใหญ่ ทว่าหลายครั้งหัวใจของพวกเขาก็กระหวัดให้นึกถึงชีวิตและคนที่อยู่กลางทุ่ง สวน นา ไร่ และโชคดีที่ความรู้สึกที่ว่านี้มีสื่ออย่างเจ้าโทรศัพท์(มือถือ)ช่วยบรรเทา ฯลฯ
เหล่านี้มิใช่นัยที่แสดงถึงเนื้อหาของเพลง(ที่ถูกเหมารวมว่าเป็น)ลูกทุ่งเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป หากแต่รูปแบบของสังคมที่แปลงเปลี่ยนยังทำให้สำนวนภาษาที่ใช้ วิธีคิดในการเขียนเพลงเปลี่ยนไปด้วย
...
แรงบันดาลใจ
"ไม่รู้นะ ผมว่ามันโดนน่ะ แล้วอีกอย่างเลยคือต้องถามว่าคิดได้อย่างไรอ่ะ" เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งพูดถึงเพลงไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ ซึ่งแม้เขาจะไม่รู้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงของสาว "ตั๊กแตน ชลดา" แต่ด้วยความที่ฟังบ่อยๆ เขาจึงฮัมเพลงนี้ได้อย่างไม่มีติดขัดในท่อนฮุค
"ก็ชอบนะพี่ ฟังได้ ผมว่ามันเป็นลูกทุ่งที่ทันสมัยดี แต่ถ้าจะให้วัยรุ่นกลับมาฟังเลยเนี่ย มันคงเป็นไปได้ยากนะ แต่ว่าจะไม่ฟังเลยมั้ยก็ไม่ถึงขนาดนั้น อย่างเพลงของพวกเดวิด อีนธี ฝากแฟนผมด้วย หรือจะเป็นเพลงของวิด ไฮเปอร์ พวกนี้ผมก็ว่ามันอะไรพวกนี้ผมก็ว่ามันกึ่งๆ ลูกทุ่งเหมือนกันนะ ก็ฟังได้"
ท่อนหนึ่งของเพลง "เพลงสายลมเหนือ" ที่แต่งเนื้อโดย "ครูไสล ไกรเลิศ" ในปี พ.ศ.2494 นั้นเกิดขึ้นมาจากแรงบันดาลใจของครูที่มีต่อภรรยาที่ชื่อ "ละมัย" และนั่นเองที่ทำให้เพลงๆ นี้มีชื่อดังกล่าวฝังเข้าไปอย่างแนบยลในท่อนที่ว่า...“...ลมพัดมามณฑาเจ้าหอมยังไม่สิ้น หอมเอยเพียงกลิ่น นวลเนื้อ ละมัย คนรักกันมาพลันห่างเหินเมินไปได้ ไม่เหลือเยื่อใยโอ้ใจเจ้าเอ๋ย...”
ทว่าเพลงสุดฮิตในปี พ.ศ.2550 -2551 อย่าง "ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ของ ครูสลา คุณวุฒิ นั้น ใครจะรู้บ้างว่าจุดเริ่มต้นของมันนั้นเป็นเพียงเพลงๆ หนึ่งที่ถูกเติมเข้าไปเพื่อให้อัลบั้มของนักร้องสาวตั๊กแตนเต็มเท่านั้น
"ก็เกินคาดยอมรับว่าเป็นเพลงที่ลงตัวอีกเพลงหนึ่งตั้งแต่ที่ทำงานมา คือยอมรับว่าพูดตอนที่สำเร็จแล้วมันเหมือนโม้เหมือนกันคือตอนที่ทำไม่คิดว่ามันจะโดนขนาดนี้ เพราะว่าเป็นเพลงเติมจริงๆ"
"ยังจำได้วั้นนั้นว่าให้อาจารย์บอยเป็นคนทำดนตรี ไม่ให้กลับบ้านเลย นอนรอที่ห้องอัด แล้วผมก็ทำหน้าที่เขียน เขียนกันหน้าห้องอัดพอเขียนเนื้อเสร็จก็มาใส่ดนตรีด้วยกัน อาจารย์เขาก็เลยช่วยในเรื่องของเมโลดี้บ้าง แต่งทำนองร่วมกัน คือช่วยกันแต่ง แต่เผอิญเป็นเพลงที่ลงตัวได้รวดเร็วเพลงหนึ่งเท่าที่ทำงานมานะ"
"มันไม่น่าจะเกินประมาณชั่วโมงครึ่งนะ คือเพลงบางทีท่ามันได้มันจะเร็วมากครับเวลามันลงตัวมันจะเร็วมาก"
ครูเพลงชื่อดังในยุคปัจจุบันเผยว่าปกติการแต่งเพลงของตนจะเน้นที่แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน สดๆ แล้วก็จะเขยนทันที แต่สำหรับเพลงนี้เจ้าตัวยอกว่าเป็นเรื่องบันดาลใจที่ต่อเนื่องก็คงจะไม่ผิดมากนัก โดยวิธีการเขียนนั้นก็นำเอาการเขียนเรื่องสั้นที่ตนเองเรียนอยู่มาใช้
"คือเพลงนี้เป็นเพลงแรกที่ไม่ถึงกับได้แรงบันดาลใจสด ปกติแล้วส่วนใหญ่จะได้แรงบันดาลใจสดๆ ออกมาแล้วก็เขียน เพลงนี้เหมือนว่าพฤติกรรมในตัวเพลงสะสมแต่ว่าตอนที่เขียน เหมือนเราคิดเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง คือเขียนเพลงนี้ต่อเนื่องจากสมมุติว่าตัวละครขึ้นมาชุดที่แล้วซึ่งเขียนให้น้องตั๊กแตนไป แต่ตอนนั้นเขียนเพลงเคียงข้างไม่ห่างตา พูดถึงผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งแอบรัก แต่ว่าไม่มีสิทธิ์เข้าใกล้คนที่เราแอบรักได้เลย เพลงนี้ขึ้นต้นว่ายามถ่ายภาพหมู่ไกล้ชิดอยู่เคียงข้าง..."
"ทีนี้พอมาเขียนชุดนี้ก็เลยเอาตัวละครตัวเดียวกันต่อจากเรื่องนั้นล่ะ สมมติว่าเป็นผู้หญิงที่อยู่ในออฟฟิศเดียวกันแอบรักผู้ชายคนหนึ่งแต่ว่าไม่มีสิทธิ์แล้วล่ะ เพราะเขามีคู่หมาย เพียงแต่ว่าเขาคนนั้นก็มักจะแวะเวียนมาหาเราในยามที่เขาเหงา เขาน้อยใจกัน เขาทะเลาะกันก็แวะมาเรา บางทีก็เหมือนอยากให้เราเทกแคร์ บางทีเมาๆ มึนๆ หน่อยก็ทำท่าจะล่วงเกินเราด้วยซ้ำ บางครั้งก็เลยจำเป็นต้องพูดคำนี้ออกมาว่า ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ อันนี้เป็นวิธีคิด"
"พอดีก่อนเขียนเพลงพี่เคยฝึกเขียนเรื่องสั้นมาก่อนก็เลยเอาวิธีการมาลองดู"
บุคลิคของนักร้องแต่ละคนเป็นสิ่งที่ทำให้เราแต่งเพลงแต่ละเพลงรึเปล่า?
"ถ้าเป็นเรื่องเดียวกันพล็อตเรื่องเดียวกันถ้าแต่งให้ต่าย(อรทัย)ก็คงไม่ใช่ คงไม่ใช้ถ้อยคำแบบนี้อาจจะนุ่มนวลแล้วก็บ้านๆ กว่ากระแตเนี่ยด้วยเสียงและบุคลิคเพลงที่เราวางตั้งแต่ต้นเป็นสาวออฟฟิศประมาณผู้แทนสาวออฟฟิศ แต่สู้เหมือนกันเล่นอยู่หน้าคอมได้ก็เลยอาสา ซึ่งจะต่างจากต่ายเป็นบ้านๆ ซื่อๆ บุคคลิกเขาด้วยตามตัวนักร้อง กระแตเขาเป็นคนตรงไปตรงมาเขาเป็นคนตรงๆ ถึงลูกถึงคน"
อีกหนึ่งเพลงลูกทุ่งที่ฮิตระเบิดในตอนนี้ นอกจาก ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้แล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นเพลงอย่าง "ขอนไม้กับเรือ" ของ "บ่าววี" ที่เขียนเนื้อร้องขึ้นมาโดย "เชิงศร นครเจริญ" นั่นเอง
"แรงบันดาลใจก็คือ ก็เห็นภาพนะครับก็คิดขึ้นมาเอง เราเลยคิดซิมโบลิคอะไรซักอย่างที่คนสองคน หนึ่งคนที่ต่ำต้อย กับคนที่มีอนาคตมากกว่า แล้วก็ลองมาเราเห็นขอนไม้ที่พยุงได้ มันจะจมมันจะจมเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ เลยมันแล่นผ่านไป ขอนไม้มันก็กระเพื่อมๆ จะจมมิจมแหล่ เราก็เอาคอนเซ็ปต์ต้องนี้มาวางโครงแล้วก็แต่งเพลงนี้ขึ้นมา”
“พลอตเรื่องนี้ผมคิดและเก็บไว้ตั้งนานแล้ว เวลาอ่านหนังสือเจอ หรือคุยกับคน ผมก็จะมีบันทึกส่วนตัวของผมไว้ พออยากจะเขียนเรื่องนี้ก็หยิบเรื่องนี้ขึ้นมา คำว่าขอนไม้กับเรือผมคิดไว้ตั้งหลายปีแล้ว มีไม่ต่ำกว่า 5 ปี คือจริงๆด้วยความเข้ม ตัวเนื้อเสียงของบ่าววีเขาเหมาะกับการที่เขาจะพูดเรื่องอะไรพวกนี้อยู่แล้ว ออกจะปรัชญานิดๆ ด้วยซ้ำ"
"ก็รู้สึกว่ามันเหมาะก็เลยลองดู จริงๆ เขียนมาไม่ได้คิดว่าจะมาได้ถึงขนาดนี้ เราก็แต่งไปตามธรรมชาติของเรา เหมือนกับเพลงอื่นๆทุกๆเพลงแหละครับ"
จากสะบัดสำนวนที่ต้องมีสระ วรรณยุกต์ สอดคล้อยร้อยสัมผัส ในอดีต เป็นที่น่าสังเกตว่าลุกทุ่งยุคใหม่ มักจะใช้แนวทางของการเขียนเพลงป็อปของวัยรุ่นในรูปแบบท่อนฮุคและบวกกับประโยคที่โดนใจมากยิ่งขึ้น
“จริงๆโดยธรรมชาติของผมเองเนี่ย ผมเขียนเพลงป๊อบมาค่อนข้างเยอะ แล้วก็เพลงที่แต่งมาเราก็ไมได้จงใจอะไร แต่อยากลองของใหม่ๆ เอาวิธีเขียนใหม่ๆ มาใช้ คือถ้าเพลงนี้ถ้าเอาส่วนที่เป็นภาคใต้ออก มันก็คือเพลงป๊อบธรรมดาเพลงหนึ่ง คือจริงๆ ผมเนี่ยแต่งเพลงป๊อบมาตลอดเลย แล้วมาเริ่มไลน์ลูกทุ่งเพื่อชีวิตนิดๆ ก็เพลงนี้แหละ”
แม้จะมีความโน้มเอียงมาสู่ความป็นลูกทุ่งที่ทันสมัยมากขึ้น ทว่าครูเพลงอย่าง "สลา คุณวุฒติ" ก็บอกว่าคงเป็นเรื่องยากหากเพลงลูกทุ่งจะหันมาจับกลุ่มตลาดวัยรุ่นมากขึ้น
" ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะว่าส่วนใหญ่ที่คิดของทีมงานตัวผมแล้วก็แกรมมี่เนี่ยจะมองที่คอนเซ็ปต์ของอัลบั้มแล้วก็ให้ตรงกับบุคลลิคของศิลปินมากกว่า ไม่ได้บอกว่าชุดนี้ต้องเป็นแบบนี้ๆ คือสมมุติว่าอย่างต่ายชุดล่าสุดก็จะพูดในแง่ของคนที่มาจากดิน ก็จะพูดในแง่ของชีวิตความเป็นอยู่ ความรัก ความผิดหวัง แต่ตัวตนทั้งหมดอยู่กับคนที่มาจากดิน คือเรื่องราวไหนมันเหมาะกับอะไรค่อยไปว่ากันอีกที จะมีเสต็ปจะไม่ได้ออกแบบล่วงหน้าว่าต้องเป็นแบบนี้ "
"เนื้อหาจะอิงสตริงมากขึ้นมั้ย? ก็เป็นไปได้แต่คงไม่ได้หมดก็จะวนเวียนกัน คือเพลงมันเป็นของรสนิยมการแต่งเพลงการแต่งกายมันจะคล้ายๆ กันมันจะไม่ไปสุดสักพักมันก็จะกลับมา อย่างปีที่แล้วก็มีคนถามลักษณะอย่างนี้ว่าตอนนั้นหนาวแสงนีออนดังใช่ไหมครับ"
"คนก็บอกว่ายุคนี้ลูกทุ่งต้องเป็นแบบนี้ แล้วสักพักหนึ่งก็มีเพลงของครูไวพจน์กับทศพลโผล่มา วันละกั๊กวันละแบน ซึ่งเป็นไทยแท้เลย ก็เป็นซะอย่างนั้น ซักพักหนึ่งก็เป็นบ้านๆ แบบอีสานโผล่มาสักพักหนึ่งก็มีขอนไม้กับเรือ ก็เลยคิดว่าเรื่องของรสนิยมมันไม่มีอะไรตายตัวหรอกมันคงจะเคลื่อนไปแล้วก็อาจจะวกกลับมาที่เดิม
"ขาสั้น ขายาว ขาบาน ขาเดฟ คงจะเป็นลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ยอมรับว่าโดยคำพูด ภาษาและลีลาต้องขยับไปตามพื้นฐานของบุคคลซึ่งมีการศึกษาสูงขึ้น ต้องยอมรับว่าแฟนเพลงก็เคลื่อนตัวตลอดก็เขามีการศึกษามากขึ้นตรงนี้อาจจะมีผลส่งต่อบุคลิคของเพลงต่อไป"
ด้าน "เชิงศร" ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า...
"คือเพลงลูกทุ่งเปลี่ยนไปทุกอย่างนะ ทุกแง่มุมเลยด้วย ทั้งในตัวคนร้อง ดนตรี เนื้อหา รวมไปถึงคนฟังด้วย ผมว่าคนฟังก็ปรับตัวตามเพลงสมัยใหม่ได้มากขึ้น เพราะอย่างว่าเมือ่ก่อนลุกทุ่งก้จะท้องทุ่งจริงๆ เดี๋ยวนี้บ้านเมืองเราโอกาสในท้องทุ่งมันน้อยลงทุกวันๆ บางที่เราเป็นท้องทุ่งอยู่ แต่บางที่ก็กลายเป็นบ้าน เนื้อเรื่องเรื่องราวก้ทันสมัย เปลี่ยนไปตามเวลา เพลงก็เป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง"
...
ขณะที่ในทัศนะคติของคอลัมนิสต์ที่คลุกคลีอยู่กับเพลงลูกทุ่งมานาน "แคน สาริกา"มองถึงปรากฏการณ์ที่เลื่อนไหลของเพลงลูกทุ่งที่ยากจะหาจุดคาดเดาได้ว่ามาจากการที่พรมแดนเส้นแบ่งระหว่างลูกทุ่ง สตริง เพื่อชีวิต หรือแม้กระทั่งหมอลำนั้นมันค่อยๆ หายไปทีละนิดๆ นั่นเอง
"พรมแดนของเพลงมันไม่แบ่งชัดเหมือนแต่ก่อน ลูกทุ่งกับสตริง เพื่อชีวิตกับลูกทุ่ง เพลงสตริงกับเพื่อชีวิต มันไม่มีพรมแดน หมายถึงคนฟังมันไม่มีพรมแดนแล้ว โดยเฉพาะเพื่อชีวิตกับลูกทุ่งมันใกล้เคียงกันมานาน ฉะนั้นพอไม่มีพรมแดนถ้าเพลงไหนมันโดนใจขึ้นมามันก็กินตลาดมากกว่า"
"อย่างเพลง "ไม่ใช่แฟนทำแทนไมได้" ที่ฐานคนฟังเยะอเพราะว่ามันเป็นเพลงที่คาบเกี่ยวกับเพลงสตริงไง ถ้าเฉพาะลูกทุ่งมันก็อยู่ในเฉพาะลูกทุ่ง มันไม่ข้ามพรมแดนเข้ามา ซึ่งจริงๆ แล้วความสามารถการแต่งเพลงมันไม่มีสูตรไหนบอกได้ว่าแต่งเพลงนี้แล้วดังหรอก"
"ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคนฟังหมด คนฟังเป็นคนตัดสิน ไม่มีนักแต่งเพลงคนไหนหรอกที่เขียนเพลงนี้แล้วรู้ว่าจะดังสมัยนี้ก็เหมือนกัน อย่างเพลง "ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้" ผมเชื่อว่าทางทีมงานที่ทำเขาก็ไม่รู้หรอกว่าทำแล้วจะดัง"
เป็นความสำเร็จที่ไม่สามารถนำมาเป็นหลักสูตรได้?
"ใช่ แล้วแต่ ยืนยันได้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แล้วแต่คนฟังคือมีคนอย่างนี้เยอะ เอาเพลงสตริงมาทำแบบนี้น่ะแต่ไม่ใช่ประสบความสำเร็จทุกคนนะ แป้กไปเยอะ ถามว่ายุคนี้คนเพลงในแกรมมี่ อาร์เอสเนี่ยแน่นอนการแต่งเพลงยุคนี้ต่างจากการแต่งเพลงในยุคเก่าแน่นอน เทคนิคสไตล์ตลาดมากขึ้น แล้วบางทีไมได้ตั้งใจน่ะมันก็มาเฉยๆ น่ะ การแต่งเพลงแนวนี้มีมานานแล้ว จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ก็มีคนทำมาเยอะ ดี้ นิติพล ห่อนาคก็ยังเคยทำเลย เขียนแนวสตริงลูกทุ่ง แต่ไม่เกิด"
อย่างไรก็ตามหากองย้อนกลับไปถึงที่มาของบ่อเกิดแห่งคำจำกัดความคำว่า "เพลงลูกทุ่ง" ในอดีตจากการบอกเล่าของ "ครูสุรพล โทณะวณิก" มันคงจะไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่เราจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปของบริบท และเนื้อหาในบทเพลงเหล่านี้
"สมัยก่อนนี้คำว่าลูกทุ่งลูกกรุงไม่มีหรอก ลูกทุ่งส่วนมากจะเป็นทำนองไทยๆ และมีลูกเอื้อน ลุกกรุงก็ไม่มี และเขาเอาชื่อ "ลูกทุ่ง" นี้มาจากชื่อหนังนะ สมัยก่อนที่เป็นหนังไทยขาวดำเสียงในฟิล์มชื่อเรื่อง "ลูกทุ่ง" และคุณจำนงค์ รังสิกุลจับรายการเลยแบ่งแยกว่าคนที่ร้องเพลงแบบว่าชาวบ้านเนี่ยนะก็เป็นลูกทุ่ง คนที่ร้องเพลงเพราะๆ ก็เป็นลูกกรุงแบ่งด้วยการที่ใครที่ร้องเอื้อนๆ เป็นไทยๆ หน่อยใครที่ร้องแบบทำนองเรียบๆ ธรรมดาก็เป็นลูกกรุง มันอยู่ที่การดเอื้อนลูกคอ"
"เนื้อหาก็แตกต่างกันของลูกทุ่งจะเกี่ยวกับพวกลูกทุ่งจริงๆ สำนวนชาวนาชาวไร่ เรื่องมันจะเป็นในลักษณะที่คนฟังจะแบ่งระดับได้น่ะ จะฟังออกว่าเนี่ยมันเหตุการณ์ลูกทุ่งนะเป็นเรื่องราวของคนชนบท เพลงลูกกรุง อย่างเพลง รักคุณเข้าแล้ว"
การเลือกใช้ภาษาเป็นอย่างไรจากอดีตสู่ปัจจุบัน?
"ลูกทุ่งส่วนมากแล้วผมไม่ได้ว่าเขานะ คนอื่นเขาว่านะ ผมพูดตามเขานะ คือสมัยก่อนมักจะใช้ร้อยเนื้อทำนองเดียว เนื้อร้องจะเปลี่ยนไปแต่ทำนองจะเหมือนๆ กันหมดน่ะ ทีนี้คนที่เขาพยายามแต่งแล้วไม่ให้เหมือนก็มีนะส่วนมากคนเหล่านี้จะเป็นคนดังเช่น ลพ บุรีรัตน์ เวลาเขาแต่งเขาจะพยายามเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนทำนอง"
"หรืออย่างยุคปัจจุบันนี้ผมเองนับถือฝีมือมากเลยครูสลา คุณวุฒิน่าะ เขาเขียนทำนองไม่ซ้ำของเก่าและเนื้อหา ลีลาก็ไม่เหมือนเดิม ละเอียดละออ เป็นเรื่องเป็นราว มันแลเห็นภาพน่ะ"
"เพลงสมัยเก่าของเพลงลูกกรุงน่ะมักจะคล้องจองกัน จะเป็นภาษากวีหน่อยนะ ลูกทุ่งก็เป็นเหมือนกันคนละแบบจากทุกวันนี้ ทุกวันนี้ก็เป็นบ้างไม่เป็นบ้างแต่อย่าไปว่าเขานะแล้วอย่าหาว่าผมว่านะ ว่าไม่ได้นะเพราะสาเหตุว่าไม่ได้มีหลักสูตรในการศึกษา ไม่ได้วางกฎเกณฑ์ คล้ายๆ กับว่าไม่มีกฎหมายน่ะเพราะฉะนั้นไปว่าเขาไม่ได้ เขาอาจจะเขียนแล้วทั้งเพลงมีวรรคเดียวแล้วดังแต่วรรคเดียวของเขาทีเด็ดน่ะ"
******************