วธ.สนอง 4 พระปณิธานด้านวัฒนธรรมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จัดเสวนาดนตรีคลาสสิกให้ประชาชนชมฟรีทุกเสาร์ที่ 3 ของเดือนจนกว่าจะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ โดยนักเรียนทุนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ “วีระ” เผย วธ.ยังมีพระนิพนธ์ “เวลาเป็นของมีค่า” ที่จะนำมาแจกหน่วยงานต่างๆ เร็วๆ นี้ เตรียมนำบาร์โค้ดหมายเลขติดหนังสือเพื่อตรวจสอบหาที่มาได้หากพบวางขายในตลาด หอสมุดฯ จัดเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ใช้บริการใกล้ชิด หวั่นนักเลงหนังสือขโมยพระนิพนธ์ หรือฉีกหนังสือหายาก และพระฉายาลักษณ์ วอนหากอยากสะสมขอให้ถ่ายเอกสาร เตรียมเสนอของบฯ ติดตั้งวงจรปิด
วันนี้ (14 ม.ค.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานการแสดงดนตรีคลาสสิกเทิดพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกและถวายความอาลัยแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) อาทิ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กรมศิลปากร และสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีคุณูปการเกี่ยวกับงานด้านวัฒนธรรม รวมทั้งทรงประทานแนวพระดำริ และทรงแนะนำ เกี่ยวกับงานวัฒนธรรมหลายเรื่อง ดังนั้น วธ.จะดำเนินงานสืบสานแนวพระดำริ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ดนตรีคลาสสิก 2.พระนิพนธ์ 25 รายการ 3.งานด้านโบราณสถาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั่วประเทศที่พระองค์ทรงเสด็จทอดพระเนตร และได้ประทานคำแนะนำในด้านโบราณสถานเอาไว้ และ 4.ทรงอุปถัมภ์คณะหุ่นละครเล็กคณะโจหลุยส์ ดังนั้น จะต้องให้การสนับสนุนการพัฒนาหุ่นไทยทุกประเภทในประเทศไทย
นายวีระ กล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานดังกล่าว คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม ได้ให้นโยบายว่าจะต้องดำเนินการสืบสานให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะต้องมีการจัดทำแผนดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอน มีการกำหนดคณะกรรมการดำเนินงานในทุกๆเรื่อง โดยเบื้องต้นได้กำหนดแผนการดำเนินงาน จัดสัมมนาโดยเชิญผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับงานด้านวัฒนธรรม ผู้ที่ได้รับพระอุปถัมภ์ และเคยถวายงาน แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในทุกๆ ด้านมาแลกเปลี่ยนความคิด และเสนอแนวคิด โดยในวันที่ 19 ม.ค. จัดให้มีการแสดงดนตรีคลาสสิกเทิดพระเกียรติ “แสงแห่งรุ้ง กับดนตรีคลาสสิก” จากวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร โดยอัญเชิญ บทเพลง แว่ว ซึ่งเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบทเพลงคลาสสิกผลงานการประพันธ์ของศิลปินระดับโลก อาทิ C’Debussy, J.S.Bach , C.Saint-Saens, F.Schubert บรรเลงในการแสดงครั้งนี้ รวมถึงบทเพลง แสงหนึ่งคือรุ้งงามที่ประพันธ์โดยบอย โกสิยพงศ์มาบรรเลงด้วย นอกจากนี้จะเชิญผู้ประพันธ์มาร่วมงานอีกด้วย ซึ่งนายอนันต์ นาคคง ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิก จะเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติดนตรีคลาสสิก นายภัทราวุธ เอี่ยมสรรพางค์ มาเป็นวิทยากรบรรยาย เกี่ยวกับความประทับใจในดนตรีคลาสสิก และ นายบัณฑิต อึ้งรังษี บรรยายเรื่องการสร้างความเป็นเลิศของนักดนตรีคลาสสิก โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชน และผู้สนใจเข้าร่วมรับฟัง ที่หอสมุดแห่งชาติ
สำหรับการจัดเสวนาเรื่องดนตรีคลาสสิกนี้จะจัดทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน จนกว่าจะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ จากนั้นจะรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ มาสรุปและหาแนวทางการปฏิบัติสืบทอดพระปณิธานอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งจัดพิมพ์เป็นแผนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก และรวบรวมเป็นหนังสือถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในวาระ ครบ 100 วัน หรือ ในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ส่วนการเสวนาเรื่องโบราณสถาน จะจัดทุกวันศุกร์ตลอดเดือนกุมภาพันธ์
นายสถาพร นิยมทอง นักวิชาการละครและดนตรี กรมศิลปากร กล่าวว่า การแสดงดังกล่าวจะจัดแสดงโดยนักเรียนที่ได้รับประทานทุนการศึกษาจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ให้ไปศึกษาต่อด้านดนตรีคลาสสิกในต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่านักเรียนเหล่านี้มีทักษะ และความสามารถในการแสดงดนตรีคลาสสิก โดยบทเพลงคลาสสิกที่เลือกนำมาจัดแสดงนั้นจะเป็นบทเพลงที่ฟังไม่ยากนัก และใช้นักดนตรีไม่เกิน 8 คน
สำหรับปัญหาพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ แม่เล่าให้ฟัง และเจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พิมพ์ออกมาจำนวน 10,000 เล่ม เพื่อแจกให้กับบุคคลสำคัญ สถาบันการศึกษา และห้องสมุดต่างๆ ถูกนำออกมาวางจำหน่ายในช่วงนี้นั้น นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ไม่ทราบว่าหนังสือทั้ง 2 เล่มหลุดออกไปสู่ตลาดได้อย่างไร เนื่องจากทาง วธ.จะมีบัญชีรายชื่อหน่วยงานที่รับแจกหนังสือดังกล่าวไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานราชการ เพราะไม่ได้พิมพ์แจกให้แก่บุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตาม ทราบว่าพื้นที่ที่มีหนังสือพระนิพนธ์ 2 เล่มออกมาจำหน่ายอยู่ใน กทม.โดยยังไม่เคยพบว่าในต่างจังหวัดมีการหนังสือดังกล่าวออกมาขาย
“วธ.ยังเหลือพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อีก 1 เล่ม เรื่อง เวลาเป็นของมีค่า ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรวบรวมคำสอนเกี่ยวกับเวลาที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีต่อพระธิดาและพระโอรสเอาไว้ โดย วธ.จัดพิมพ์ 10,000 เล่มเช่นกัน และจะแจกจ่ายให้กับหน่วยงานต่างๆ ในเร็วๆ นี้ ซึ่งในครั้งนี้จะนำเอาระบบบาร์โค๊ดเรียงเลขที่มาใช้ติดกับตัวหนังสือ เพื่อป้องกันการนำหนังสือไปขายต่อ หรือหากพบหนังสือเล่มใดถูกออกมาวางจำหน่ายในท้องตลาดก็สามารถนำมาตรวจสอบได้ว่าเลขที่หนังสือดังกล่าวหน่วยงานใด หรือสถาบันใดเป็นผู้รับเอาไป” นายวีระกล่าว
ปลัด วธ.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะห้ามปรามในการนำหนังสือแจกมาจำหน่าย เพราะเป็นความเต็มใจของผู้ซื้อ ซึ่งหนังสือที่หน่วยงานราชการพิมพ์แจกบางเล่ม พิมพ์คำว่าอภินันทนาการเอาไว้อย่างชัดเจน ก็ยังมีผู้สนใจถามซื้อ ซึ่งตนจะหารือกับฝ่ายนิติกรของ วธ.ว่าจะสามารถดำเนินการเอาผิดทางกฏหมายกับผู้จำหน่ายและผู้ซื้อได้หรือไม่ นอกจากนี้ ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนอย่าขายหรือซื้อหนังสือที่หน่วยงานต่างๆ พิมพ์แจกประชาชนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เพราะเป็นการฉวยโอกาสและเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
**หอสมุดฯ เฝ้าระวังนักสะสมฉีกหนังสือเก่า
ด้านนางวิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสน หัวหน้าศูนย์สารนิเทศห้องสมุด สำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวว่า นับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระชนม์ ทางสำนักหอสมุดแห่งชาติซึ่งเก็บรวบรวมพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ 25 เรื่องฉบับพิมพ์ครั้งแรก ตลอดจนหนังสือหายากที่เกี่ยวกับพระองค์ และพระฉายาลักษณ์ต่างๆ ของพระองค์ไว้ ต้องให้ความระมัดระวังผู้มาใช้บริการเกี่ยวกับเอกสารเหล่านี้เป็นพิเศษ เนื่องจากหลังสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระชนม์ นักเลงหนังสือ และตลาดหนังสือมีความต้องการหนังสือ และพระฉายาลักษณ์ของพระองค์กันมาก นอกจากนี้ยังมีผู้มาขอใช้บริการสืบค้นเอกสารเหล่านี้จำนวนมากกว่าปกติ จึงเกรงว่าจะมีผู้แอบหยิบฉวยหนังสือเหล่านี้ออกไป
“ในส่วนของต้นฉบับลายพระหัตถ์ หรือหนังสือสำคัญหายากมากๆ เราจะไม่ให้ประชาชนได้สัมผัสกับหนังสือ แต่มีเอกสารบางประเภทที่เป็นหนังสือเก่า ประชาชนสามารถขออ่าน จับต้องได้ ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาเราพบว่านักฉวยโอกาสเหล่านี้มักใช้วิธีการฉีกหนังสือออกไป ดังนั้น จึงขอร้องประชาชนให้ช่วยกันดูแล และหากอยากเก็บสะสมพระนิพนธ์หรือพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ขอให้ใช้วิธีการยืมหนังสือไปถ่ายเอกสารเก็บไว้จะเหมาะกว่า เพื่อหนังสือในหอสมุดแห่งชาติจะได้เก็บไว้ใช้ประโยชน์ส่วนรวมต่อไป แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการขโมยหนังสือหรือฉีกหนังสือ แต่ทางหอสมุดฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ดูแลในพื้นที่ที่เก็บหนังสือเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด และให้ผู้ใช้บริการหอสมุดฯ ฝากของทุกอย่างไว้ที่เคาร์เตอร์เพื่อป้องกันปัญหาไว้ก่อน” นางวิลาวัณย์
นายปรารพ เหล่าวานิช รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้ได้เสนอของบประมาณปี 2552 เพื่อจัดซื้อกล้องวงจรปิดจำนวน 30- 40 ตัว เพื่อติดตั้งในหอสมุดแห่งชาติทุกชั้น ทุกห้อง โดยเฉพาะในจุดล่อแหลมที่มีหนังสือหายากเก็บรักษาไว้ ทั้งนี้ กลุ่มนักเลงหนังสือ และนักเลงภาพ ที่เข้ามาใช้บริการสำนักหอสมุดฯ เจ้าหน้าที่พอจะทราบตัวอยู่แล้ว เพราะทันทีที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะเข้ามาใช้บริการขอสืบค้นในเรื่องนั้นๆ
ดังนั้น ในช่วงนี้หอสมุดแห่งชาติ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ และเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ เพื่อเฝ้าดูแลห้องที่เก็บพระนิพนธ์ หนังสือหายาก รวมทั้งในหอจดหมายเหตุที่เก็บพระฉายาลักษณ์พระบรมวงศานุวงศ์ต่างๆ ไว้ด้วย ซึ่งผู้ที่นำเอกสารออกไปจากหอสมุดแห่งชาติฯ นอกจากจะมีความผิดในข้อหาลักทรัพย์แล้วยังอาจได้รับโทษหนักกว่านั้นเพราะเอกสารเหล่านี้ถือเป็นสมบัติของชาติ