xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เพิ่มโควตาที่นั่ง ม.1 ในโรงเรียนสังกัด กทม.อีก 3,360 ที่นั่ง‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.เพิ่มโควตาที่นั่ง ม.1 ในโรงเรียนสังกัด กทม.อีก 3,360 ที่นั่ง แก้ปัญหาเด็กไม่มีที่เรียนโดยเปิดขยายโอกาสอีก 20 โรงเรียน แถมเพิ่มห้องเรียนในโรงเรียนที่มี ม.ต้นอยู่แล้วโรงเรียน 1 ห้องเรียนซึ่งทำให้รับเด็กเข้าเรียนในปีการศึกษา 2551 ในโรงเรียนสังกัด กทม.ได้ 12,000 คน พร้อมขอผู้ปกครองลบค่านิยมเดิมๆ แนวคิดเก่าๆ ที่อยากให้บุตรหลานเข้าโรงเรียนดังพาเข้าโรงเรียนใกล้บ้านแทนจะไม่เกิดปัญหาอย่างปีที่แล้ว

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2551 นี้ กทม.จะเปิดรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เข้าเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.เพิ่มขึ้นอีก 3,360 ที่นั่งโดยแยกเป็นกลุ่มคือโรงเรียนที่ที่มี ม.ต้นอยู่แล้วจะให้เปิดห้องเรียนเพิ่มอีก 1 ห้องๆ ละ 40 คน
 
รวมทั้งจะเปิดขยายโอกาสระดับ ม.ต้นอีก 20 โรงเรียนๆ ละ 2 ห้องๆ ละ 40 คน ซึ่งจะทำให้มีจำนวนโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนในระดับ ม.ต้นสังกัด กทม.รวม 93 โรงเรียน มีห้องเรียนจำนวน 300 ห้อง และสามารถนักเรียนเข้าศึกษาต่อได้ประมาณ 12,000 คน จากเดิมปีการศึกษาที่แล้วรับนักเรียนได้เพียง 8,640 คน มีจำนวนโรงเรียน 73 โรงเรียน มีห้องเรียน 216 ห้องเรียน ซึ่งการเพิ่มห้องเรียนดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนที่เรียนให้แก่เด็กชั้น ป.6 ที่กำลังจะจบการศึกษาในเดือนมีนาคมนี้เพราะในปีการศึกษาที่ผ่านมามีนักเรียนที่จบชั้น ป.6 ในเขตการศึกษาที่ 2 ของ กทม.ประกอบด้วย เขตดอนเมือง หลักสี่ จตุจักร ห้วยขวาง ลาดพร้าว สายไหม สะพานสูง บางกะปิ ประเวศ ลาดกระบัง หนองจอก มีนบุรี ประมาณ 8,000 คนไม่มีที่เรียนเพราะสอบเข้าโรงเรียนดังไม่ได้

จากเหตุดังกล่าว กทม.จึงได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจนเกิดการขยายห้องเรียนเพิ่มขึ้นในโรงเรียนสัดกัด กทม.ในปีการศึกษานี้

“ปีที่แล้วเด็กเยอะกว่าจำนวนที่โรงเรียนจะยอมรับซึ่งขาดที่นั่งกว่า 3 พันคน ซึ่ง กทม.ได้ช่วยด้วยการให้ไปหาศึกษาธิการเขตเพื่อจัดหาที่เรียนให้ซึ่งก็ผ่านพ้นไปด้วยดี แต่ถ้าถึงที่สุดในปีนี้ที่ยังมีที่เรียนไม่พออีกก็คงต้องให้ผู้ปกครองไปหาศึกษาธิการเขตเช่นเดิม แต่ขอร้องอย่าเลือกโรงเรียน อย่างไรก็ตาม การเลือกโรงเรียนให้แก่ลูกหลานหากเลือกใกล้บ้านก็จะได้ที่เรียนแน่นอนแต่ผู้ปกครองยังติดค่านิยมที่จะต้องให้ลูกหลานเข้าโรงเรียนดังซึ่งเป็นแนวคิดเก่าๆ แล้ว เพราะปัจจุบัน กทม.ได้พยายามยกระดับโรงเรียน กทม.ให้ใกล้เคียงกับโรงเรียนดังมากขึ้น อย่างโรงเรียนประชานิเวศน์ โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ ก็เป็นโรงเรียนดังของกทม.และที่ผ่านมาจากการประเมินคุณภาพการศึกษาของ สพฐ.ก็ให้โรงเรียน กทม.ผ่านเกณฑ์กว่า 90% รองจากโรงเรียนสาธิตเท่านั้น จึงขอให้ผู้ปกครองทุกคนมั่นใจได้”

นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนการเรียนการสอนนั้นกทม.มีครูพร้อมและมีศักยภาพเทียบเท่าโรงเรียนอื่นๆ โดย กทม.ได้ร่วมมือ ศธ.ทำโครงการสหกิจโดยนำครูในสังกัด ศธ.มาแลกเปลี่ยนความรู้แก่ครู กทม.ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 2 และมีการประเมินผลจาก สพฐ. และสำนักการศึกษา กทม.ตลอด ส่วนการรับนักเรียนระดับชั้น ม.4 กทม.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการเพื่อกำหนดแนวทางรับนักเรียนตามแนวทางข้อตกลงความร่วมมือทางการศึกษาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น