xs
xsm
sm
md
lg

สสส. เดินหน้าพาคน “งดเหล้าเข้าพรรษา” ต่อ หลังพบปี 2567 ช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้ถึง 93 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากชีวิตที่อยู่วังวนของน้ำเมา กลายเป็นครอบครัวสู้เหล้า หนึ่งในความสำเร็จที่เกิดจากการเข้าร่วมกิจกรรม งดเหล้าเข้าพรรษา ของสมาชิกในครอบครัวอินทรีย์ ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา สอดรับกับข้อมูลในปี พ.ศ.2567 พบสถิติผู้เข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาทั่วประเทศมากถึง 13 ล้านกว่าคนแล้ว และในจำนวนนี้มี 7.6 ล้านคน งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ครบ 3 เดือน ทำให้หลายครอบครัวตัดขาดกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เงินที่เสียไปกับค่าเหล้าก็กลับมามากขึ้น ฟื้นฟูความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวให้กลับมาอบอุ่น มีรอยยิ้ม ไร้ความทุกข์ ขณะเดียวกันหลายชุมชนสามารถลดค่าใช้จ่ายจากงานบุญ งานแต่ง งานบวช ที่เดิมทีต้องสิ้นเปลืองไปกับค่าเหล้าอย่างมากมาย ชุมชนเกิดความปลอดภัยมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการรณรงค์งดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยงภายใต้กลไกเครือข่ายระดับจังหวัด สานพลังร่วมกับ สสส. ช่วยยกระดับความสุขในทุกมิติของผู้คนในสังคมได้

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การรณรงค์ในโครงการ งดเหล้าเข้าพรรษา เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2546 ที่ต้องการเปลี่ยนค่านิยมการดื่มแอลกอฮอล์ของสังคมไทย ปัจจุบันขยายผลไปตลอดทั้งปี และผลักดันสู่ระดับนโยบาย ทั้งในระดับจังหวัดและประเทศ ถ้าเราปรับลดละเลิกพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 3 เดือน สุขภาพกาย สุขภาพใจจะดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น นี่คือความงดงามของการขับเคลื่อนมาตลอด

“หลายจังหวัดเริ่มเห็นชุมชนคนสู้เหล้ามากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้แค่ชักชวนให้คนหันมาเลิกเหล้า แต่ต้องการให้ทุกคนหันมามองเห็นปัญหาที่เกิดจากการเข้าไปอยู่ในวังวนของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะหลังเลิกงานเลี้ยงสังสรรค์มักจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเสมอ สสส. และหลายหน่วยงานจึงหวังปลุกปั้นการณรงค์เรื่องนี้ให้สอดรับกับบริบทและวิถีชีวิตของชาวชุมชน เริ่มจากค่อย ๆ ลด ละ จะนำไปสู่การเลิกเอง หลายคนปฏิญาณตนเลิกเหล้าตลอดชีวิตก็มี เพราะฉะนั้นใครเลิกเหล้าตลอดชีวิตได้ครบ 3 เดือนจะเป็นคนหัวใจเพชร มีจิตเข้มแข็งไม่กลับไปดื่มเหล้าอีก และเสริมแกร่งให้คนกลุ่มนี้กลับมามีอาชีพ สร้างรายได้ อย่างมีความสุข” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

​ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า แนวคิดเลิกเหล้าแล้วได้อะไร ทำให้เห็นภาพชัดของครอบครัวอินทรีย์ ที่มีพ่อแม่ลูก ที่เป็นต้นแบบนำพาคนในชุมชนเลิกเหล้าได้สำเร็จ และยังสามารถนำพาครอบครัวก้าวพ้นจากความยากจนได้ เราพบว่าวิถีชุมชนในพื้นที่ อำเภอบางกล่ำแห่งนี้มีมิติการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ลดนักดื่มหน้าเก่า และปรับสภาพแวดล้อมให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง แม้วิถีชีวิตของคนภาคใต้ จะมีพฤติกรรมดื่มน้อยกว่าคนภาคเหนือและอีสานประมาณ 20% แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงสู่การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกัญชา กระท่อม หรือแม้แต่กระทั่งบุหรี่ไฟฟ้าที่ตอนนี้เรียกได้ว่าวิกฤตเส้นยาแดงผ่าแปดก็ว่าได้ หลังพบเด็กนักเรียนวัยประถมซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์สูบในโรงเรียนแล้ว จึงใช้แนวคิดเลิกเหล้าแล้วได้อะไรบ้าง มาเป็นโจทย์ใหญ่ไล่แก้ไขจุดอับของจิตใจคนติดเหล้า ด้วยการสร้างอาชีพทางเลือกให้พวกเขาภายหลังกระบวนการเลิกเหล้า

“งดเหล้าเข้าพรรษา มีคนจะเริ่มเห็นตัวอย่างมากขึ้นและกลายเป็นภาพจำของการรณรงค์เลิกอบายมุขในทุก ๆ ปี อย่างเช่น ครอบครัวป้าจวน อินทรีย์ พอ ลด ละเลิกได้ก็โอกาสกลับมาพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เพราะเราเน้นเรื่องพัฒนาอาชีพคุณภาพชีวิตต่างๆ มากขึ้นซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากการเลิกดื่ม ในปีล่าสุดมีผู้เลิกเหล้าตลอดชีวิต หรือ “คนหัวใจเพชร” พุ่งจาก 600 เป็นกว่า 12,598 คน ขณะที่ผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเลิกเหล้ากว่า 93 ล้านบาท”

“ตั้งใจแค่งดเหล้าเข้าพรรษา เพราะเกรงใจผู้ใหญ่บ้าน”

​นางจวน อินทรีย์ คนหัวใจเพชร ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา กล่าวว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตต้องเลิกเหล้าถาวร เกิดจากเหตุการณ์ที่ดื่มเหล้าอย่างหนัก พอกลับจากงานเลี้ยงก็ออกไปทำงานกรีดยางต่อทันที เวลา 23.00 น. เพราะคิดแค่ว่างานบ้านไม่ให้ขาด งานราชไม่ให้เสีย หลังจากกรีดยางเสร็จต้องขับรถกลับบ้านในเวลา 05.00 น. ระหว่างทางเกิดหลับในรถจักรยานยนต์เสียหลัก หมดสติ ไม่รู้สึกตัวแต่โชคดีที่กลับมาฟื้นที่โรงพยาบาล เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ใหญ่บ้านเคยชักชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาเมื่อปี 2564 พอครบ 3 เดือนก็กลับไปดื่มอีกเพราะในชุมชนมักจัดงานบุญงานเลี้ยงกันบ่อยมาก อดใจไม่ไหว เข้าร่วมงานจะจ่าย 500 บาท เพื่อให้ดื่มได้ตลอดงาน ตามวิถีการปฏิบัติของคนในหมู่บ้านสมัยก่อน มางานต้องเลี้ยงเหล้า ทำให้ในหมู่บ้านมีคนติดเหล้าจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือสามีของตัวเอง นายประสิทธิ์ อินทรีย์ ดื่มมากกว่าครึ่งชีวิตถึง 41 ปี ถึงขั้นเลิกไม่ได้ พอหยุดเหล้าจะเกิดอาการลงแดง อาละวาดทันที แต่ละเดือนหมดไปกับค่าเหล้าถึง 3,000 บาท แต่ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการพยายามลดปริมาณดื่มแอลกอฮอล์ลง เพื่อหวังผลนำไปสู่การเลิกเด็ดขาด เพราะไม่อยากประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เช่นกัน ส่วนลูกชายเพิ่งเลิกยาเสพติดได้มา 1 ปีแล้วหลังเสพยาเสพติดมาตั้งแต่อายุ 16 ปี เพียงเพราะอาจจะเห็นพฤติกรรมของพ่อกับแม่ที่ติดเหล้าทุกเย็น จนกลายเป็นครอบครัวติดกับดักปัจจัยเสี่ยงอยู่ภัพหนึ่ง แต่ตอนนี้ครอบครัวเรากลับมามีความสุขมากขึ้น มีรอยยิ้มสดใส สุขภาพดีมีแรงออกไปทำงานไม่เหนื่อยง่าย มีเงินเก็บยอะขึ้น

“ดิฉันเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุ 30 ปี ค่ะแต่ตอนนี้เป็นผู้เลิกเหล้ามากกว่า 3 ปีแล้วได้รับเกียรติบัตรเป็นคนหัวใจเพชร รู้สึกไม่ได้อยากกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเก่าเพราะกลัวตายและตระหนักได้ว่าดื่มไปไม่เป็นผลดีต่อร่างกายของตัวเอง สุขภาพแย่ลง เพลียง่าย ช่วงที่เมาประคับประคองร่างกายไม่อยู่ ไม่มีสติ กลัวเกิดอุบัติเหตุอีก จึงเลิกดื่มแอลกอฮอล์ทันที เลิกแบบหักดิบ ไปงานบุญหรืองานเทศกาลในหมู่บ้านมองเห็นคนตั้งวงดื่มเหล้า มีคนในวงชวนดื่มเหล้าก็จะรีบปฎิเสธทันทีค่ะ” นางจวน กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น