ช่วงเข้าพรรษาประโยคที่ทุกอาจจะคุ้นเคยกันก็คือ งดเหล้าเข้าพรรษา ฟังดูผ่าน ๆ อาจจะนึกถึงเฉพาะคนที่ดื่มเหล้า หรือแอลกอฮอล์เท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว การงดเหล้าก็เพื่อให้ ตับ ได้พักผ่อน หรือลดการทำงานลงนั่นเองค่ะ
พญ.อนงนุช ชวลิตธำรง แพทย์ American Board of Anti-Aging Medicine จาก Addlife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้มาให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า แอลกอฮอล์ที่เป็นส่วนประกอบของเหล้า เบียร์ ไวน์ และอื่นๆ มีผลในการทำลายเซลล์ตับโดยตรง กระตุ้นมีไขมันสะสมในตับ ส่งผลให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบ หรือมีพังผืดเกิดขึ้น จนกลายเป็นภาวะตับแข็ง ซึ่งถ้าปล่อยไว้เรื้อรังนานๆเข้าอาจกลายเป็น มะเร็งตับ ได้ในที่สุดค่ะ แต่นอกจากเหล้าแล้ว ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำลายเซลล์ตับของเราโดยที่เราอาจคาดไม่ถึง เช่น การได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม สารโลหะหนักที่ปนเปื้อนจากอาหาร เครื่องดื่ม ข้าวของเครื่องใช้อุปโภคต่าง ๆ หรือการรับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ หรือคนที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ก็มีผลต่อตับได้ค่ะ เมื่อเซลล์ตับเราแย่ลง ก็ส่งผลให้การกำจัดของเสียต่าง ๆ ลดลง อวัยวะอื่นๆก็ทำงานแย่ลง ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมทั้งร่างกายได้ค่ะ
นับว่ายังดีนะคะที่เซลล์ตับของเรามีความสามารถพิเศษที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่ด้วยปัจจุบันที่สารพิษมีอยู่รายรอบตัวเรา ลำพังกลไกปกติในการฟื้นฟูของตับโดยลำพังอาจไม่เพียงพอ เราจึงจำเป็นต้องช่วยตับ โดยเราสามารถช่วยให้ตับเราดีขึ้นได้ โดยการปฏิบัติตัวดังนี้ค่ะ
1. งดพฤติกรรมทำร้ายตับ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่
2. เพิ่มการออกกำลังกาย เพื่อช่วยลดไขมันสะสมในตับ
3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่น้ำตาลสูง ไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง
4. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์พอดี เพราะความอ้วนเป็นสาเหตุของไขมันพอกตับได้
5. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี
6. ไม่รับประทานยาหรืออาหารเสริมเอง โดยไม่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
7. ตรวจสุขภาพร่างกาย และการทำงานของตับเป็นประจำทุกปี
นอกจากการดูแลตัวเองแล้ว เราอาจใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยฟื้นฟูการทำงานของตับได้อีกทางหนึ่งค่ะ เช่น
- การทำคีเลชั่น (Chelation Therapy) โดยการใช้สารพิเศษเพื่อกำจัดโลหะหนักออกจากร่างกาย
- การเติมสารอาหารทางหลอดเลือดที่ช่วยตับกำจัดสารพิษ เช่น N-Acetyl-Cysteine เป็นต้น
- การรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยตับกำจัดสารพิษ
อย่างไรก็ดีต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดนะคะ