สสส. ปรับแคมเปญสื่อสาร “งดเหล้าเข้าพรรษา” ในรอบ 20 ปี รุกป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ หลังธุรกิจเหล้าขยายเจาะกลุ่ม "เด็ก-ผู้หญิง" เน้นเล่าเรื่องแบบสมัยใหม่ ไม่ห้ามดื่ม แต่สื่อให้เห็นผลกระทบ เลือกดื่มไม่ดื่มให้ตัดสินใจเอง และไม่ลดคุณค่าความเป็นผู้หญิง
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผอ.สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.รณรงค์ภายใต้แคมเปญ "งดเหล้าเข้าพรรษา" มาตลอด 20 ปี เพราะการพักดื่ม 3 เดือนส่งผลดีต่อสุขภาพ จึงหยิบมาใช้สื่อสารจนสร้างแคมเปญคู่สังคมไทยในช่วงเข้าพรรษาได้สำเร็จ แต่วิถีใหม่แห่งการสื่อสารงดเหล้าปี 2566 มีการพลิกกลุ่มเป้าหมายให้ตรงบริบทและสถานการณ์ปัญหานักดื่มมากขึ้น หลังพบว่า นักดื่มหญิงแม้จะไม่ได้ดื่มหนักเท่ากับผู้ชาย แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 1.7% ในปี 2554 เป็น 7.2% ในปี 2564 ผลจากตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เน้นเอาใจกลุ่มนี้มากขึ้น จูงใจ ด้วยผลิตภัณฑ์ เติมสี แต่งกลิ่นผลไม้ให้ดื่มง่าย การรับอิทธิพลภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ต่างประเทศ หรือแนวทางการตลาดที่ดึงตัวแทนของผู้หญิงรุ่นใหม่ ทำกิจกรรมสร้างการรับรู้แบรนด์ ทำให้เยาวชน และผู้หญิงตกเป็นนักดื่มหน้าใหม่ได้ง่าย การสื่อสาร สสส. จึงต้องปรับให้หลากหลายตรงกลุ่ม
น.ส.สุพัฒนุช กล่าวว่า การสื่อสารสำหรับกลุ่มผู้หญิงจะเน้นเรื่องของสุขภาพมาก่อน โดยร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่าย ศึกษาผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ในนักดื่มหญิง พบความเสี่ยงหลายอย่าง เพราะผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มากกว่าผู้ชาย เป็นตัวสำคัญ หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้มีโอกาสนำไปสู่โรคร้าย เป็นแนวคิดเริ่มต้นของแคมเปญนี้ ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบสมัยใหม่ ไม่ทำประเด็นห้ามดื่ม แต่ใช้วิธีการสื่อสารให้เห็นถึงข้อมูลผลกระทบ สุดท้ายผู้รับสารเลือกที่ดื่มหรือไม่ดื่ม ขึ้นอยู่การตัดสินใจของบุคคลนั้นๆ ไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิแต่อย่างใด
“แคมเปญการสื่อสาร งดเหล้าในกลุ่มผู้หญิงเป็นโจทย์ที่ยาก และท้าทายอย่างมาก ต้องสื่อสารไม่ให้เกิดการตีความดูถูก ต่อว่า ลดคุณค่าความเป็นผู้หญิง สิทธิหญิงชายเท่าเทียมกัน ต้องไม่ถูกมองว่าเพราะเป็นผู้หญิงถึงห้ามดื่ม กว่า 1 เดือนที่ปล่อยแคมเปญนี้ออกไปในระดับพื้นที่ ภาคีเครือข่ายได้สะท้อนกลับมาในเชิงบวก ประชาชนได้มุมมองพูดถึงผลกระทบของนักดื่มด้วยวิธีการใหม่ ๆ เพราะ สสส. ไม่เคยเปิดประเด็นสังคมผู้หญิงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากนัก จึงหวังอย่างยิ่งที่แคมเปญชุดนี้จะสานพลัง สื่อสารสุขสร้างการรู้เท่าทัน ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ทุกเพศ ทุกวัย ” น.ส.สุพัฒนุช กล่าว