รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568-2575) ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ ส่งออก GDP พัฒนาความสามารถศักยภาพ
วันนี้ (15 ก.ค.) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้
1. ร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (ร่างแผนแม่บทฯ) ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568-2575)
2. มอบหมายให้สำนักงาน สภช. เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568-2575) สู่การปฏิบัติ
สาระสำคัญของร่างแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2575) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. วิสัยทัศน์ เกษตรกรเป็นพลังสำคัญในการผลักดันต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม
2. พันธกิจ ขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมสู่ความมั่นคงและพอเพียงของเกษตรกรไทย
(1) พัฒนาความสามารถการผลิตของเกษตรกรไทย สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร
(2) เกษตรชาญฉลาดขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมสีเขียว
(3) ส่งเสริมการทำการเกษตรเพื่อรองรับข้อกำหนดทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม
(4) ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย
(5) การยกระดับรายได้ต่อหัวของเกษตรกรให้มีความอยู่ดีกินดี
3. วัตถุประสงค์
(1) เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งพร้อมสร้างโอกาส
และรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
(2) เพื่อขับเคลื่อนเกษตรสีเขียวที่ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(3) เพื่อให้ภาคการเกษตรสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
4. เป้าหมาย
(1) ร้อยละ 75 ของครัวเรือนเกษตรกรมีความเข้มแข็งพร้อมสร้างโอกาสและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (5.78 ล้านครัวเรือน)
(2) มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี
(3) อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศ
สาขาเกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี
(4) รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรไม่ต่ำกว่า 537,000 บาท ต่อครัวเรือน ภายในปี 2570
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมบางประการ เช่น ควรพิจารณาเพิ่มเติมข้อมูลผลการดำเนินการ
ที่สำคัญ ตามแผนแม่บทฯ พ.ศ. 2560-2565 ในแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 ด้วย และการทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บทฯ ในระยะต่อไป สภช. ได้กำหนดระบบและกลไก่ไว้อย่างน้อยทุก 2 ปีแต่กรอบระยะเวลา 8 ปี ของแผนแม่บทฯ ดังกล่าว จะคาบเกี่ยวกับระยะเวลาของแผนแม่บทภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติห้วงที่ 3 (พ.ศ. 2571 - 2595) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2571-2575) ดังนั้น ในการทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บทฯ ของ สภช. ควรมีการพิจารณาถึงความสอดคล้องกับแผนระดับที่ 2 ที่เกี่ยวข้อง อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2571-2575) เพื่อทบทวนตัวชี้วัด เป้าหมายและกลยุทธ์เพื่อกำหนดแผนการขับเคลื่อนในช่วง พ.ศ. 2571-2575 ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์การพัฒนาประเทศที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต และโดยที่เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มาตรา 11(4) มาตรา 41 และมาตรา 42 ที่บัญญัติให้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ (สภช.) จัดทำแผนแม่บท โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งเชื่อมโยงกับแผนแม่บทระดับจังหวัด และให้เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา วิเคราะห์ และกลั่นกรอง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป จึงเข้าข่ายเรื่อง ที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548