xs
xsm
sm
md
lg

รมช.เกษตรฯ ระดมกำลังแก้หมอกควัน- PM2.5 ภาคเหนือ โปรยน้ำแข็งแห้งสู้ฝุ่นพิษบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมช.เกษตรฯ ปฏิบัติการเชิงรุก ระดมสรรพกำลังลุยแก้ปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 พื้นที่ภาคเหนือ โปรยน้ำแข็งแห้งสู้ฝุ่นพิษ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
วันนี้ (29 มีนาคม 2568) นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเป็นประธานการประชุม “การปฏิบัติภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พื้นที่ภาคเหนือ ปี 2568” โดยมีนายราเชน ศิลปะรายะ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และดูงานการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งมอบนโยบายการดำเนินงานการปฏิบัติภารกิจบรรเทาปัญหา ด้วยการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ


นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนทั้งชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน โดยในช่วงเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ซึ่งเป็นฤดูกาลของการเกิดไฟป่าและมีการเผาไหม้รายวัน กินพื้นที่กว้าง เป็นปัญหาที่เกิดซ้ำ ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเกิดปัญหาไฟป่าลุกไหม้ตามธรรมชาติ เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง และยังมีการเผาเพื่อเริ่มต้นทำการเกษตรครั้งใหม่ รวมทั้งการเผาป่า สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่และจำเป็นต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ซึ่งการแก้ไขจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เพื่อยับยั้งและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ รมช.เกษตรฯ พร้อมคณะ ได้ติดตามดูการดำเนินงานบรรเทาปัญหาด้วยการโปรยน้ำแข็งแห้ง ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ริเริ่มโดยกรมฝนหลวงฯ โดยน้ำแข็งแห้งที่โปรยลงไปจะถูกพ่นเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อช่วยปรับลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผันให้ต่ำลงและเกิดช่องว่าง ทำให้ฝุ่น PM2.5 สามารถลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว วิธีการนี้จะช่วยลดความเข้มข้นของฝุ่นใกล้พื้นดินอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง


รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัญหาที่เกิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ มิได้นิ่งนอนใจ และเล็งเห็นความสำคัญ โดยได้พยายามหามาตรการต่างๆ ในการรับมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยในวันนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้ริเริ่มแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหา ด้วยการนำน้ำแข็งแห้งมาโปรยลงในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นควัน แม้ว่าจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งตนได้กำชับหน่วยงานต่างๆ ให้ช่วยกันระดมความคิด หาแนวทางรับมือกับปัญหา เพื่อให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

“วันนี้ได้รับฟังรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รู้สึกเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จึงได้กำชับให้เร่งหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว และยังมีแผนที่จะทำในพื้นที่อื่น ๆ อีก โดยได้มอบหมายให้จัดทำแผนแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ยุติการเผาตอซัง หรือวัชพืชเพื่อจะได้ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะบรรเทาเบาบางลงได้” รมช.เกษตรฯ กล่าวในตอนท้าย


ในโอกาสเดียวกันนี้ นายราเชน ศิลปะรายะ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วยสื่อมวลชน เดินทางไปยังแปลงเรียนรู้ตามระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ไม้ผล (ลำไย) เครือข่ายแปลงใหญ่จังหวัดลำพูน โดยเยี่ยมชมการดำเนินงาน “สวนสมบูรณ์” ของนายพสิษฐ์ สุขสวัสดิ์ ประธานแปลงใหญ่จังหวัดลำพูน ที่มีการผลิตลำไยคุณภาพ ปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP ควบคู่กับการพัฒนา เพิ่มมูลค่าลำไย พร้อมด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตอบสนองความต้องการของตลาด ใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต พร้อมมีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพทำให้สวนสมบูรณ์ สามารถเพาะปลูกและมีผลผลิตที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการของประเทศ มีบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบหลักในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เพื่อให้เกิดฝนในปริมาณและการกระจายที่เหมาะสม และการบริหารจัดการด้านการบินในภารกิจการทำฝน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและภารกิจด้านการเกษตร เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในภารกิจที่สำคัญคือ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้แก่พื้นที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณต่ำกว่า 30% เพื่อรองรับการใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูฝนที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง

สำหรับจังหวัดลำพูนมีพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ลำไย และมะม่วง จากรายงานของสำนักงานเกษตรอำเภอ ประจำปี 2567 พบว่า ลำพูนมีพื้นที่เสี่ยงแล้ง แบ่งเป็น ลำไย จำนวน 13,225 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 362,229 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.65 และมะม่วง 3,955 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 40,206 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.84 ซึ่งลำพูนเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องมีการบริการจัดการน้ำและวางแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน










กำลังโหลดความคิดเห็น