เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่าจะใส่เกียร์ถอยกรูดกันไปแล้วสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่มีความหมายเข้าใจกันว่ามีเจตนาเน้นในเรื่องการลดมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่หากพิจารณาถึงผลที่ตามมาก็ต้องบอกว่าพรรคเพื่อไทยมีความเสียหายมากกว่าใคร
ทบทวนกันอีกสักทีสำหรับการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยแบ่งเป็น 6 ประเด็น ที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา มีดังนี้
1.แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย
2. แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น คือ (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูฉบับแก้ไขบังคับใช้ (5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา และ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน
3.แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และ มาตรา246
4. แก้ไข มาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้นให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน
5. แก้ไข 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของสส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง
6. แก้ไข มาตรา 255ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญ ซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่สามารถทำได้ และแก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ซึ่งได้ตัดเงื่อนไข ในประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่วกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้นได้ออก
แน่นอนว่าการถอยกรูดในครั้งนี้ ย่อมมาจากกระแสต้านจากสังคมที่เริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งถูกมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ของนักการเมืองล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน รวมถึงเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายในเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” เอื้อประโยชน์ให้กับบางคน เช่น นายทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น เสี่ยงต่อการถูกถอดถอน ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตามมา จนกระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ต่างแถลงชัดเจนว่าไม่เอาด้วยจนต้อง “เบรก” เอาไว้ก่อน
แม้ว่าในเวลานี้ยังเหลือร่างแก้ไขของพรรคประชาชนที่เสนอเข้าสภาไปแล้ว แต่เมื่อหลายพรรคดังกล่าวไม่เอาด้วยมันก็เดินหน้าต่อลำบาก และล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน พวกเขาก็ยอมถอยบางส่วนออกมาชั่วคราว ในกรณีแก้ไขในเรื่องลดมาตรฐานจริยธรรมเอาไว้ก่อน เนื่องจากฝืนกระแสไม่ไหว แต่ก็ยังดึงดันเดินหน้าในมาตราอื่นๆที่เหลือโดยรอจังหวะเหมาะในวันข้างหน้า โดยเนื้อหาก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการ “หากินกับวาทะต้านเผด็จการทหาร” และลดบทบาทองค์กรอิสระ ซึ่งบางทีอาจมองอารมณ์ของสังคมเวลานี้ไม่แตกหรือเปล่า เพราะหากเทียบกันถึงเครดิตหรือความไว้ใจจากสังคมเวลานี้ไม่แน่ว่าคนอาจไว้ใจกองทัพมากกว่านักการเมืองหรือเปล่า แต่ไม่ว่ากันเรื่องแบบนี้ต้องมองกันยาวๆ
อย่างไรก็ดีสำหรับพรรคเพื่อไทยที่ก่อนหน้านี้ได้เดินหน้าเต็มตัว ในความหมายที่เรียกว่า “สุดซอย” กันอีกครั้ง เพราะนอกเหนือจากการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าวแล้ว ยังเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 โดยจะยื่นร่างกฎหมายต่อสภา และพิจารณาในรัฐสภา โดยจะมีการแก้ไขในหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขเรื่องความเป็นเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. จึงทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ และอ้างว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรจะเปิดกว้างให้กับทุกคน
โดย ก่อนหน้านั้น นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทยย้ำว่า การแก้ไขนี้ไม่ใช่เพื่อให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้อีกครั้ง พร้อมกับย้ำว่า ไม่ได้เกี่ยวกับใคร หรือหมายถึงใคร คิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรจะเปิดกว้าง เป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไม่ควรมีข้อจำกัดมากมาย
แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังไม่ได้เสนอเข้าสภา แต่เมื่อบรรยากาศแบบที่เห็นรับรองว่าไม่สามารถเดินไป “สุดซอย” แล้ว ก็คงต้องเก็บใส่ลิ้นชักเอาไว้ชั่วคราวก่อน เพื่อรอจังหวะ หรืออย่างที่บอกว่าอาจเสนอเข้ามาคราวเดียวในช่วงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับในอนาคต แม้ว่าไม่รู้ว่าจะได้ฉบับใหม่ หรือทันเวลาหรือไม่ก็ตาม แต่ตอนนี้เหมือนถูกบังคับให้ถอยก็ต้องถอยมาก่อน ก่อนที่จะพังกันไปทั้งขบวน
ดังนั้นแม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ของพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องถอยออกมาก่อน และยังเหลือร่างของพรรคประชาชนของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่คาไว้ในสภา แต่สำหรับประเด็นเรื่องลดมาตรฐานจริยธรรม มันคงเดินต่อไปได้ยาก รวมไปถึงเรื่องอื่น เพราะอารมณ์สังคมเวลานี้มันไม่เอาด้วยแล้ว แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยนาทีนี้ถือว่า “พลาดอย่างแรง” ที่คิดแต่ทำตามอารมณ์ “เจ้าของ” แต่ดันไม่สนใจความรู้สึกชาวบ้าน มีแต่ภาพลบ !!