xs
xsm
sm
md
lg

เลือกซ่อมพิษณุโลก “สีส้ม” ไม่แรง-ไม่โต !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

ผลการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดพิษณุโลก เขต 1 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ความจริงทางการเมืองออกมาให้เห็นหลายอย่าง ซึ่งมีผลต่อพรรคประชาชน หรือพรรคก้าวไกลเดิมได้อย่างดีว่า พวกเขาจะเติบโตไปได้ไกลแค่ไหน และยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า “ยิ่งยุบยิ่งโต” หรือไม่

ผลการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 อย่างไม่เป็นทางการ ภายหลังปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17:00 น. โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้สมัคร 2 ราย คือ นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หมายเลข 1 จากพรรคประชาชน และ นายจเด็ศ จันทรา หมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย

กกต.พิษณุโลก รายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งนับไปแล้ว 100% จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 138,705 คน หน่วยหน่วยเลือกตั้ง 208 หน่วยเลือกตั้ง เป็น บัตรดี 67,849 ใบ บัตรเสีย 1,106 ใบไม่ประสงค์ลงคะแนน 7,261 ใบ ผู้ใช้สิทธิ์คิดเป็น 54.95% ผลปรากฏว่า นายจเด็ศ ได้คะแนนอยู่ที่ 37,209 คะแนน ขณะที่นายณฐชนน ได้คะแนนอยู่ที่ 30,640 คะแนน เท่ากับนายจเด็ศ ชนะทิ้งห่างถึง 6,569 คะแนน

ผลการเลือกตั้งดังกล่าว ถือว่าคะแนนไม่ได้ทิ้งห่างกันนัก ชนะกันแค่หกพันกว่าคะแนนเท่านั้น แต่ก็ได้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกทางการเมืองทั่วไปได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหากโฟกัสไปที่สองพรรคใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ซึ่งต่อสู้กันในสนามเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

สำหรับพรรคประชาชน ที่มีต้นทางมาจากพรรคก้าวไกล ผลจากการเลือกตั้งซ่อมย่อมมีความเสียหายไม่น้อย รวมไปถึงทำให้บั่นทอนความฮึกเหิมลงไปไม่น้อยทีเดียว เพราะเป็นการพ่ายแพ้เป็นสนามที่สองต่อเนื่องจากสนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรีก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้งสองสนามนี้พรรคประชาชนได้ทุ่มเทสรรพกำลังลงไปอย่างเต็มที่ แต่ผลที่ออกมาอย่างที่เห็น พ่ายแพ้แบบ “ม้วนเดียวจบ”

หรือหากพิจารณาจากสนามเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนหน้านั้น ทั้งที่ พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ที่แม้จะอ้างว่าไม่ใช่เป็นผู้สมัครในนามพรรค แต่คนในพื้นที่ก็รับรู้กันดีว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคไหน แต่ก็พ่ายแพ้อย่างหมดรูป

แน่นอนว่า ที่ผ่านมามีวาทกรรมจากฝ่าย “เสื้อสีส้ม” ท้าทายทำนองว่า “ยิ่งยุบยิ่งโต” ตายสิบเกิดแสน อะไรประมาณนั้น มั่นใจว่าหากมีการยุบพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นเมื่อใด ก็ยิ่งเป็นแรงส่งให้พรรคประชาชนหรือไม่ว่าจะเป็นไหนก็ตามเติบโตชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย บรรดาแกนนำพรรค และ“เจ้าของพรรค” อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงกับมั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า พวกเขาจะชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 250 ที่นั่ง หรือเกิน 270 เสียงก็มี เพื่อหวังจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว จากนั้นพวกเขาอหังการ์ มาตั้งแต่นั้น

พวกเขามั่นใจจากกระแส มั่นใจจากผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาที่ชนะอย่างถล่มทลาย ทำให้มั่นใจว่า ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป จะยิ่งเติบโตแบบกระโดด แต่ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมามันก็สะท้อนออกมาในทางตรงกันข้าม

แน่นอนว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมา และมีแนวโน้มในทางเดียวกับกับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอีกราวสามปีข้างหน้า ที่มีเสียงแย้งว่า พรรคประชาชน “พรรคสีส้ม” ที่ว่านี้ได้เลย “จุดพีก” หรือว่าเลยจุดสูงสุดไปแล้ว หรือหากโต ก็จะโตกว่านี้ไปไม่มากแล้ว

เพราะหากพิจารณาจากบรรยากาศทางการเมืองที่ผ่านมาจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่าย “เอาลุง” หรือ “สามป.” กับ “ไม่เอาลุง” อีกทั้งฝ่ายเอาลุงยัง “แตกแยก” กัน ทำให้เสียงกระจัดกระจาย ตัดกันเอง ทำให้พ่ายแพ้อย่างยับเยิน อีกทั้งเมื่อพิจารณากันในรายละเอียด ฝ่ายที่ก่อนหน้านี้ไม่เอาลุง อย่างพรรคเพื่อไทย ก็มีการตัดคะแนนกับพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) แต่ฝ่ายที่เสียหายกว่า ก็กลายเป็นพรรคเพื่อไทย เพราะถูกแย่งคะแนนไป

แต่บรรยากาศในเวลานี้ กำลังเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม ไม่มีบรรยากาศประชาธิปไตย กับเผด็จการสืบทอดอำนาจ กลายเป็น ฝ่าย “เอาเจ้า” กับ “ไม่เอาเจ้า” แน่นอนว่า ฝ่ายไม่เอาเจ้า ย่อมหมายถึงพรรคสีส้ม อย่างพรรคประชาชน กับอีกฝ่ายคือ พรรคเพื่อไทย และมีพรรคพันธมิตร ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ รวมไปถึงพรรคที่เป็นฝ่ายค้านใหม่หมาด อย่างพรรคพลังประชารัฐ

สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าความร้อนแรงของพรรคประชาชนกำลังลดลงไปเรื่อยๆ สังเกตได้จากบรรยากาศของพวก “ม็อบสามนิ้ว” ที่ฝ่อลงไปจนแทบไม่เห็นการเคลื่อนไหวที่มีน้ำหนัก แทบไม่มีใครกล่าวถึง ได้เห็นถึงการทยอยกันเดินขึ้นศาล หลายคนเริ่มทยอยเข้าคุก บางคนเริ่มอยู่ในคุกอย่างโดดเดี่ยว ไม่ได้รับความสนใจจากภายนอก

ทำให้เห็นบรรยากาศการเคลื่อนไหวที่แม้ว่าจะมีการความพยายามก่อนหน้านี้นั่นคือ พยายามสร้างกระแส เรื่อง “นิรโทษกรรม” เพื่อครอบคลุมความผิด มาตรา 112 แต่กลายเป็นว่าทำได้ยาก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่า ไม่เห็นด้วย สิ่งเหล่านี้มันก็ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า “กระแสมันไม่แรงจริง”

เมื่อวกกลับมาที่พรรคประชาชน ในยุคที่เป็นพรรคก้าวไกล ที่กระแสเริ่มตกลง น่าจะนับตั้งแต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และนำไปสู่การยุบพรรค กลายเป็นถูกตราหน้าว่าเป็นพรรค “ล้มเจ้า” ทำให้หลายคนที่เคยเลือกและสนับสนุนพรรคนี้ต้องถอยออกมา อีกทั้งที่ผ่านมาหลายคนมองว่าสาเหตุหนึ่งที่ต้องเลือกก็มาจากบางนโยบาย เช่น เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุเดือนละ 3 พันบาท ขึ้นค่าแรง เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาพรรคนี้กลับยุ่งวุ่นวายแต่เรื่องแก้ไข มาตรา 112 หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ อะไรประมาณนี้ ทำให้หลายคนต้องถอยออกมา บวกกับพฤติกรรมของ ส.ส.ภายในพรรค ที่มีประวัติด่างพร้อย มีแต่เรื่องอื้อฉาวต่อเนื่อง หรือการแสดงบทบาทในสภา ที่แม้จะพยายามสร้าง “ปมเด่น” ขึ้นมาแต่เอาเข้าจริงมันก็พิสูจน์ให้เห็นว่า “ไม่เจ๋งจริง” พฤติกรรมไม่ต่างจากพวกเด็กๆ ที่ไร้ประสบการณ์ ขาดวุฒิภาวะ

ดังนั้นหากพิจารณาจากบรรยากาศทางการเมืองในเวลานี้ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ต่อเนื่องมาจนถึงผลการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นอย่างการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายสนามจนมาถึงการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดพิษณุโลก เขต 1 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่าพรรคประชาชน หรือ “พรรคส้ม” ไม่แรงจริง พิสูจน์ให้เห็นว่า “ตายสิบเกิดแสน” นั้นใช้ไม่ได้ ทำให้มองเห็นสัญญาณข้างหน้าพรรคได้เลย “จุดพีค” ไปแล้ว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น