xs
xsm
sm
md
lg

เทียบ “อุ๊งอิ๊ง-เท้ง” ใครเด่นเก้าอี้นายก !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร - ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
เมืองไทย 360 องศา

หากพิจารณากันตามเหตุการณ์เฉพาะหน้าก็พอมองเห็นแนวโน้มการเมืองในวันหน้าได้แล้ว นั่นคือ “คู่ชิง” นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ระหว่าง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน

เพราะด้วยสถานะของทั้งคู่มันก็มีความหมายในตัวเองอยู่แล้วว่า ต้องเดินไปสู่การแข่งขันเพื่อชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ส่วนที่ว่าใครจะพร้อมกว่า หรือไม่พร้อมค่อยมาว่ากันทีหลัง เนื่องจากยังมีรายละเอียดและความจำเป็นซ่อนอยู่ข้างหลังเหมือนกัน

ขณะเดียวกัน ก่อนไปถึงตรงนั้นก็ต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบทางการเมืองควบคู่กันไปด้วย เพราะเชื่อกันว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ว่าจะเกิดเร็วหรือช้า ยังต้องเป็นการต่อสู้ขับเคี่ยวกันระหว่าง “สองขั้ว” อย่างชัดเจน นั่นคือ “ขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทย” กับ อีกขั้วที่มี พรรคประชาชน เป็นแกนหลัก ซึ่งตามความเข้าใจในแบบสัญลักษณ์ที่เข้าใจกันก็คือ เป็นการสู้กันระหว่าง “แดง” กับ “ส้ม” นั่นเอง

เริ่มจากฝ่ายแรกคือ ฝ่ายขั้วเพื่อไทย ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ตามที่มองเห็นในเวลานี้ก็จะเป็นลักษณะของการเป็นพันธมิตรของฝ่ายที่เรียกว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยม มีพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันเป็นพันธมิตรกัน นอกเหนือจากพรรคเพื่อไทยแล้วก็มีภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และชาติไทยพัฒนา เป็นหลัก โดยอาจรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ “บางซีก” ที่เป็นรัฐบาลในฝ่ายค้านเข้ามาร่วมก็เป็นไปได้มาก

ลักษณะการรวมกลุ่มอาจเป็นลักษณะรวมกันแบบ “หลวมๆ” ความหมายคือหากพรรคไหนได้เสียงมากที่สุดก็เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลไป โดยหลักๆ ของกลุ่มนี้ก็จะเป็นพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทย ที่เมื่อเวลาก็ต้องแข่งขันกันเองในหลายพื้นที่ทับซ้อนกัน เช่น ในภาคอีสาน ส่วนอีกสองพรรคหลังจะเป็นการประคองเพื่อรักษาพื้นที่เป็นหลัก

หากโฟกัสกันไปที่พรรคเพื่อไทย ที่กำลังกลายเป็นแกนนำขั้วใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัวรับสภาพจากพรรคที่เคยเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งมายาวนาน แต่ปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะถดถอยลงไปมาก ระดับ “ตำนาน” อย่าง นายทักษิณ ชินวัตร กำลังถูกท้าทายและถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจกลายเป็น “คนตกยุค” มากขึ้นทุกที

ขณะเดียวกันผลจากการเป็นแกนนำรัฐบาลผสมในครั้งนี้กลับกลายเป็นว่า ผลออกมาในทางลบมากกว่าบวก ผิดไปจากคาดหมายไปมาก เริ่มจากการต้องการเป็นรัฐบาลเพื่อหวังกุมอำนาจรัฐจนต้องทำทุกทาง โดยเฉพาะการ “ข้ามขั้ว” แม้ว่าจะได้อำนาจ แต่ก็ต้องสูญเสียเครดิต เสียความนิยมจากมวลชนไปไม่น้อย จากเดิมที่เริ่มลดน้อยลงจนกระทั่งมาเป็นรัฐบาลแล้วไม่สามารถสร้างผลงานออกมาได้เป็นรูปธรรมจนชาวบ้านรู้สึกได้

เวลานี้กลายเป็นว่ารัฐบาลอายุเกือบปี นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกำลังถูกวิจารณ์หนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากพวกเดียวกัน เพราะหลายนโยบายที่เป็นเรือธงยังไม่อาจนำมาปฏิบัติให้เป็นจริงได้ แม้กระทั่งนโยบายเติมเงินหมื่นบาทในดิจิทัลวอลเล็ต ที่แม้ว่าเริ่มลงทะเบียนมาตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นมา แต่ก็ยังสะดุด ไม่เกิดความเชื่อมั่นได้เต็มร้อย การลงทะเบียนของร้านค้าก็ต้องเลื่อนออกไปอีก สะท้อนจากผลสำรวจที่ปรากฏออกมาทุกครั้งว่าความนิยมมีแต่ทรงกับทรุด และเวลานี้ต้องมาลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ อีกว่าจะออกหน้าไหน จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมมนตรี จากกรณีถูกร้องเรื่องการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ขาดคุณสมบัติ

แน่นอนว่า จากผลงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบไปถึง พรรคเพื่อไทยเอง และยังส่งแรงกระแทกไปถึง นายทักษิณ ชินวัตร รวมไปถึงน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค และเป็นแคนดิเดตนายกฯอีกด้วย

ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งก็อาจกลายเป็นว่า ทั้งสองคนดังกล่าวอาจกลายเป็น “ตัวฉุด” ทั้งรัฐบาลและพรรคก็เป็นไปได้สูงเหมือนกัน นอกเหนือจากกรณี “นักโทษเทวดา” ทำให้ “คนไม่เท่ากัน” รวมถึงความไม่เชื่อมั่นในเรื่องความรู้ความสามารถของ “อุ๊งอิ๊ง” ที่เมื่อเวลาผ่านไปเครดิตยังไม่กระเตื้อง ผิดความคาดหมายไปมาก ผ่านมานานเป็นปีแล้ว “ยังไม่ปัง” และยังไม่เห็นแนวโน้มดีขึ้นกว่าเดิมเลย มันก็น่าหนักใจอยู่เหมือนกัน

อย่าได้แปลกใจที่จะต้องเป็นบทบาทของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องออกโรงเองทางการเมืองในทุกเรื่อง สังเกตได้ว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เขาต้องเดินเกมอย่างหนัก ที่เห็นภาพชัดคือการ “ฟื้นฟูบ้านใหญ่” กลับมา ลงไปคลุกในพื้นที่มากขึ้น รวมไปถึงดึงบรรดา เพื่อนเก่า พันธมิตรเก่า สร้างเครือข่ายราชการ ทุนใหญ่เข้ามาใหม่ ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “ก๊วนเขาใหญ่” เมื่อวันก่อน และเชื่อว่าหลังจากพ้นโทษในปลายเดือนนี้เขาต้องขยับครั้งใหญ่ทีเดียว

หันมาอีกฟากหนึ่งคือ “ขั้วส้ม” ที่นำโดยพรรคประชาชน นาทีนี้ไม่ต้องซับซ้อนอะไรกันมากว่า นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค มันก็คือตัวแทนของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อรอกลับมาในอีก 5-6 ปีข้างหน้า หลังจากถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ดังนั้นหากพูดตรงๆ ก็คือมันเหมือนกับการ “ขัดตาทัพ” ไว้ชั่วคราว เพื่อรอ “เจ้าของ” กลับมาเท่านั้น

เมื่อวกมาที่การช่วงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป ที่แม้ว่า นายณัฐพงษ์ ได้ประกาศทันทีว่าเขาพร้อมหลังจากได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชน และมั่นใจว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะชนะเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว โดยเชื่อว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 250-270 ที่นั่งกันเลยทีเดียว

คำถามก็คือ มันเป็นไปได้แค่ไหน และพร้อมจะเป็นนายกฯหรือไม่ มีโอกาสจะได้เป็นหรือไม่ เพราะเขาประกาศว่า “ไม่ลดเพดาน มาตรา 112” นั่นก็ย่อมหมายความว่า จะเดินหน้าเรื่องต่อไป ส่วนจะมาแบบรอบคอบ รัดกุม แบบไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่การประกาศแบบนี้มันก็เหมือนกับการท้าทาย “กระแสสังคม” เหมือนกับวัดกันไปเลย ว่าสังคมจะเอากับพวกเขาแค่ไหน และที่สำคัญการประกาศแบบนี้ไม่ต่างจากการ “แบ่งขั้ว” กันชัดเจน นอกเหนือจากการทำตามเจตนารมณ์ของ “เจ้าของพรรค” ตัวจริง นั่นแหละ

ขณะเดียวกัน ท่าทีอันแข็งกร้าวแบบนี้ มันก็มองได้เหมือนกันว่า พรรคประชาชน ยังไม่เป็นรัฐบาล และ นายณัฐพงษ์ “ยังไม่ได้เป็น” นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งคราวหน้า เหมือนกับกรณีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นเคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมาก่อน สังเกตได้จากช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่พวกเขาอ้างหลักการ จนอำนาจหลุดมือไปอยู่ที่พรรคเพื่อไทย หลายคนอาจมองแบบนั้น

แต่หากมองให้ลึกแล้วเชื่อว่า เป็นเพราะ “มีคนไม่ให้เป็น” มากกว่า เหมือนกับกรณีของ นายณัฐพงษ์ ที่ไม่ต่างกัน เป็นลักษณะของการขัดตาทัพ “เพื่อรอ” ให้เจ้าของกลับในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะหากมีการเลือกตั้งตามวาระ ในปี 2570 นายธนาธร พ้นการถูกตัดสิทธิ์ 10 ปี ก็จะกลับมาในปี 2573 ก็แค่ไม่กี่ปีเท่านั้น

ดังนั้น หากให้สรุปแบบรวบยอดกันในตอนท้ายมันก็ทำให้เห็นภาพว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการต่อสู้กันระหว่าง “สองขั้ว” คือ ขั้วพรรคเพื่อไทย กับขั้วพรรคประชาชน และเป็นการชิงกันระหว่าง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ นั่นเอง และแม้ว่าผลการเลือกตั้งฝ่ายหลังน่าจะชนะ แต่ก็ไม่น่าจะถล่มทลาย ทำให้ฝ่ายแรกมีโอกาสเป็นรัฐบาลได้มากกว่า เพราะรวบรวมเสียงได้มากกว่า และที่สำคัญแม้ว่าฝ่ายหลังเขาต้อง “รอเจ้าของ” กลับมาเท่านั้น !!


กำลังโหลดความคิดเห็น