เมืองไทย 360 องศา
หากนับจากวันนี้ก็ต้องบอกว่าเริ่มนับถอยหลังกันแล้ว สำหรับคดียุบพรรคก้าวไกล ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคม แม้ว่าหากมองกันแบบรวมๆ ก็ยังถือว่าออกได้ทุกทาง ทั้ง “ยุบ” และ “ไม่ยุบ” แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้ว หลายคนยังเชื่อไปในทาง “ยุบ” มากกว่า แต่ถึงอย่างไรทุกอย่างอยู่ที่ดุลพินิจของศาลฯ
ขณะเดียวกันทางฝ่ายผู้ถูกร้อง หรือคนในพรรคก้าวไกลก็คงมีความเชื่อเหมือนกันว่า น่าจะโดนยุบมากกว่าไม่ยุบ จึงได้เห็นอาการ ความเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดแรงกดดันจากภายนอกเข้ามาทุกทาง ทำถึงขนาดดึงเอาองค์กรระหว่างประเทศ ทูตต่างประเทศในยุโรป เข้ามาร่วมกดดัน ข่มขู่ถึงขนาดที่ว่าหากยุบพรรคก้าวไกล จะส่งผลกระทบไปถึงกระบวนการทางประชาธิปไตยในไทยกันเลยทีเดียว
ที่ผ่านมาแม้ว่าระดับแกนนำของพรรคจะพยายามมั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้กังวลว่าพรรคจะถูกยุบ เพราะมั่นใจในเรื่องการแก้ข้อกล่าวหาก็ตาม พร้อมกับเตือนว่าหากยุบพรรคก้าวไกลจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการแถลงข่าวถึงแนวทางการต่อสู้คดีของพรรคก้าวไกล เมื่อวันก่อน ถึงการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ว่า ตนเองคงไม่ขอก้าวล่วงประเมินไปข้างหน้า แต่มั่นใจในข้อเท็จจริง และมั่นใจในเรื่องของข้อกฎหมายที่อธิบายไปแล้ว
นายพิธา กล่าวว่า เราไม่สามารถก้าวล่วง หรือคาดเดาสิ่งที่เป็นคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการยืนยันข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายทางของเรา และเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะได้รับความยุติธรรม เหมือนพรรคหนึ่ง ที่เคยได้รับมาเมื่อ 14 ปีที่แล้ว รวมถึงบรรทัดฐานในการพิจารณาเป็นไปตามหลักสากล และการประชุมเอเชียที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้าของศาลธรรมนูญไทยด้วย ก็ทำให้รู้สึกมั่นใจ ซึ่งตนเองไม่กังวลตามเหตุการณ์ทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในเดือนนี้ คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะตัดสินตามข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง ตามที่ได้ยินข่าวมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมายล้วน ๆ
เมื่อถามว่า หากผลการตัดสินไม่เป็นคุณ จะทำอย่างไรต่อ นายพิธา กล่าวว่า มีคิดไว้แต่ยังไม่ถึงถึงเวลาตอนนี้เราโฟกัสในการใช้เวลาวันเสาร์ ถึงวันพุธ ในการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเราอย่างเต็มที่ โดยในวันพุธตอนเช้า ตนเองยังมีคิวอภิปรายเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ขนส่งสาธารณะ และทำหน้าที่อย่างมีสมาธิ กับสิ่งที่พี่พี่น้องประชาชน 14 ล้านคน เคยให้คะแนนเสียงมา ก็ยังทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหมือนเดิม ไม่ได้รู้สึกว่าเสียสมาธิ หรือต้องทำอะไรเป็นพิเศษ
นายพิธา กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชน ภายหลังจากตัดสินคดี ว่า ตนเองไม่สามารถคาดเดาแทนที่พี่น้องประชาชนได้ หวังว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี และแน่นอนว่า การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้ ในระบอบประชาธิปไตยที่ไร้ความรุนแรง พรรคก้าวไกลจะไม่เป็นส่วนร่วมในการสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคก้าวไกลแน่นอน
นายพิธา กล่าวว่า กิจกรรมในวันที่ 7 สิงหาคม ณ ที่ทำการพรรค ไม่ได้เป็นการปลุกมวลชน แต่เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนมาโดยตลอด ทั้งสมาชิกพรรค และเจ้าหน้าที่พรรค
นายพิธา กล่าวถึงการหาพรรคสำรอง หลังมีกระแสการดีลพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ว่า ยังไม่ได้คิดถึงตรงนั้น ตอนนี้โฟกัสการสู้คดีเรื่องการยุบพรรค เมื่อถึงเวลาตอนนั้น คงพูดคุยอีกที แต่ตอนนี้พรรคยังไม่มีมติใด ๆ ทั้งสิ้น หากคำตัดสินไม่เป็นคุณ ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคใหม่แล้ว คงตอบแทนไม่ได้ แต่ยังเชื่อว่าในวันพฤหัสบดี จะทำหน้าที่ให้สภาผู้แทนราษฎรเหมือนเดิม
นายพิธา ยืนยันว่า สส.ของพรรคยังรักษาความเป็นปึกแผ่นเหมือนเดิม ไม่มีตามที่มีกระแสข่าว และมีการพูดคุยถึงเรื่องการทำงานเพื่อตรวจสอบรัฐบาลเหมือนเดิม ไม่มีอะไรต้องห่วง
แน่นอนว่าเมื่อฟังจากคำพูดข้างต้น ของ นายพิธา ก็พอจับทางได้สองสามอย่าง เช่น พูดแบบกดดันศาลว่าต้องพิจารณาอย่างยุติธรรม ไม่สองมาตรฐาน โดยยกกรณีบางพรรคเมื่อ 14 ปีก่อน ซึ่งไม่ต้องเอ่ยชื่อก็รู้ว่าหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ ที่รอดจากคดียุบพรรค โดยศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง แต่ผู้รู้ทางกฎหมายอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งอธิบายว่ากรณีพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคก้าวไกลต่างกัน อย่างน้อยก็รัฐธรรมนูญคนละฉบับคือ ปี 50 กับปี 60 สมัยพรรคประชาธิปัตย์ นายทะเบียนยังไม่สรุปสั่งฟ้อง แต่เสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาส่งฟ้อง จึงผิดขั้นตอน ศาล จึงยกคำร้อง อย่างไรก็ดี พรรคก็มีการต่อสู้ด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริงด้วย
ขณะที่กรณีของพรรคก้าวไกล เป็นลักษณะเหมือนกับ “ช็อตต่อเนื่อง” เหมือนกับ “ไฟต์บังคับ” ที่ กกต.ต้องดำเนินการ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 และการใช้เรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายหาเสียง ทำให้ กกต.โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องยื่นคำร้องให้ยุบพรรคและให้ตัดสิทธิ์การเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี หากมองแค่นี้คิดว่า น่าจะ รอด หรือว่า ไม่รอด
อีกทั้งมักอ้างเรื่อง 14 ล้านเสียงผ่านการเลือกตั้งของประชาชน มากดดัน โดยอ้างการสนับสนุนของชาวบ้าน แต่ตามหลักการแล้วการถูกหรือผิดกฎหมายก็ต้องพิจารณาตามหลักฐาน ข้อเท็จจริง เหมือนกับการพิจารณาคดี ที่คงไม่อาจตัดสินกันด้วยวิธีการเลือกตั้งหรือเสียงข้างมาก แม้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะใช้วิธีการลงมติ แต่ก็ต้องพิจารณามาจากหลักฐาน กฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นหลัก มีการอธิบายอ้างอิงทางกฎหมายประกอบคำวินิฉัย
อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคก้าวไกล ก็คงรับรู้ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ถึงได้มีการหาทางออก เช่น การมีพรรคสำรอง ส่วนจะใช้ชื่อแบบไหนก็ว่ากันไป รวมไปถึงการวางตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งน่าจะเป็น น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนปัจจุบัน โดยเป็นการวางเกมไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าไว้แล้ว โดยจะเป็นการต่อสู้ช่วงชิงกับ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ดังนั้นหากพิจารณากันในนาทีนี้เหมือนกับว่า พรรคก้าวไกลน่าจะรู้ชะตากรรมแล้ว เพียงแต่ว่าขอใช้เวลาที่เหลืออันน้อยนิดนี้ สร้างแรงกดดันเพื่อประโยชน์ทางการเมือง สร้างแรงกระเพื่อมให้มากที่สุด หวังให้เป็นแรงส่งไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ว่าเอาจริงๆแล้ว ระดับ “แถวหนึ่ง” และ “แถวสอง” ที่เป็น “เจ้าของพรรค” ตัวจริง ยังไม่ถึงเวลาได้กลับมา เพราะถูกตัดสิทธิ์ยังไม่ครบสิบปี แต่อย่างน้อยก็สร้างแรงกดดันให้ได้มากที่สุดไว้ก่อน !!