xs
xsm
sm
md
lg

"อรรถกร" เผย ปริมาณฝนน้อยกว่าปีก่อนอ่างเก็บน้ำยังดีอยู่ มั่นใจกรมชลฯจัดการน้ำช่วงหน้าฝน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมช.เกษตรฯ เผย ปริมาณน้ำฝนปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว อ่างเก็บน้ำยังดีอยู่ มั่นใจ กรมชลฯ มีความพร้อมบริหารจัดการน้ำรับมือช่วงหน้าฝน



วันนี้ (25ก.ค.) นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายปรเมษฐ์ จินา สส.สุราษฎร์ธานี เขต 5 พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ถามถึงการบริหารจัดการน้ำในช่วยฤดูฝนที่จะมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วม และกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน

นายอรรถกร กล่าวชี้แจงว่า สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน ถ้าเราดูค่าเฉลี่ยเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ปริมาณน้ำฝนทุกวันนี้มีค่าเฉลี่ยที่น้อยกว่าปีที่แล้วอยู่ประมาณ 9% เฉลี่ยอยู่ที่ 710 มิลลิเมตร ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางของประเทศไทย มีปริมาตรความจุรวม 76,337,000,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะมีน้ำอยู่ประมาณ 39,279,000,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 51% เครื่องมือของรัฐบาลยังสามารถรับน้ำได้อีกถึง 37,058,000,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเกือบจะ 50% โดยการเตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำเยอะในช่วงฤดูฝน เรามี 10 มาตรการที่ทำงานผ่านคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ โดยหน่วยงานเราจะใช้แนวทางในการปฏิบัติในการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบที่ไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมในการจัดสรรทรัพยากร ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของกรมชลประทาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลต่างๆ รถขุดหรือรถแทร็กเตอร์ ซึ่งทางกรมชลประทานมีเครื่องมือทั่วประเทศอยู่ที่ 5,382 หน่วย แบ่งเป็นเครื่องสูบน้ำ 1,289 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 617 เครื่อง และเครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆ อีก 2,476 เครื่อง จึงเชื่อว่าเรามีความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำ

ในส่วนช่วงภาคเหนือตอนบน เราก็มีเขื่อนที่สำคัญอยู่ 4 เขื่อนไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแคน้อย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยขณะนี้ความจุของเขื่อนทั้ง 4 เขื่อนอยู่ที่ประมาณ 39% ซึ่งมีประมาณน้อยกว่าปีที่แล้วอยู่นิดหน่อย ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในส่วนนี้ เราจะใช้หลักในการบริหารที่เรียกว่า Rule Cure หมายความว่า ในช่วงหน้าแล้ง เราต้องเก็บกักน้ำไม่ให้ต่ำกว่าเส้นที่ทางกรมชลประทานได้กำหนดไว้ ในส่วนช่วงเวลาที่อยู่ในหน้าฝนเราบริหารอย่าง Upper Rule Curve คือต้องบริหารจัดการน้ำไม่ให้สูงกว่าเส้นที่ได้กำหนดเอาไว้

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการน้ำในภาคอีสานทั้งตอนบนและตอนล่าง ในยุคสมัยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประสานงานกับในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่มาโดยตลอด ดังนั้น การบริหารน้ำต้องรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ซึ่งมีนโยบายของเราตอนนี้ คือการทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นโดยในอนาคตอันใกล้ กรมชลประทานมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น

ในส่วนของแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ซึ่งอยู่ในภาคอีสาน โดยทั้งสองสายน้ำจะไหลมารวมกันที่อ่างเก็บน้ำจังหวัดอุบลราชธานี ที่เรียกว่า M7 โดยนโยบายและมาตรการของกรมชลประทาน จะทำการยกประตู หมายความว่าเราจะเร่งระบายน้ำไปเรื่อย ๆ ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้วันที่น้ำฝนมามากกว่า จะต้องทำการเร่งระบายน้ำจนเกินกำลัง ต้องเรียนว่า กรมชลประทาน ทำงานร่วมกับการประปา การไฟฟ้า ในการจัดการน้ำในพื้นที่ถึงโยบายปล่อยน้ำของกรมกลชลประทาน เราจะทำในระยะไหน ระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะเร่งด่วน ซึ่งตอนนี้จากการตรวจสอบพบว่า การบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เราสามารถรับมือได้ดียิ่งขึ้น และเชื่อว่าผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและเกษตรกร จะมีน้อยลงมากมากกว่าปีก่อน

นายอรรถกร กล่าวต่อถึงการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น มีโครงการต่างๆที่กรมชลประทานพยายามจะเร่งรัดให้สำเร็จ ซึ่งมีอย่างน้อย 2 โครงการใหญ่ที่ ขณะนี้ได้ออกแบบเสร็จแล้ว เหลือรองบประมาณแล้วก็ถ้าเราได้งบประมาณเมื่อไหร่ เราก็จะทำการก่อสร้าง ซึ่งผมเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องจังหวัดสุราษฎร์ธานีแน่นอน

“ผมไม่ได้อยู่บนบัลลังก์นี้ตลอด เวลาปกติผมก็ลงไปทำหน้าที่ข้างล่างในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งดังนั้น ผมเชื่อว่ากระทรวงเกษตรฯ กรมชลประทาน หรือแม้แต่หน่วยงานอื่นๆอีก 21 หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ เรายินดีที่จะรับฟังความเห็นและข้อแนะนำจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในทุกๆจังหวัดอยู่แล้ว และพร้อมจะทำงานร่วมกับทุกท่านที่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่”


กำลังโหลดความคิดเห็น