กำแพงเพชร - เครือข่ายเกษตรกรลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยาตอนบน รวมตัวชูป้ายหนุนโครงการผันน้ำยวมเข้าเขื่อนภูมิพล มูลค่า 7 หมื่นล้าน หลังถูกกลุ่มค้านชงเรื่องเข้าศาลปกครอง ชี้ช่วยพื้นที่เกษตรฝ่าแล้งนับแสนๆ ไร่
วันนี้ (17 ก.ค.) นายยุทธนา เฮี๊ยะหลง ประธานคณะทำงานผลักดันการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง-เจ้าพระยาตอนบน พร้อมกับกลุ่มเกษตรกรตัวแทนเครือข่ายจากจังหวัดตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ กว่า 3,000 คน ได้เดินทางเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อมูลโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (โครงการผันน้ำยวม) ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมเทศบาลระหาร ต.ระหาร อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร
โดยมีนายอภิชาติ ชุมนุมมณี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่กรมชลประทาน นายบุญธรรม ปานเปี่ยมโภช รองผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 4 และนายเอกชัย กำธานี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกำแพงเพชร พร้อมคณะเข้าร่วมรับฟัง
ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมเวทีต่างถือป้ายสนับสนุนโครงการ ขณะภายในอาคารหอประชุมขนาดใหญ่และบริเวณเต็นท์ด้านหน้าหอประชุมกว่าสิบหลัง มีการติดป้ายผ้าเขียนข้อความสนับสนุนและเรียกร้องให้เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรด้วย
นายยุทธนากล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายให้มีการดำเนินการศึกษาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล (โครงการผันน้ำยวม) เป็นโครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำขนาดใหญ่ระยะทาง 61 กิโลเมตร เพื่อผันน้ำเข้าสู่เขื่อนภูพล มีมูลค่าการดำเนินการกว่า 70,000 ล้านบาท เพิ่มน้ำต้นทุนในเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้า การป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม การใช้เป็นน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา การใช้ผลักดันน้ำเค็ม
และที่สำคัญคือ การเพิ่มน้ำในพื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำปิงตอนล่างและลุ่มเจ้าพระยา ให้แก่เกษตรกรนับแสนราย จากพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนล่างตั้งแต่จังหวัดตาก กำแพงเพชร พิจิตร และนครสวรรค์ล้วนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวพืชสวนและพืชไร่ที่ต้องอาศัยน้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพลเป็นหลัก
แต่ปัจจุบันเกษตรกรต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำทำการเกษตรเนื่องจากน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพลมีไม่เพียงพอ และระยะเวลาที่ผ่านมาทางเกษตรกรผู้ใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพลในภาคการเกษตรกลับไม่ได้รับทราบข้อมูล-สถานะความคืบหน้าของโครงการฯ เลย
อีกทั้งยังไม่เคยมีการรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรลุ่มน้ำปิงตอนล่างอย่างเป็นทางการ มีเพียงการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเหนือเขื่อนเท่านั้น ทั้งที่พื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง-เจ้าพระยาตอนบน เกษตรกรหลายแสนรายและมีพื้นที่การเกษตรกรรมหลายล้านไร่ ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้เช่นกัน หากไม่ดำเนินโครงการ เกษตรกรก็จะต้องเผชิญปัญหาน้ำไม่พอสำหรับทำนาและเกษตรกรรมต่อไป
ดร.พันธวัช ภูผาพันธกานต์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ศึกษาเพื่อการพัฒนาหนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการเชิญหน่วยงานผู้ที่เกี่ยวข้องมารับฟังสภาพปัญหาจากปากของพี่น้องเกษตรกรโดยตรง จากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำนาของพี่น้องเกษตรกรที่น่าจะเป็นพื้นที่แปลงใหญ่สุดในระดับประเทศที่ทำนาปลูกข้าว มาเป็นเวลานาน ส่วนกรณีมีการคัดค้านของกลุ่มไม่เห็นด้วยก็คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของการสืบหาข้อเท็จจริงต่อไป
ด้านนายอภิชาติ ชุมนุมมณี กล่าวว่า การเดินทางมาวันนี้เพื่อรับฟังข้อมูลสภาพปัญหาของกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำปิงตอนล่าง และเจ้าพระยาตอนบน ซึ่งยอมรับว่าโครงการดังกล่าวได้มีการศึกษาข้อมูลมานาน แต่วันนี้ติดปัญหาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคัดค้านอยู่ในชั้นศาลปกครอง ซึ่งคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะได้ผ่านคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องรับฟังเสียงของทุกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน และคงต้องพยายามทำความเข้าใจหรือเปิดโอกาสให้มีเวทีพูดคุยซึ่งกันและกัน
หลังจากนั้น นายยุทธนา เฮี๊ยะหลง พร้อมคณะกรรมการ ได้รวบรวมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเกษตรกรจำนวนกว่า 15,180 ราย ยื่นถึงอธิบดีกรมชลประทาน โดยมีนายอภิชาติ ชุมนุมมณี ผู้แทนรับมอบ เพื่อเสนอเป็นนโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรลุ่มน้ำปิงตอนล่าง-เจ้าพระยาตอนบนในการผลักดันการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำต่อไป