“วราวุธ” ย้ำ การขอทานผิดกฎหมาย หากพบเห็นห้ามให้เงิน แจ้งสายด่วน 1300 ศรส.กระทรวง พม.
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (23 ก.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สื่อมวลชน นำเสนอข่าวกลุ่มขอทานต่างด้าว 10 กว่าราย มีทั้งเด็กทารกแรกเกิด เด็กเล็ก คนพิการ และผู้เฒ่าผู้แก่ นั่งนอนขวางถนน ขอทานผู้ใจบุญตามจุดต่างๆ ในงานวัดชัยมงคล พระอารามหลวง พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี
และสื่อรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ได้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาจัดการ แต่เมื่อทิ้งช่วงไป กลุ่มขอทานต่างด้าวจะกลับเข้ามาในพื้นที่อีก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขอทานต่างด้าวกลุ่มเดิมๆ ที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปทำประวัติ แล้วกลับมาขอทานซ้ำอีก
เมื่อคืนวันที่ 21 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ทีมเจ้าหน้าที่ พม. ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน จังหวัดชลบุรี (ศรส.จังหวัดชลบุรี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองชลบุรี และฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักปลัดเมืองพัทยา ลงพื้นที่เพื่อจัดระเบียบผู้ทำการขอทานในเมืองพัทยา 3 แห่ง คือ 1) วัดชัยมงคล พระอารามหลวงหลวง พัทยาใต้ 2) บริเวณชายหาดพัทยา และ 3) บริเวณถนนพัทยาสาย 2 พบผู้ทำการขอทานทั้งหมด 11 คน พร้อมผู้ติดตาม ประกอบด้วย คนไทย 3 คน และคนสัญชาติกัมพูชา จำนวน 8 คน โดยมีการนำเด็กมานั่งทำการขอทานด้วย เด็กอายุต่ำสุด 1 ปี 2 เดือน และเด็กอายุสูงสุด 9 ปี
ทีม ศรส.จังหวัดชลบุรี พร้อมทีมสหวิชาชีพได้ดำเนินการสอบประวัติ และทำบันทึกจับกุมตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 พร้อมนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา เพื่อดำเนินการตามกฏหมาย
โดยได้ลงบันทึกประจำวัน ถูกเปรียบเทียบค่าปรับ และผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง 8 ราย ที่เป็นสัญชาติกัมพูชา และคนไทย 3 ราย ถูกเปรียบเทียบปรับและทำบันทึกตักเตือน พร้อมทั้งจะลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อให้ความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อจะได้ไม่กลับมาทำการขอทานซ้ำอีก
สำหรับผลการดำเนินงานจากระบบฐานข้อมูลจัดระเบียบคนขอทาน ประจำปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 มิถุนายน 2567 พบผู้ทำการขอทานจำนวนทั้งสิ้น 467 ราย เป็นคนไทย 307 ราย และเป็นคนต่างด้าว 160 ราย โดยมีสัญชาติกัมพูชามากที่สุดถึง 130 ราย รองลงมาเป็นเมียนมา 18 ราย สปป.ลาว 4 ราย จีน 5 ราย และไร้สัญชาติ 3 ราย
สำหรับจังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดที่พบขอทานเป็นอันดับ 2 คือ จำนวน 39 ราย รองลงมาจากกรุงเทพมหานคร จำนวน 156 ราย รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ 21 ราย และจังหวัดภูเก็ต 19 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นจังหวัดใหญ่และเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก นับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของขอทาน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยังมีขอทาน คือ การให้ เมื่อมีผู้ให้ เพราะความสงสาร นำมาซึ่งการมีขอทานในสังคม ซึ่งขอทานมักมีพฤติการณ์ที่น่าสงสาร มีข้อจำกัดด้านร่างกายและจิตใจ มีความพิการ และบางส่วนเกิดกระบวนการค้ามนุษย์ เป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่า หากพบเห็นขอทาน เราไม่ควรให้เงินด้วยความสงสาร เพราะการขอทานเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
หากพบเห็นขอให้พี่น้องประชาชนโทร.แจ้งมาที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน 1300 บริการตลอด 24 ชั่วโมง