xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายวิชาการกัญชา ยื่นร้องนายกฯ ยุติพิจารณานำกลับเป็นยาเสพติด จนกว่าจะมีข้อมูลรอบด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เครือข่ายวิชาการกัญชาทางการแพทย์” ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ขอให้ยุติการพิจารณาเรื่องกัญชาไปก่อน จนกว่าจะมีข้อมูลที่รอบด้าน หลังพบข้อมูลที่นำไปพิจารณาออกประกาศกัญชาเป็นยาเสพติด มีความคลาดเคลื่อน ขาดความน่าเชื่อถือ และเป็นข้อมูลมิติเดียวเฉพาะผลกระทบ ขาดข้อมูลเรื่องประโยชน์ที่มีมากมายและการเสียโอกาสหากนำกลับเป็นยาเสพติด

วันนี้(19 ก.ค.) เครือข่ายวิชาการกัญชาทางการแพทย์ นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ขอให้ยุติการพิจารณาเรื่องกัญชาไปก่อน จนกว่าจะมีข้อมูลที่รอบด้าน เนื้อหาในหนังสือโดยละเอียดมีดังนี้

ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีมติให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง และกำลังจะยื่นหนังสือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติพิจารณานั้น ทางเครือข่ายฯ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่อผู้ป่วย ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่อเศรษฐกิจ และต่อสังคม อย่างมากมายเหลือคณานับ จึงใคร่ขอแสดงความเห็น “คัดค้านการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” โดยมีเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนดังต่อไปนี้

1.ข้อมูลที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดใช้พิจารณา “ขาดความน่าเชื่อถือ” และ “มองไม่รอบด้าน” ดังนี้ 1.1 ข้อมูลที่นำเสนอในที่ประชุมฯ มีความคลาดเคลื่อนและไม่สอดคล้องกัน
ข้อมูลในบางสไลด์ระบุ จำนวนผู้มีความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม เท่ากับ 48,138 – 48,195 คน ในปีงบประมาณ 2565 – 2566 (ภาพที่ 1) แต่ในอีกสไลด์ กลับ ระบุว่า มีเพียง 29,577 – 34,073 คน ในช่วงเวลาเดียวกัน (ภาพที่ 2) และอีกสไลด์ กลับ ระบุว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน มีเพียง 1,630 – 2,079 คน เท่านั้น (ภาพที่ 3)

1.2 ข้อมูลการเรียกรับเงินค่าบริการผู้ป่วยจากกัญชา จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีเพียงปีละ 2,323 – 5,935 ครั้ง เท่านั้น (และยังไม่ได้จ่าย เพราะกำลังตรวจสอบความถูกต้อง)

สถิติข้อมูลการเรียกรับเงินค่าบริการจาก สปสช. ที่เกี่ยวข้องกับ “กัญชา” ปี 2565- 2566 มีเพียง 2,323 – 5,935 ครั้ง เท่านั้น (ตารางที่ 1) ดังนั้นจึงแตกต่างจากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า มีสูงถึง 48,138 – 48,195 คน ในปี 2565 – 2566 อย่างมากมาย หรือคิดเป็นแตกต่างกัน สูงถึง 8 - 21 เท่า หรือ ร้อยละ 800 – 2100

และมูลค่า ค่าบริการที่เรียกเก็บจาก สปสช. ในปีงบประมาณ 2565 – 2566 ก็พบว่า มีเพียง 26 – 69 ล้านบาท เท่านั้น (ตารางที่ 1) แตกต่างอย่างมากมายมหาศาล จากข้อมูลที่ รมว.สมศักดิ์ เทพสุทิน อ้างงานของ นพ.ปราการ ถมยางกูร ที่ระบุว่า กัญชาทำให้เกิดความเสียหาย เป็นมูลค่าสูงถึง 1.5 – 1.8 หมื่นล้านบาท [1]

สถิติข้อมูลที่หน่วยบริการเรียกเก็บเงินจาก สปสช. ที่เกี่ยวข้องกับ “กัญชา” ปี 2565- 2566 “น้อยกว่า” ข้อมูลที่นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด อย่างมากมายนี้ ขัดกับวิสัยของโรงพยาบาลที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ทางการเงินของตน ที่ควรเรียกเก็บเงินค่าบริการจาก สปสช. อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้น จึงน่าจะมีปัญหาเรื่อง มาตรฐานการวินิจฉัยและการรายงานเรื่องนี้ อย่างรุนแรง

1.3 ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่าบริการ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็น่าจะสูงกว่าความเป็นจริง

จากศึกษาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่พบว่า แพทย์วินิจฉัยจากข้อมูลการบอกเล่าของผู้ป่วยเป็นหลัก มีการส่งตรวจหาสารกัญชาในร่างกาย เพียง ร้อยละ 36 ของคนที่สงสัย เท่านั้น และที่ส่งตรวจ ก็พบว่ามีกัญชาในร่างกายจริง เพียง ร้อยละ 40 ของคนที่ส่ง เท่านั้น

อีกทั้งการตรวจพบสารกัญชาในร่างกาย ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า อาการที่เกิดขึ้น เกิดจากกัญชา เพราะกัญชาสะสมในไขมันของร่างกายได้นานนับเดือน ปัญหาจริงๆ เกิดจากผู้ที่ใช้สารเสพติดอื่น แล้วอ้างว่าตนใช้กัญชา เพราะไม่ผิดกฎหมาย

อีกทั้ง ยังพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 91 ไม่ได้มีอาการรุนแรง ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือนอนพักรักษา เพียง 1 คืน เท่านั้น [2]

การคำนวณว่า กัญชาทำให้เกิดความเสียหาย เป็นมูลค่าสูงถึง 1.5 – 1.8 หมื่นล้านบาท จึงไม่สมเหตุสมผล และจริงๆ เป็นเพียงการกล่าวลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไป และไม่ได้ระบุวิธีการคำนวณให้ตรวจสอบได้แต่อย่างใด

1.4 ข้อมูลที่นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีเพียงมิติเดียว เรื่อง ผลกระทบจากการใช้กัญชาเท่านั้น (และข้อมูลที่นำมาเสนอก็มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ)

ขาดมิติของประโยชน์จากกัญชา ที่มีมากมาย และผลกระทบทางลบ และค่าเสียโอกาสต่างๆ ของประเทศ หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด

1.5 มีการรวบรัดให้ลงมติ โดยขาดการพิจารณาความถูกต้องและความครอบคลุมมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน

เพราะมีธงจากผู้บริหารว่า ต้องการให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ล่วงหน้าก่อนที่การประชุมจะเกิดขึ้น
วิธีการเช่นนี้ ย่อมขัดต่อวิถีประชาธิปไตยที่มีอารยะอย่างรุนแรง
2. ประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์ เศรษฐกิจ และสังคม ในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด “พูดถึงน้อยมาก” เรื่อง ประโยชน์ด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจ จากกัญชา

กัญชามีสรรพคุณทางการแพทย์ มากมาย มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า อารยธรรมต่างๆ ของโลก มีการใช้กัญชาทั้งเป็นยารักษา ป้องกันโรค เป็นอาหาร เป็นเครื่องใช้ มามากกว่า 12,000 ปี

สำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2563 ค่าใช้ด้านยาและเวชภัณฑ์ที่ประชาชนคนไทยใช้จ่ายต่อปีสูงถึง 198,764 ล้านบาท [3]

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความสามารถพึ่งตนเองด้านยาในระดับที่ “ต่ำมาก” ต้องนำเข้ายาและผลิตภัณฑ์การแพทย์จากต่างประเทศด้วยมูลค่าที่สูงมาก และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถิติปี พ.ศ. 2564 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 136,950 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 68.9 ของค่าใช้จ่ายด้านยาทั้งหมด [4]

กัญชามีสรรพคุณทางการแพทย์ที่กว้างขวาง คนไทยที่เจ็บป่วย จำนวนอย่างน้อย 24.6 ล้านคน มีศักยภาพที่จะได้ประโยชน์จากกัญชาในการดูแลรักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วย [5]

จากการสำรวจของศาสตราจารย์สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ เมื่อปี พ.ศ. 2564 พบว่า คนที่ใช้กัญชาสามารถ “เลิกใช้” ยาแผนปัจจุบันได้ ร้อยละ 31.7 [6]

ถ้าคนไทย “ทั้งประเทศ” เข้าถึงกัญชารักษาบรรเทาโรคและการเจ็บป่วยต่างๆ และถ้าประมาณการณ์ว่ามูลค่ายาแผนปัจจุบันที่ประชาชน “เลิกใช้” ได้ คิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายด้านยาต่อปี จะคำนวณเป็นมูลค่ายาได้เท่ากับ 39,753 ล้านบาท หรือเกือบสี่หมื่นล้านบาทต่อปี [7]

ช่วงที่ประเทศไทยปลดล็อคกัญชา ทำให้คนเข้าถึงกัญชามากขึ้น สถิติการไปรับบริการสุขภาพ ลดลงไปถึง 27 ล้านครั้ง ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ อย่างน้อย 1.9 หมื่นล้านบาท [8]

กัญชาจึงเป็นมั่นคงทางยา และทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในยามศึกสงคราม

ยังไม่นับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะได้จากผลิตภัณฑ์กัญชารูปแบบอื่นๆ การส่งออก การเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สิ่งเหล่านี้จะสูญสิ้นไป ถ้าจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด

3. ผลเสียทางสังคม ถ้าจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด

จากการคำนวณผลการสำรวจของนิด้าโพล พบว่า มีคนไทยมีประสบการณ์ใช้ประโยชน์จากกัญชา ประมาณ 20 ล้านคน แบ่งเป็น ใช้กัญชาเป็นอาหารและเครื่องดื่ม 10 ล้านคน ใช้สูบ 7 ล้านคน (การสูบมีสรรพคุณทางการแพทย์) ใช้รักษาโรค 4.6 ล้านคน ปลูกกัญชา 3 ล้านคน และทำธุรกิจกัญชา 2 แสนคน [9]

หากมีการจัดให้กัญชาเสพติด คนเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนสถานะเป็น “อาชญากร” คุกที่มีอยู่ก็ไม่พอขังคนไทยอย่างแน่นอน

ปัจจุบันสถิติผู้ต้องขังทั่วประเทศ มีจำนวน 299,066 คน [10] ถ้าคำนวณความสูญเสียแรงงานของครอบครัว คิดจากค่าแรงวันละ 300 บาท จะมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ สูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ยังไม่นับค่าสูญเสียโอกาสของครอบครัวและค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมอีกมากมาย
การเอาคนไปขังคุกไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับจะสร้างปัญหามากมาย

ที่ออกข่าวว่า แม้จัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ก็ยัง “สามารถใช้ในทางการแพทย์ได้” นั้น ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่พบว่า แพทย์ไทยมีอคติต่อกัญชา ไม่สั่งจ่ายยากัญชา มีเพียงส่วน มีเพียงน้อยเท่านั้นที่สั่งจ่าย ทำให้กัญชาเหลือตกค้างจำนวนมาก และหมดอายุ เป็นความสูญเปล่าที่น่าเสียดาย และทำให้คนไทยขาดโอกาสเข้าถึงการรักษาโดยกัญชา

ประชาชนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากกัญชา เพราะมีความจำเป็นด้านสุขภาพ ก็จะต้องแสวงหามาใช้จากนอกระบบ ซึ่งไม่สามารถรับรองคุณภาพ มีสารเคมีปนเปื้อน ราคาก็จะแพงขึ้น เพราะผิดกฎหมาย แม้จะผิดกฎหมายเสี่ยงคุก เสี่ยงตาราง ก็ยอม เพื่อรักษาชีวิตของตนและคนที่ตนรัก

การจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด จึงเท่ากับเป็นการทำร้ายประชาชนทางอ้อม

ข้อเสนอแนะ
1.คณะกรรมการฯ ไม่ควรใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน มากำหนดนโยบายสาธารณะที่จะกระทบต่อประชากรจำนวนมาก

2.คณะกรรมการฯ ควรส่งเรื่องกลับไปให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด กลับไปพิจารณาผลกระทบทางบวกและลบ ของ การนำกัญชา “กลับไปเป็นยาเสพติด” อย่างรอบด้านเพียงพอ ทั้งมิติทางการแพทย์ ทางสังคม และทางเศรษฐกิจ เสียก่อน

3.คณะกรรมการฯ ควรส่งหนังสือไปขอให้กองทุนสุขภาพ ทั้ง 3 กองทุน (กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และ สปสช. ) เปิดเผยข้อมูล การเรียกเก็บเงิน จากหน่วยบริการ ที่เกี่ยวกับ กัญชา ทั้งหมด

4.คณะกรรมการฯ ควรยุติ การพิจารณาเรื่องนี้ไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อมูลที่รอบด้านมาตัดสินใจ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา จักเป็นพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายวิชาการกัญชาทางการแพทย์

สมาชิกที่ร่วมลงนาม

ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา
ที่ปรึกษา วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดี วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

รศ.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม
ประธานหลักสูตรกัญชาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
อดีตอธิบดี กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์
หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อดีตที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา ร่าง พรบ.กัญชา กัญชง

น.อ.พญ.จินตนา มโนรมย์ภัทรสาร
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์เวชศาสตร์กัญชา

พล.อ.ต.นพ.ไกรสร วรดิถี
ผู้อำนวยการ วรดิถีคลินิกเวชกรรมและกัญชาทางการแพทย์
อดีตกรรมการบริการราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย

พท.ว.นพ.สมยศ กิตติมั่นคง
อาจารย์พิเศษ วิชากัญชาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ผู้เขียนหนังสือกัญชาคือยารักษามะเร็ง

ดร.นพ.ชลธวัช สุวรรณปิยะศิริ
MD, PhD (Immunology) แผนกโรคผิวหนัง โรงพยาบาลเมดปาร์ค

พญ.สุภาพร มีลาภ
คลินิกเวชกรรมอุ่นใจ, บริษัทคลินิกเวชกรรมอุ่นใจจำกัด

รศ.ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์
นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย

ดร.ณัฏฐพัฒน์ ธีรนันทวานิช
เลขาธิการสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย

ดร.เพียงฤทัย วรดิถี
ประธานวิสาหกิจชุมชนวรดิถี ปทุมธานี

พล.อ.สมโภชน์ นนทชัย
รองประธานมูลนิธิผู้นำธุรกิจเพื่อสงัคม

พ.ต.อ.สามารถ ตู้จินดา
อุปนายกสมาคมศรัทธาธรรมาภิบาล

รศ.ดร.พว.วิจิตรา เสนา
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อ.ดร.พท.ธนเมศวร์ แท่นคำ
แพทย์เวชกรรมแผนไทย นักวิชาการสาธารณสุข นักวิชาการอิสระ

นายเขมภณ ฉัตรวิทยา
อุปนายกสมาคมศรัทธาธรรมาภิบาล

นส.อรจิรา เกิดผาด
นายทะเบียนมูลนิธิผู้นำธุรกิจเพื่อสังคม

นายกฤษฎา ทองคำบรรจง
รองประธานวิสาหกิจชุมชนวรดิถี ชลบุรี

นายนพพันธ์ แทนบำรุง
รองประธานวิสาหกิจชุมชนวรดิถี ชลบุรี

นายจิรัฎร์ มากสินธ์
เหรัญญิก สมาคมศรัทธาธรรมาภิบาล

นส.แขไข สุขกล่ำ
กรรมการ สมาคมศรัทธาธรรมาภิบาล

นส.ณนมล ชื่นดวง
ประธานที่ปรึกษา สมาคมศรัทธาธรรมาภิบาล

นายชูชาติ หอมจันทึก
ผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกอบรมกัญชาทางการแพทย์ วรดิถี

นายจิรภัทร ชลมาศ
แพทย์แผนไทย

นายพัศ ลิมประพันธ์

รองประธานไกล่เกลี่ย ปทุมธานี
นายคำดี อำนวย
กรรมการไกล่เกลี่ย อำเภอคลองหลวง

ท่านอื่นๆ ที่ลงชื่อไว้
(ยังไม่ได้ใส่ไว้ เนื่องจากเนื้อที่จำกัด)

ภาคผนวก
1.ข้อมูลที่มีการนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด

ภาพที่ 1 ข้อมูลที่นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567

ภาพที่ 2 ข้อมูลที่นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567

ภาพที่ 3 ข้อมูลที่นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567
2.จำนวนผู้ป่วยและค่าบริการที่โรงพยาบาลทั่วประเทศเรียกเก็บเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ตารางที่ 1จำนวนผู้ป่วยและค่าบริการที่โรงพยาบาลทั่วประเทศเรียกเก็บเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)


หมายเหตุ - เป็นตัวเลขเบื้องต้น ยังไม่ใช่เงินที่จะจ่ายจริง เพราะรอการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

เอกสารอ้างอิง

[1] หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์. ‘สมศักดิ์’ อ้างตัวเลขหลังปลดล็อกกัญชา 2 ปีใช้เงินรักษาผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นล้าน ชง ป.ป.ส.ดึงกลับเป็นยาเสพติด. เผยแพร่: 1 มิ.ย. 2567 
https://mgronline.com/politics/detail/9670000047094

[2] หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์. เปิดผลวิจัยผู้ป่วยอาการแทรกซ้อนจากการใช้กัญชาในกาฬสินธุ์ พบใช้กัญชาจริงเพียงร้อยละ 16-40 บางส่วนอ้างกัญชาเพื่อเลี่ยงกฎหมาย. เผยแพร่: 5 มิ.ย. 2567
https://mgronline.com/qol/detail/9670000048294

[3] สำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ข้มูลตัวชี้วัดสังคม.
https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=PageSocial

[4] Statista. Import value of pharmaceutical and medical supplies in Thailand from 2014 to 2023. [Accessed 9 Jan 2023]
https://www.statista.com/statistics/1196460/thailand-drug-and-medical-supply-imports/

[5] ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์. ข้อเสนอทางนโยบาย: มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา/กัญชา. เอกสารประกอบการนำเสนอในที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด. วันที่ 17 พฤษภาคม 2567.
https://tinyurl.com/ybzd32py

[6] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565.

[7] ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์. การให้คนไทยได้ปลูกกัญชา คือ การใส่เงินในประเป๋าประชาชน อย่างน้อย 40,000 ล้านบาทต่อปี. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์. เผยแพร่: 17 ก.พ. 2566.
https://mgronline.com/qol/detail/9660000015845

[8] หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์. หมอปัตพงษ์เผยสถิติปี 64-66 ช่วงปลดล็อกกัญชา คนไทยป่วยน้อยลง เข้า รพ. ลดเหลือ 26.7 ล้านครั้ง ประหยัด 1.9 หมื่นล้าน. เผยแพร่: 13 มิ.ย. 2567
https://mgronline.com/politics/detail/9670000050704

[9] ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. วันที่ 19 พฤษภาคม 2567.
https://nidapoll.nida.ac.th/data/survey/uploads/FILE-1715940396757.pdf

[10] กรมราชทัณฑ์. รายงานติดตามสถานการณ์กรมราชทัณฑ์. ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2567.
http://www.correct.go.th/stathomepage/


กำลังโหลดความคิดเห็น