xs
xsm
sm
md
lg

การให้คนไทยได้ปลูกกัญชา คือ การใส่เงินในประเป๋าประชาชน อย่างน้อย 40,000 ล้านบาทต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์
หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา (ร่าง) พรบ.กัญชากัญชง

การแก้กฎหมายยาเสพติด ทำให้กัญชาที่เคยถูกนำไปขังคุกนานถึง 40 ปี ได้รับอิสรภาพออกมารับใช้คนไทยได้อีกครั้ง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากพืชกัญชามีมูลค่าสูงมาก ทั้งในด้านการลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดยาเสพติด สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์นานาชนิด สร้างงานหลายแสนตำแหน่ง ลดปัญหาสังคมอันเกิดจากเอาคนไปขังคุกทั้งๆที่ไม่ได้ก่ออาชญากรรมใดๆ ดังนั้น คนไทย “ทุกคน”ควรช่วยกันปกปักษ์รักษาสิทธิ์อันชอบธรรมของตนในการได้ประโยชน์จากกัญชาอย่างถ้วนหน้า

กัญชาช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ:
สำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2563 ค่าใช้ด้านยาและเวชภัณฑ์ที่ประชาชนคนไทยใช้จ่ายต่อปีสูงถึง 198,764 ล้านบาท [1]

จากการสำรวจของศาสตราจารย์สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ เมื่อปี พ.ศ. 2564 พบว่า คนที่ใช้กัญชาสามารถ “เลิกใช้” ยาแผนปัจจุบันได้ ร้อยละ 31.7 [2]

ดังนั้นถ้าคนไทย “ทั้งประเทศ” เข้าถึงกัญชารักษาโรค และถ้าประมาณการณ์ว่ามูลค่ายาแผนปัจจุบันที่ประชาชน “เลิกใช้” คิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายด้านยาต่อปี จะคำนวณเป็นมูลค่ายาได้เท่ากับ 39,753 ล้านบาท หรือเกือบสี่หมื่นล้านบาทต่อปี

แน่นอนว่าตัวเลขนี้คือ การสูญเสียรายได้ของธุรกิจยาแผนปัจจุบันไปให้กับผลิตภัณฑ์กัญชา

และถ้าประชาชนสามารถปลูกเอาไว้ใช้เองได้ นี่คือ การเพิ่มรายได้ทางอ้อมใส่กระเป๋าประชาชน

ที่ผ่านมารัฐบาลกู้เงินมาใช้จ่ายเงินในโครงการ “คนละครึ่ง” ไปแล้ว คิดเป็นมูลค่า 234,500 ล้านบาทในรอบ 2 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 117,250 ล้านบาท [3]


ดังนั้นการให้คนไทย “ปลูกกัญชา” ไว้ใช้เองได้ คือ การใส่เงินในกระเป๋าประชาชน จำนวน 40,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 34 หรือ หนึ่งในสาม ของเงินที่รัฐบาลใช้ในโครงการ “คนละครึ่ง” โดยที่รัฐบาลไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเองเลยสักบาท

ทั้งนี้ยังไม่นับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่น่าจะประหยัดได้ จากสรรพคุณด้าน “การป้องกันโรค” ของกัญชา

กัญชาช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการบำบัดผู้ติดยาเสพติด:
หลังจากมีการแก้กฎหมายกัญชาและกระท่อมในประเทศไทย พบว่าสถิติคนมารับการบำบัดยาเสพติดในภาพรวมในปี พ.ศ. 2565 “ลดลง” เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ.2562 คือ ลดลง รวม 138,163 ราย [4]

จากการศึกษา พบว่า ค่าใช้จ่ายในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด เฉลี่ยเท่ากับ 55,913 บาทต่อราย [5] ดังนั้นรัฐบาลจึงสามารถประหยัด “ค่าบำบัดรักษา” ผู้ติดยาเสพติดได้ อย่างน้อย 7,725 ล้านบาท

ทั้งนี้ยังไม่ได้รวม “ค่าเสียโอกาส” ของผู้รับการบำบัดและของสมาชิกในครอบครัว ตลอดจนค่าใช้จ่ายในกระบวนยุติธรรม ที่ประหยัดได้

กัญชากัญชงช่วยสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์นานาชนิด:
ประชาชนและภาคธุรกิจมีโอกาสสร้างรายได้จาก “ผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง” อีกนานานับประการ อาทิเช่น กัญชง สามารถนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้อย่างน้อย 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) เครื่องดื่ม 2) อาหาร 3) ยาและอาหารเสริม 4) เครื่องแต่งกาย และ 5) ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ซึ่งสำนักวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยาคาดการณ์ว่า มูลค่าการตลาด ของกัญชงจะเติบโตถึง 15,770 ล้านบาทในปี พ.ศ.2568 [6]


นอกจากจะเป็นอาหารคนได้แล้ว ยังนำไปทำเป็น “อาหารสัตว์” ได้ด้วย เพราะเมล็ดกัญชงมีโปรตีนสูง มีกรดอะมิโน มากถึง 17 ชนิด มีกรดไขมันดี โอเมก้าสาม เมื่อนำมาทำเป็นอาหารสัตว์จะทำให้สัตว์มีสุขภาพดี สามารถนำมาทดแทนการนำเข้า “ถั่วเหลือง” ซึ่งเป็นพืชตัดแต่งพันธุกรรมที่มักจะใช้ “ยาฆ่าหญ้าอันตราย” ในกระบวนการปลูก ในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท [7] ดังนั้น ถ้าทดแทนได้เพียงร้อยละ 20 จะมีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ยังไม่นับศักยภาพของกัญชากัญชงในการนำไปพัฒนาเป็น “ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง” หลายประเภท [8] และการสกัดเป็น “น้ำมันเชื้อเพลิง” ที่ใช้ในเครื่องยนต์ได้ [9]

กัญชาช่วยส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว:
จากบทเรียนของสหรัฐอเมริกา พบว่า เกิดปรากฏการณ์อพยพโยกย้ายของประชาชน (cannabis refugee) จากมลรัฐที่กัญชายังผิดกฎหมาย ไปยังมลรัฐที่กัญชาถูกกฎหมาย เป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อให้ได้ยากัญชามารักษาตนเองและมาแบบนักท่องเที่ยว อาทิเช่น เมื่อมลรัฐโคโลราโดแก้กฎหมายกัญชา ทำให้มีคนเข้ามาพักโรงแรมเพิ่มขึ้นในช่วงแรก 51,000 ห้อง และเมื่อแก้กฎหมายกัญชาอีกครั้ง จำนวนห้องพักโรงแรมเพิ่มขึ้นไปอีก ถึง 120,000 ห้องต่อเดือน [10]

อุตสาหกรรมกัญชาของประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างงานได้ถึง 321,000 ตำแหน่ง และแม้จะเจอกับภาวะวิกฤตโรคระบาดโควิด ในปี พ.ศ. 2564 แต่การจ้างงานกลับเพิ่มขึ้น ถึง 77,300 ตำแหน่ง [11]

ทำให้ผลการสำรวจ เมื่อปีที่แล้ว พบว่า คนอเมริกันจำนวนมากถึงร้อยละ 90 เห็นว่า ควรแก้กฎหมายให้การปลูกและใช้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย [12]

เพราะทุกฝ่ายมองเห็น “ความจริง” เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของกัญชากัญชงที่ปรากฏอย่างชัดแจ้ง รวมทั้งมองเห็น “ผลกระทบด้านลบทางสังคม” จากการบัญญัติให้กัญชาเป็น “ยาเสพติด” ในช่วงที่ผ่านมา ที่เอาคนไปขังคุก ลิดรอนเสรีภาพของบุคคล ทั้งๆที่ไม่ได้ก่ออาชญากรรมใดๆ

ข้อคิดปิดท้าย:
การแก้กฎหมายยาเสพติด ทำให้กัญชา “มีอิสรภาพ” ออกมารับใช้คนไทยได้เต็มศักยภาพอีกครั้ง เกิดผลประโยชน์ทางสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม มากมายมหาศาล แน่นอนว่าจะมีคนบางส่วนที่ “เสียประโยชน์” ออกมาคัดค้าน และปล่อยข่าวทำลายชื่อเสียงของกัญชาหลายรูปแบบ [13]

คนที่คัดค้านเหล่านี้ บางส่วนก็ “แอบใช้” กัญชาอยู่ ไม่บอกใคร

จึงเป็นสิ่งที่คนไทย “ทุกคน” ควรจะพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ “อย่างรอบด้าน” พร้อมทั้งช่วยกันปกปักษ์รักษาสิทธิ์อันชอบธรรมของตนในการ “ปลูก” และ “ใช้ประโยชน์” จากกัญชาอย่างถ้วนหน้า

และอย่าให้ใคร “ปล้น” ไปอีก !

เอกสารอ้างอิง:
[1] สำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ข้มูลตัวชี้วัดสังคม.https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=PageSocial

[2] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565

[3] หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 2 ปีรัฐอัด “คนละครึ่ง” 5 เฟส 2.3 แสนล้าน. 28 ก.ค. 2565.
https://www.bangkokbiznews.com/business/1017648

[4] ฐานข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข, 27 ธันวาคม 2565

[5] ขจรศักดิ์ แสนสุภา, มานพ คณะโต, พรหมพิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง (2560). วารสารการพัฒนาสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม - กันยายน 2560. 435-453.

[6] วิจัยกรุงศรี. กัญชง: พืชเศรษฐกิจใหม่ โอกาสและความท้าทาย. วันที่ 2 กรกฎาคม 2564.
https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/hemp-2021

[7] กรมปศุสัตว์ ขยายกัญชง กัญชา และกระท่อม สู่ธุรกิจอาหารสัตว์ 31 ตุลาคม 2564
https://dld.go.th/th/index.php/th/newsflash/341-news-hotissue/24181-hotissue-25641031-1

[8] Sylvie Prétot, Florence Collet, Charles Garnier. Life cycle assessment of a hemp concrete wall: Impact of thickness and coating. Building and Environment. 2014;72C:223-231.
https://doi.org/10.1016/j.buildenv.2013.11.010

[9] Zeki Yilbaşi et al. The industrial-grade hemp (Cannabis sativa L.) seed oil biodiesel application in a diesel engine: combustion, harmful pollutants, and performance characteristics. Science and Technology for Energy Transition. 2022;77:15.
https://www.stet-review.org/articles/stet/full_html/2022/01/stet210189/stet210189.html

[10] Drift. Legal Marijuana and Its Impact on Tourism.
https://drifttravel.com/legal-marijuana-and-its-impact-on-tourism/

[11] Kyle Jaeger. Marijuana Industry Sees Record Jobs Gains In 2020 Despite Pandemic, New Report Shows. Marijuana Moment. February 16th, 2021.
https://www.marijuanamoment.net/marijuana-industry-sees-record-jobs-gains-in-2020-despite-pandemic-new-report-shows/

[12] Ted Van Green. Americans overwhelmingly say marijuana should be legal for medical or recreational use. November 22, 2022. Pew Research Center.
https://www.pewresearch.org/fact-tank/2022/11/22/americans-overwhelmingly-say-marijuana-should-be-legal-for-medical-or-recreational-use

[13] ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์. “หมอปัตพงษ์” เตือนประชาชนระวังอันตรายจากกัญชาสังเคราะห์.ผู้จัดการออนไลน์. เผยแพร่: 26 ธันวาคม พ.ศ. 2565.
https://mgronline.com/qol/detail/9650000122714


กำลังโหลดความคิดเห็น