ภาคีคนรักสัตว์ บุกสภา ทวงถามความช่วยเหลือ “พลายประตูผา-พลายศรีณรงค์” ที่ศรีลังกา พร้อมขอสภาตั้งคณะทำงานหวังแก้กฎหมายพิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์-ป้องกันทารุณกรรม
วันนี้ (17 ก.ค.) ที่รัฐสภา ภาคีคนรักสัตว์ นำโดย นายโรเจอร์ โลหนันทน์ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย น.ส.แสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือถึง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่หนึ่ง เพื่อขอสภา พิจารณาตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาสวัสดิภาพภาพสัตว์ในประเทศไทย และยื่นหนังสือต่อ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ติดตามทวงถาม ชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของช้างไทยในต่างแดน
โดยภาคีคนรักสัตว์ ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นในหนังสือที่ยื่น คือ ในกรณีส่งช้างไทยไปต่างแดนนั้น พบการกระทำที่เป็นการทารุณกรรมช้างในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น จึงขอให้ กมธ.การที่ดินช่วยติดตาม โดยมีรายละเอียดข้อเรียกร้อง คือ ในรอบ 30 ปี มีจำนวนช้างไทยส่งไปต่างประเทศกี่เชือก และประเทศใดบ้าง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของช้างหลังจากที่ส่งไปหรือไม่อย่างไร
“การส่งมอบช้างไทย โดยทางหน่วยงานรัฐอ้างว่า เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไข ข้อบังคับในการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของทูตช้างเหล่านั้นหรือไม่ โดยในรอบหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทย ได้ส่งช้างไปในโครงการแลกเปลี่ยนสัตว์ การยืมช้างไปเพื่อการศึกษาวิจัยนั้น ในปัจจุบันช้างเหล่านั้นได้ถูกนำกลับมาบ้างหรือไม่ ล่าสุด หน่วยงานได้ให้ความช่วยเหลือพลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ ที่ประเทศศรีลังกา หรือไม่” ภาคีคนรักสัตว์ ระบุ
ภาคีคนรักสัตว์ ยังระบุถึงความต้องการให้สภาตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาสวัสดิภาพสัตว์นั้น เพื่อให้มีคณะทำงานเพื่อดูแลปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทยโดยตรง โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการ หรืออนุกรรมาธิการที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ ทำหน้าที่พิจารณาปัญหาสัตว์ในประเทศไทย ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด สัตว์เศรษฐกิจในฟาร์มปศุสัตว์ สัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ป่า และสัตว์นำเข้าส่งออก สัตว์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร เช่น การใช้ลิงเก็บมะพร้าว เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์
“ควรจัดตั้งหน่วยงานที่ทำงานโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เช่น หน่วยตำรวจปราบปรามและช่วยเหลือสัตว์ จัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือและกู้ภัยสัตว์ รวมถึงให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2563 ในการดูแลรับผิดชอบสัตว์ในพื้นที่ นอกจากนั้น มีนโยบายเพื่อความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสัตว์ในประเทศระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ทั้งนี้ เพื่อให้งานการช่วยเหลือสัตว์เกิดความคล่องตัว ลดช่องว่าง และปัญหาความขัดแย้งของการทำงาน และทำให้งานการแก้ไขปัญหาสัตว์ในประเทศไทยเกิดความสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น” ภาคีคนรักสัตว์ ระบุ