มูลนิธิ The Hope Thailand เผยเรื่องราวสุดสะเทือนใจ หลังเข้าช่วยสุนัขถูกขังในตึกร้างโดยเจ้าของไม่เคยกลับมาให้อาหารเลยนับสิบปี ยันกรณีเข้าช่วยสุนัขเคสแบบนี้ต่อให้เจ้าของสถานที่ไม่อนุญาต ไม่ได้แปลว่าหมดหนทาง
วันนี้ (21 ม.ค.) เพจ “The Hope Thailand" ได้ออกมาเผยภาพพร้อมระบุข้อความว่า “จากวันนี้ ขอให้หนูใช้เวลาชีวิตที่เหลือให้มีความสุขที่สุดนะลูก "นวมินทร์" ปิดตำนานสุนัขติดตึกร้าง 10 ปีไม่เคยเห็นเดือนเห็นตะวัน ถูกขังไว้รอวันตาย นวมินทร์ 24
The Hope Thailand ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือเรื่องสุนัขถูกขังในตึกร้างโดยเจ้าของไม่เคยกลับมาให้อาหารเลยนับสิบปี ยังชีพด้วยอาหารที่น้องๆ ศูนย์ฮอนด้าพยายามสอดเข้าไปให้ที่ใต้ประตูเหล็กล็อกแน่น จึงได้ลงพื้นที่พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองสวัสดิภาพสัตว์ปศุสัตว์ สำนักงานเขตบึงกุ่ม สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร และได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บึงกุ่ม เข้ามาร่วมเป็นพยานในการช่วยเหลือครั้งนี้
โดยใช้อำนาจตามมาตรา 25 พระราชบัญญัติการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์บุกเข้าพื้นที่ไปช่วยชีวิตออกมา เมื่อช่วยออกมาได้พบว่าสุนัขเป็นสุนัขสูงอายุ สุขภาพปานกลาง และมีประชาชนติดต่อขอรับอุปการะแล้ว อยู่ย่านตลิ่งชัน จึงได้นำส่งไปยังบ้านที่ขอรับอุปการะพร้อมตรวจสอบความพร้อมทั้งหมด โดยตั้งชื่อน้องหมาตัวนี้ว่า "นวมินทร์" เป็นสุนัขเพศเมีย อายุราว 10 ปี
เมื่อไปถึงบ้านใหม่พบว่าบ้านมีความพร้อมดีเยี่ยม มีรั้วรอบขอบชิด มีบริเวณ และมีเพื่อนสุนัขอยู่ด้วยหนึ่งตัวเป็นลูกหมา และหลังจากนี้เมื่อน้องปรับตัวได้แล้วก็จะนำไปตรวจเลือดอย่างละเอียดหากพบว่ามีอาการป่วย ทาง The Hope ก็จะช่วยในส่วนของการรักษาต่อไป และจะมีการตรวจสอบติดตามตัวเจ้าของหากพบว่ามีเจตนาที่เข้าข่ายการปล่อยทิ้งหรือทารุณกรรม…ก็จะดำเนินคดีถึงที่สุด
ก่อนจาก อยากฝากให้เคสนี้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับอันตรายของประเทศนี้ #กรณีที่เจ้าของสถานที่ไม่ยินยอมให้เข้าไปช่วยหรือติดต่อเจ้าของสถานที่ไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าหมดหนทางแล้วต้องปล่อยให้สัตว์ตายโดยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ
ผู้ที่จะเข้าไปช่วยขอให้ปฏิบัติดังนี้
1. ประสานงานมูลนิธิองค์กรที่มีความรู้ด้านกฎหมาย
2. แจ้งเหตุไปยังกองสวัสดิภาพสัตว์สำนักงานปศุสัตว์
3. ในการลงพื้นที่ช่วยให้ประสานสำนักงานเขตหรือเทศบาลในพื้นที่เพื่อมาร่วมเป็นพยาน
4. ในการลงพื้นที่ช่วยให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อมาร่วมเป็นพยานและให้มีการบันทึกทุกรายละเอียดเป็นภาพเคลื่อนไหวไว้ทั้งหมด
5. หลังการเข้าช่วยเหลือเสร็จให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อไว้เป็นหลักฐานปกป้องกรณีที่คู่กรณีไม่ประสงค์ดีต้องการดำเนินคดี
การเข้าช่วยจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติซึ่งหมายถึงเจ้าพนักงานปศุสัตว์ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 พระราชบัญญัติการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์เพื่อเข้าช่วยชีวิตสัตว์ในกรณีวิกฤตได้ !!
อย่ากลัวที่จะช่วยชีวิตสัตว์บนความถูกต้องครับ ที่อยากฝากไว้อีกเรื่องคือ การกระทำใดๆ ที่ขัดขวางการเข้าช่วยชีวิตโดยเจตนา ถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีโทษอาญา และหากพิสูจน์เจตนาในการขัดขวางได้ก็อาจจะเข้าในส่วนของทารุณกรรมสัตว์อีกคดีหนึ่ง"