กกต.ลากยาว เลือก ส.ว.ระดับประเทศข้ามวัน คาด การนับคะแนนจะแล้วเสร็จราวๆ 02.00 น. นัดแถลงภาพรวม 27 มิ.ย.นี้ เบื้องต้นเปิดหีบ พบหลายใบลงคะแนนไม่ครบ-ไม่ลงคะแนนให้ใคร
วันนี้ (26 มิ.ย.) เวลา 22.30 น. ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม อาคาร 4 เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระดับประเทศ เริ่มตั้งแต่การรายงานตัวเมื่อเวลา 08.00-09.00 น. จากนั้นมีการลงคะแนนเลือกรอบแรกเวลา 09.30 น. แล้วเสร็จจนได้ผู้ผ่านเข้ารอบสอง หรือรอบไขว้ จาก 20 กลุ่ม กลุ่มละ 40 คน รวมทั้งหมด 800 คน มีการจับสลากแบ่งสายเป็น 4 สาย ประกอบด้วย ก-ข-ค-ง สายละ 5 กลุ่มอาชีพ ดังนี้ สาย ก. ประกอบด้วย กลุ่มที่ 7, 11, 13, 16, 20 สาย ข. ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1, 4, 6, 17, 18 สาย ค. ประกอบด้วย กลุ่มที่ 5, 8, 9, 12, 15 และสาย ง. ประกอบด้วย กลุ่มที่ 2, 3, 10, 14, 19 จากนั้น และเริ่มลงคะแนนเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. และเริ่มนับคะแนนเมื่อเวลา 21.40 น.
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า กระบวนการนับคะแนนจะใช้เวลานานกว่ารอบแรก 3 เท่า แม้ว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนจะน้อยกว่า เนื่องจากต้องมีความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบ ขานคะแนน ขีดคะแนน โดยผู้สมัคร 1 คน ได้รับบัตรลงคะแนน 4 ใบ ใน 1 ใบ จะต้องกรอกหมายเลขผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน 5 หมายเลข ดังนั้น เท่ากับว่า ผู้สมัคร 1 คน จะต้องลงคะแนน 20 หมายเลข แต่ต้องไม่เลือกตัวเองและผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งการเลือกรอบแรกใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมง ดังนั้น ในรอบที่สองนี้ จึงคาดว่า การนับคะแนนจะแล้วเสร็จราวๆ 02.00 น. ยังไม่รวมว่า หากมีผู้สมัครทักท้วงระหว่างการนับคะแนน ก็จะใช้เวลามากกว่านี้ และเมื่อนับคะแนนเสร็จจะมีการติดประกาศที่หน้าหน่วยเลือก ส.ว.
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสำนักงาน กกต. ได้แจ้งว่า จะมีการแถลงสรุปภาพรวมการเลือกสว.ระดับประเทศทั้งหมด ในวันที่ 27 มิ.ย. นี้ โดยจะประสานแจ้งเวลาในภายหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการขาน-ขีดคะแนน พบว่า มีบัตรออกเสียงลงคะแนนจำนวนหลายใบที่ผู้สมัครไม่ได้ออกเสียงเลือกครบ 5 หมายเลข รวมถึงมีบัตรจำนวนหนึ่งที่ไม่ออกเสียงเลือกผู้สมัครรายใดเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียดกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง กลุ่มที่ 2 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลุ่ม 3 กลุ่มการศึกษา กลุ่ม 4 สาธารณสุข กลุ่มที่ 5 อาชีพทำนา ทำไร่ กลุ่มที่ 6 อาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง กลุ่มที่ 7 กลุ่มลูกจ้าง แรงงาน กลุ่มที่ 8 อาชีพด้านสิ่งแวดล้อมฯ กลุ่มที่ 9 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มที่ 10 กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามข้อ 9 กลุ่มที่ 11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่วย ผู้ประกอบกิจการอื่น หรือพนักงานโรงแรม กลุ่ม 12 กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม กลุ่มที่ 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด่านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม กลุ่มที่ 14 กลุ่มสตรี กลุ่มที่ 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น กลุ่มที่ 16 กลุ่มศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การแสดง และบันเทิง กีฬา กลุ่มที่ 17 กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม กลุ่ม 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ กลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆ .