xs
xsm
sm
md
lg

“จุลพันธ์” ย้ำแจกเงินดิจิทัลไม่เบียดงบอื่น กู้มากยอมขาดทุนเติมเม็ดเงินให้ประเทศ โบ้ยมรดก รบ.ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมช.คลัง แจง โครงการแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ไม่เบียดงบอื่น ย้ำงบ 68 กู้มาก เหตุรัฐบาลยอมขาดทุน เพื่อเติมเม็ดเงินให้ประเทศ อ้างต้องยอมรับความจริงรับมรดกจาก รบ.ก่อน



วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระแรก ถึงโครงการเติมเงินหมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ตามที่รับฟังพบว่าวาทะทำทีว่า เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ เป็นวาทกรรมที่หนักไป ทั้งนี้ ข้อวิจารณ์โครงการดังกล่าวเป็นเรื่องมุมมองที่แตกต่างกัน ทั้งนี้รัฐบาลมองว่าการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควรทำก่อน เพื่อให้คนไทยมีกำลังต่อยอด ทั้งการบริโภค การลงทุนในอาชีพ สร้างสภาพคล่อง

“รัฐบาลไม่ใช่คิดไปทำไป แต่ยอมรับความจริงว่า เรารับมรดกมาจากรัฐบาลก่อนหน้า ที่มีภาวะเศรษฐกิจหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ดังนั้น การบริหารจัดการต้องทำให้เดินหน้าต่อไป หากบอกว่าเราคิดไปทำไป จะแย้งกับเรื่องเสียหน้าไม่ได้ ผมเป็นคนทำโครงการนี้ตั้งแต่ต้น ยอมรับมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อเสนอแนะเพื่อเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง” นายจุลพันธ์ ชี้แจง

นายจุลพันธ์ ชี้แจงด้วยว่า นโยบายเงินดิจิทัลนั้น เป็นการคิดนอกกรอบ เพื่อให้โครงการนี้วางรากฐาน และวางระบบการเงิน เช่น การโอนถ่ายเงินกลางของรัฐให้ประชาชน ผ่านแอปพลิเคชันกลางให้บริการประชาชน เป็นโครงการกระตุ้นให้คน 50 ล้านคน ลงทะเบียนผ่านมาตรฐานของรัฐ เพื่อให้มีบัตรประจำตัวดิจิทัล เพื่อใช้ทำธุรกรรมของรัฐได้ทุกประเภท

รมช.คลัง ชี้แจงด้วยว่า ยอมรับว่า ปีนี้กู้เงินเพิ่มขึ้น แต่เป็นการกู้ชั่วคราวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากขาดดุลเต็มเพดาน เมื่อมีวิกฤตจะไม่สามารถปรับตัวรองรับได้ ถือว่าเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ดี ตามที่ระบุว่ามีเม็ดเงิน 1.6 แสนล้านบาท ที่ถูกตัดลด ข้อเท็จจริงไม่มี ทั้งนี้ ในข้อเท็จจริงมีคำขอเข้ามาถึง 6.5 ล้านล้านบาท แต่ด้วยการบริหารจัดการภาครัฐ สำนักงบประมาณเรียงลำดับความสำคัญ จึงได้ 3.7 ล้านล้านาท เป็นการจัดสรรงบตามปกติ ไม่มีหน่วยงานเบียดบังจากโครงการเติมเงินหมื่นบาท ทั้งนี้ โครงการนี้ยอมขาดดุลเพิ่มเติม เพื่อสร้างเม็ดเงินใหม่ ให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นกลไกที่ยืนยันว่าเม็ดเงินมีประสิทธิภาพหมุนเวียนเศรษฐกิจหลายรอบ เพื่อให้เกิดประโชน์กับประชาชนมากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น