ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฯ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยแบบพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
วันนี้ (29 พ.ค.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยแบบพินัยกรรม ตามมาตรา 1672 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ นั้น
นายคารม กล่าวว่า เพื่อให้กฎหมายมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมการทำพินัยกรรม การทำหนังสือแสดงเจตนาตัดหรือถอนการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกหรือสละมรดก และยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมการรับมอบการเก็บรักษาเอกสาร ค่าคัดกรองและรับรองสำเนา ค่าป่วยการพยาน รวมทั้งล่ามที่อำเภอจัดหาให้ เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับพินัยกรรมหรือการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพินัยกรรมมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเพื่อเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทั่วไป
นายคารม กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้ 1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2. กำหนดนิยามคำว่า “ที่ว่าการอำเภอ” “อำเภอ” และ “นายอำเภอ” 3. กำหนดเอกสารหลักฐานที่ผู้ประสงค์ทำพินัยกรรมต้องนำมาแสดงต่อนายอำเภอ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารสินทรัพย์ที่จะทำพินัยกรรม หนังสือแสดงเจตนาจัดการทรัพย์มรดกของผู้ทำพินัยกรรม พยานบุคคลอย่างน้อย 2 คน เป็นต้น (เดิมกำหนดให้ทำคำร้องแสดงความจำนงตามแบบของเจ้าพนักงานยื่นต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ) 4. กรณีมีเหตุสงสัยว่าผู้ขอทำพินัยกรรมเป็นบุคคลที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมได้ (อายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นบุคคลวิกลจริต) นายอำเภอสามารถเรียกตรวจเอกสารหรือสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมได้เท่าที่จำเป็นและให้บันทึกเหตุสงสัยไว้ในพินัยกรรมเพื่อเป็นหลักฐานด้วย (เดิมกำหนดให้กรมการอำเภอสอบสวนเหตุการณ์และรายละเอียดอันอาจเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาถึงความสามารถตามกฎหมายผู้นั้นโดยทำเป็นบันทึกประกอบด้วย) และ 5. กำหนดแบบพิมพ์แนบท้ายร่างกฎกระทรวงสำหรับจดทะเบียนพินัยกรรม โดยให้มีข้อความตามที่กำหนด เช่น วัน เดือน ปีที่ทำพินัยกรรมหรือที่นำพินัยกรรมมาจดทะเบียน ชื่อตัว - ชื่อสกุล และที่อยู่ของผู้ทำพินัยกรรม วัน เดือน ปี ที่นายอำเภอส่งมอบพินัยกรรม เป็นต้น และอาจทำในรูปแบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบคอมพิวเตอร์ด้วยก็ได้
สำหรับการทำพินัยกรรมด้วยวาจาให้นำหลักเกณฑ์การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองหรือเอกสารลับมาบังคับใช้โดยอนุโลม และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการทำพินัยกรรม ดังนี้ 1) ค่าทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองในที่ว่าการอำเภอ ฉบับละ 250 บาท สำเนาคู่ฉบับ ๆ ละ 50 บาท 2) ค่าทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนอกที่ว่าการอำเภอ ฉบับละ 500 บาท สำเนาคู่ฉบับ ๆ ละ 50 บาท 3) ค่าทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับ ฉบับละ 250 บาท 4) ค่าทำหนังสือแสดงเจตนาตัด หรือถอนการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกหรือสละมรดก ฉบับละ 100 บาท 5) ค่ารับมอบเก็บรักษาเอกสาร ฉบับละ 20 บาท ยกเลิกค่าธรรมเนียม 6) ค่าคัดและรับรองสำเนาพินัยกรรม ฉบับละ 20 บาท ยกเลิกค่าธรรมเนียม และ 7) ค่าป่วยการพยานและล่ามที่ทางอำเภอจัดหา ไม่เกินวันละ 50 บาท ยกเลิกค่าธรรมเนียม