xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้ว ศาล รธน.ถก 3 ประเด็นร้อน ยุบก้าวไกล-ถอดถอนนายกฯ-4 มาตรา พ.ร.ป.เลือก ส.ว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มประชุมประจำสัปดาห์ พิจารณา 3 ประเด็นร้อน ชี้ขาด 4 มาตรากฎหมายเลือก ส.ว. นัดพิจารณาคดียื่นถอดนายกฯ-ยุบพรรค “ก้าวไกล” ล้มล้างการปกครองฯ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมประจำสัปดาห์เพื่อพิจารณาคำร้องต่างๆ โดยสัปดาห์นี้ขยับวันประชุมประจำสัปดาห์จากวันพุธ มาเป็นวันอังคารแทน มีวาระที่น่าสนใจ อาทิ กรณีประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องสมาชิกวุฒิสภา 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) หรือไม่ กรณีนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนในความผิดฐานละเมิดศาล

นอกจากนี้ ยังมีวาระการพิจารณากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคภายในกำหนด 10 ปี โดยกล่าวหามีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยคำร้องแรก ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งให้คู่กรณี คือ สมาชิก 40 ส.ว. ในฐานะผู้ร้อง และนายเศรษฐา ในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ได้ดำเนินการยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้ว ส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้เฉพาะแค่ กกต.ในฐานะผู้ร้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเท่านั้น ซึ่งทางกกต.ได้ดำเนินการส่งเอกสารตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุม ปรึกษาหารือ และลงมติว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ทั้ง 4 มาตราดังกล่าวขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน และสั่งให้กกต. จัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนดและยื่นต่อศาลภายใน 5 วัน และศาลเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ

อย่างไรก็ตาม การประชุมวันเดียวกันนี้ เป็นการประชุมตามปกติ จึงไม่มีการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย โดยหลังลงมติเสร็จสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญก็จะเผยแพร่ผลการพิจารณาผ่านทางเอกสารข่าวแจ้งสื่อมวลชนให้ได้รับทราบ


กำลังโหลดความคิดเห็น