xs
xsm
sm
md
lg

สธ.วาง 6 มาตรการรับอุทกภัย 35 จว.เสี่ยง จัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เกณิกา” เผย กระทรวงสาธารณสุข วาง 6 มาตรการ เตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย 35 จังหวัดเสี่ยง พร้อมจัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

วันนี้ (17 มิ.ย.) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงให้เตรียมการรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในปีนี้ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 10-20 โดยจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงในกลางเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคม และช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยมีพื้นที่เสี่ยง 35 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี ระยอง ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า ข้อมูลจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ตามแนวทาง 6 มาตรการ ดังนี้ 1. จัดทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) และทีมพิเศษฉุกเฉินด้านสุขภาพ พฉส. (SHERT) เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 2. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) 3. เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งทีมปฏิบัติการ อาคารสถานที่และครุภัณฑ์ สำรองยา และเวชภัณฑ์ และจัดยาชุดช่วยเหลือน้ำท่วมตามความเสี่ยงของพื้นที่ ตั้งแต่พื้นที่เฝ้าระวัง 500 ชุด จนถึงพื้นที่เสี่ยงสูงมาก 4,000 ชุด และออกให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเปราะบาง รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบ 4. จัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างเกิดอุทกภัย 5. ประเมินผลกระทบและดำเนินการฟื้นฟูหลังน้ำลด และ 6. รายงานเหตุการณ์ฉุกเฉินต่อผู้บริหารทราบทันทีผ่านระบบ DCIRs

“สถานการณ์น้ำท่วมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่เดิมๆ ทุกปี ในระยะฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ประมาณ 1 เดือนนี้ รัฐบาลจึงขอให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เร่งเตรียมการรับมือตามแนวทางที่กำหนดโดยส่วนกลางได้เตรียมพร้อมให้การสนับสนุนพื้นที่ไว้แล้ว”


กำลังโหลดความคิดเห็น