โฆษก กมธ.องค์กรอิสระ วุฒิสภา รับมีข้อเสนอให้ กกต. ใช้ ม.59 ของ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. พิจารณาเลื่อนเลือก ส.ว. หลังเจอปัญหาถูกร้องคุณสมบัติผู้สมัคร-ศาล รธน.
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายกษิดิศ อาชวคุณ ส.ว. ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา เปิดเผยถึงการประชุม กมธ. วานนี้ (6 มิ.ย.) ซึ่งมีประเด็นพิจารณากระบวนการเลือก ส.ว.ที่มีปัญหา ซึ่งเชิญ นายแสวง บุญมี เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าร่วมประชุม ว่า การประชุมดังกล่าวช่วงแรกรับ แจ้งว่า นายแสวง จะเข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง แต่กลับแจ้งในเวลาต่อมาว่า ไม่สามารถมาได้ จึงส่งรองเลขาธิการ กกต. จำนวน 3 คน เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ กมธ.ได้สะท้อนประเด็นข้อห่วงใย โดยเฉพาะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การตรวจสอบคุณสมบัติ และมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา เช่น กรณีของผู้สมัคร ส.ว. กลุ่ม 4 ที่พบว่า มี อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) สมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาหาก อสม. เลือกพวกเดียวกันเอง แต่แพทย์ พยาบาล อาจเสียโอกาส ทั้งนี้รองเลขาธิการ กกต. ที่ร่วมประชุมได้แค่รับฟัง และ ขอบคุณ
นายกษิดิศ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้ซักในประเด็นที่เป็นมาตรการแก้ปัญหาเพิ่มเติม โดย นายกล้านรงค์ จันทิก ประธาน กมธ. ซักถามด้วยความห่วงใยกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของศาลปกครองกลางเรื่องที่เกี่ยวกับความขัดแย้งของกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่าจะพิจารณาในอีก 2-3 วัน
“กมธ.เห็นว่า เรื่องนี้ กกต. ควรพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน หากมีการประชุมในวันรุ่งขึ้น ควรพิจารณา แต่ทางรองเลขาธิการ กกต. บอกว่า จะมีประชุม แต่ไม่มีวาระเรื่องนี้ โดยทาง กมธ. ได้บออกไปว่า แม้ไม่มีในวาระควรหยิบยกมาพิจารณา เพราะเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งเป็นการแสดงเจตนาว่า กกต. ต้องการเร่งแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อลดข้อครหาด้วย” นายกษิดิศ กล่าว
โฆษก กมธ.กิจการองค์กรอิสระ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา กมธ. ที่เคยเป็นอดีตเลขาฯ กกต. ถามถึงการใช้มาตรการทางกฎหมาย ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว.) มาตรา 59 ที่ให้อำนาจ กกต. แก้ไขเปลี่ยน หรือยกเลิกการเลือกและสั่งให้ดำเนนิการเลือกใหม่ ก่อนการประกาศผลเลือก หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริต ทั้งนี้ ตัวแทน กกต. ที่ชี้แจงได้อ้างอิงถึงระเบียบของ กกต. ที่ออกมา ทำให้ กมธ.มองว่าขัดแย้งกับวิธีการทำงาน ซึ่งระเบียบนั้นมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายประกอบ
“มาตรา 59 นั้น เป็นอำนาจของ กกต.ที่ชัดเจน หากดำเนนิการไปแล้วเป็นปัญหา อาจกระทบต่อมาตรฐานได้ กมธ.ดูแล้วไม่สบายใจในภาพรวม ซึ่งกลไกของมาตรา 59 นั้น สามารถใช้ได้เลย ไม่ต้องรอถึงระดับระเทศ และในการประชุม กมธ.ได้ให้ความเห็นที่ชัดเจนว่าเมื่อมีเครื่องมือทางกฎหมายที่สามารถใช้ได้ ต้องนำไปใช้ ซึ่งฝากรองเลขาฯ กกต.ทั้ง 3 คนไปคุยกับ กกต. ให้ดี เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในฐานะที่เราเป็น ส.ว.อยู่ตอนนี้ บอกอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ทำได้แค่เป็นข้อเสนอ” โฆษก กมธ.กิจการองค์กรอิสระ กล่าว