รมต.สำนักนายกฯ ควง ผอ.สำนักพุทธฯ เปิดโต๊ะแถลง ยืนยันตรวจสอบพระไตรปิฎกโดยละเอียดทุกตัวอักษร ไม่มี “เชื่อมจิต” ซ้ำขัดหลักธรรมคุณ 6 ประการที่พระพุทธเจ้าเคยตรัส ลั่นพร้อมเป็นพยานให้ตำรวจดำเนินการทางกฎหมาย
วันนี้(17 พ.ค.) ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวกรณีเด็กเชื่อมจิต ร่วมกับ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
นายพิชิต กล่าวว่า ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ การแถลงในวันนี้จะถือเป็นหลักการ หากมีกรณีการแอบอ้างแอบพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องใช้สติปัญญารับฟังแต่จะนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาที่มีมากกว่า 2,700 ปี เพื่อให้สาธารณะเกิดความเข้าใจ
ด้านนายอินทพร กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวทางสำนักงานพระพุทธศาสนาได้ติดตามสถานการณ์มาตั้งแต่ต้น โดยกลุ่มงานคุ้มครองพระพุทธศาสนาได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ มีการขอคำปรึกษาจากมหาเถรสมาคม ขณะนี้ได้มีการได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบ กลั่นกรอง ข้อมูล ข่าวสาร และการกระทำอันอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา โดยมีนายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี เป็นประธาน
นายอินทพร กล่าวอีกว่า แม้ว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ไม่ได้มีอำนาจในการห้าม แต่ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งขณะนี้มีองค์กรภาคเอกชนยื่นเรื่องไปยังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาให้ความกระจ่างและข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ซึ่งในวันนี้จะนำผลหลังการตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าวรายงานต่อมหาเถรสมาคม ซึ่งจะมีแนวทางการดำเนินการต่อไป
ด้านนายบุญเชิด กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในพระไตรปิฎกในรายละเอียดทุกตัวอักษร พบว่าการเชื่อมจิตนั้นไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกแต่อย่างใด และยังขัดต่อหลักธรรมคุณ 6 ประการที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีดำรัสไว้ให้เราปฏิบัติ ซึ่งผู้ใดปฏิบัติก็จะรู้เอง ไม่ต้องเชื่อตามคำของผู้อื่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติไม่บรรลุก็จะเห็นไม่ได้ วิญญูชนต้องรู้ด้วยตนเอง ผู้อื่นไม่สามารถบอกเราให้เราเชื่อตามเขา แต่ให้ศึกษาและปฏิบัติเองรู้เองเท่านั้น
ส่วนคำกล่าวอ้างต่างๆ ของเด็ก เช่น เป็นพระอนาคามีกลับชาติมาเกิด เป็นลูกพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าเกลียดดอกไม้สีเหลือง นั้น นายบุญเชิดกล่าวว่า ขอให้นึกถึงว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นหลักแห่งความจริง และความรู้ เป็นศาสนาแห่งอิสระเสรีภาพ เป็นศาสนาอเทวนิยม
นายบุญเชิดกล่าวอีกว่า มีกลุ่มบุคคลความพยายามที่จะอ้างว่าในพระไตรปิฎกมีการเชื่อมจิตโดยพยายามเทียบเคียง ว่าสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้ตรัส สนทนาธรรมกับพระอรหันต์ตลอดข้ามวันข้ามคืน คำถามที่ตามมาก็คือว่าคนที่กล่าวอ้างว่าเชื่อมจิตนั้นเป็นอรหันต์หรือไม่
ส่วนการกระทำในลักษณะดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า เรื่องกฎหมายบ้านเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตำรวจที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ไว้ จะต้องมีการพิจารณาว่ามีใครเสียหายหรือไม่อย่างไร ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นองค์กรศึกษาปกป้องพระพุทธศาสนาไม่ให้เกิดการผิดเพี้ยนได้มายืนยันอย่างนี้แล้ว สิ่งที่แถลงพนักงานสอบสวนสามารถนำไปเป็นพยานหลักฐาน ส่วนใครจะเสียหายหรือไม่อะไรอย่างไรก็เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน ส่วนเด็กหรือครอบครัวกรมกิจการเด็กฯ ไม่ได้ละเลย มีการยกระดับแล้วขอยืนยันว่า ต่อไปองค์กรที่บังคับใช้กฎหมายจะเป็นผู้ตรวจสอบว่าใครเสียหาย ซึ่งไม่ได้อยู่ในภารกิจของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ด้านนายพิชิต กล่าวว่า ตนจะทำงานเชิงรุกหากใครอ้างภินิหารอีก ใน 7 วันสำนักพุทธฯ ต้องตอบให้ได้ เราพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเนื่องจากรัฐธรรมนูญมีผลคุ้มครองสิทธิ แต่เรื่องความเชื่อความศรัทธาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่วันนี้เป็นเรื่องการออกมายืนยันว่าเชื่อมจิตไม่มี หากพนักงานสอบสวนเชิญสำนักพุทธไปเป็นพยานก็พร้อมที่จะเป็นหนึ่งในองคาพยพที่พิสูจน์ความจริง แต่การบังคับใช้กฎหมาย ก็เป็นเรื่องของผู้บังคับใช้กฎหมายบ้านเมือง
ส่วนการยับยั้งการเผยแพร่คำสอนของเด็กเชื่อมจิตนั้น นายพิชิต กล่าวว่าตนพร้อมที่จะไปเรียนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อระงับยับยั้ง ในเมื่อวันนี้ ได้มีการแถลงความจริงทั้งหมดแล้วตนก็มั่นใจในสำนักงานพระพุทธศาสนา และมีความเชื่อว่า การเชื่อมจิตไม่มีอยู่จริง เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนายืนยันเช่นนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็ยืนยันตามนั้น
นายอินทพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาไม่มีอำนาจที่จะเรียกผู้ปกครองหรือเด็กมาชี้แจงทำความเข้าใจได้ แต่หากเป็นพระภิกษุสงฆ์ก็จะแจ้งคณะผู้ปกครองให้ดำเนินการ ที่ผ่านมาในพื้นที่มีการพยายามเจรจาทำความเข้าใจ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และอำนาจหน้าที่ไม่สามารถห้ามระงับยับยั้ง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเผยแพร่หลักคำสอนที่อาจจะคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งอำนาจจะต้องส่งต่อไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมของเถรสมาคมจะเป็นข้อยืนยันที่สามารถนำไปใช้ประกอบ