xs
xsm
sm
md
lg

เหตุให้พระมั่วสีกา : ศรัทธาจนงมงาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



ศรัทธาหรือความเชื่อคือ มูลเหตุจูงใจให้คนเข้าหาบุคคลหรือวัตถุที่มีเสียงเล่าลือ เสียงเล่าอ้างว่าเป็นผู้วิเศษหรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์มีเดช อันเป็นที่มาของการเข้าหาเพื่อบูชากราบไหว้ตามกระแสโลก หรือที่เรียกว่า โลกาธิปไตยคือ การทำตามคนหมู่มาก และศรัทธาแบบนี้ที่ทำให้เกิดความเลื่อมใสอุทิศกายและใจเพื่อสิ่งนั้น

ตามนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนาศรัทธามี 4 ประการคือ

1. รูปัปปมาณิกาคือ ศรัทธาในรูป

2. โฆสัปปมาณิกาคือ ศรัทธาในเสียง

3. ลูขัปปมาณิกาคือ ศรัทธาในสิ่งเศร้าหมอง

4. ธัมมัปปมาณิกาคือ ศรัทธาในธรรม

สีกาที่เข้าหาพระแล้วนำไปสู่การทำผิดศีลร่วมกันเกิดจากศรัทธา 2 ประการ ประการแรกกล่าวคือ ได้เห็นรูปร่างแล้วเกิดความนิยมชมชอบหรือได้ฟังเสียงแล้วเกิดความรู้สึก ทำนองเดียวกันครั้นได้เข้าใกล้มีความสนิทสนมกันมากขึ้น ฝ่ายสีกาก็สนทนาด้วยภาษาของคนเคย เปิดเผยเรื่องส่วนตัว คุยเล่น คุยหัว ไม่กลัวบาปกรรม ทำให้พระซึ่งเป็นเพียงสมมติสงฆ์ยังคงมีกิเลสลืมเพศภาวะของความเป็นนักบวช ปล่อยใจไปตามกระแสกิเลสจึงเกิดอาเพศทุศีลเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสในสิกขาบทที่ว่าด้วย การห้ามเกี้ยวพาราสี ถูกเนื้อต้องตัวไปจนถึงต้องอาบัติปาราชิก สิกขาบทที่ห้ามเสพเมถุนดังที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ

พระภิกษุทุศีลเกิดขึ้นบ่อยๆ จะป้องกันอย่างไรหรือจะปล่อยไปโดยยึดคำพังเพยที่ว่า “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์”

ก่อนที่จะตอบปัญหาข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปอ่าน และทำความเข้าใจกับพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าทรงตอบคำถามของพระกิมพิละที่ว่า เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมคำสอนตั้งอยู่นานไม่ได้ว่า “ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัท 4 ในพระธรรมวินัยนี้คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสนา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา และไม่เคารพซึ่งกันและกัน” นี่แลคือเหตุทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว

จากพุทธข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อม และดำรงอยู่ไม่ได้ก็คือ คนในศาสนานั่นเอง เข้าทำนองศัตรูของต้นไผ่ก็คือ มีดที่ทำด้วยต้นไผ่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือตัดต้นไผ่นั่นเอง

ในกรณีของพระมั่วสีกาก็ทำนองเดียวกัน ทั้งพระและสีกาถือได้ว่าเป็นคนวัด ดังนั้น การป้องกันก็จะต้องเริ่มจากวัดซึ่งสามารถดำเนินการได้ดังต่อไปนี้

1. สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงต่อการปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนา จะต้องลงพื้นที่ตรวจตราวัด และสำนักสงฆ์อย่างน้อยเดือนละครั้ง และหากพบว่าภิกษุในวัดหรือสำนักสงฆ์ใดมีความประพฤติผิดธรรม ผิดวินัยก็จะต้องรายงานให้สงฆ์ฝ่ายปกครองทราบ และดำเนินการตามพระวินัย

2. ถ้าสงฆ์ฝ่ายปกครองในพื้นที่ไม่ดำเนินการก็จะต้องรายงานต่อมหาเถรสมาคม จัดการตามพระวินัยและ พ.ร.บ.สงฆ์ต่อไป

แต่เท่าที่เป็นมาแล้วจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เรื่องอื้อฉาวในวงการสงฆ์ไม่ปรากฏว่าสำนักพุทธเข้าไปตรวจตราและแก้ปัญหา แต่ปล่อยให้เป็นข่าวก่อนแล้วค่อยเข้าไปดำเนินการ จึงมิใช่การป้องกันแต่เป็นการแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอกตลอดมา

ดังนั้น ต่อจากนี้ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ ก็เป็นหน้าที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปปฏิรูปสำนักพุทธให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้
นอกจากจะต้องปฏิรูปการปกครองสงฆ์แล้ว จะต้องปฏิรูปการศึกษาของสงฆ์ด้วย โดยเฉพาะวิธีการสอนและการวัดผลซึ่งในปัจจุบันค่อนข้างล้าหลัง และไม่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษา และนำมาปฏิบัติเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันมากกว่าที่มุ่งให้หลุดพ้น

ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาของนักธรรมตรี โท เอก ควรจะนำหลักธรรมคำสอนให้สอดคล้องต้องการเช่น เศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธอันได้แก่ โภควิภาค 4 คือการบริหารรายได้ โดยการแบ่งเป็น 4 ส่วน เป็นต้น

ส่วนการวัดผลไม่ควรเน้นการท่องจำเพื่อนำมาตอบ แต่ให้เน้นความเข้าใจ ดังนั้น ข้อสอนควรจะมีรูปแบบทั้งอัตนัย และปรนัย และการให้คะแนนควรคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือเป็นเกรด เฉกเช่นการศึกษาที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ในขณะที่ปรับปรุงการศึกษาแล้วควรจะได้ปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักคำสอนที่กำหนดไว้ในพระไตรปิฎก ไม่ควรปล่อยให้สอนกันตามอำเภอใจ จนดูแล้วไม่รู้ว่า อันไหนเป็นพุทธพจน์ และอันไหนเป็นมติของเกจิอาจารย์

แต่การจะปรับปรุงเปลี่ยนได้จะต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากฝ่ายศาสนจักร และอาณาจักร เฉกเช่นการทำสังคายนาในอดีต


กำลังโหลดความคิดเห็น