xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.สภาร่วมรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 35 ชี้ ต้องดำรงเจตนาญาติวีรชน “ปริญญา” หวัง รธน.เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วันนอร์” ร่วมรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535 ชี้ ต้องดำรงเจตนาญาติวีรชน หวังสังคมเดินหน้าสู่สันติ ไร้ขัดแย้ง ความรุนแรง “ปริญญา” หวังมีรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม-ไม่เกิดการนองเลือดอีก
วันนี้ (17 พ.ค.) ที่ อนุสรณ์สถาน พฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน ได้มีการจัดงาน รำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535 โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมวางพวงมาลารำลึกวีรชน นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, ญาติผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับผลกระทบ, นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ทั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา, นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ร่วมวางพวงมาลารำลึก

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ตัวแทนญาติวีรชน กล่าวว่า เจตนาที่สร้างอนุสาวรีย์ เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจทุกฝ่าย มีความอดทน สันติ ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน คือ สิ่งที่คณะกรรมการญาติวีรชน เรียกร้องมาตลอด ทั้งนี้ รัฐบาลที่ผ่านมา เป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ญาติวีรชนจึงไม่ยอมรับค่าชดเชย แต่เมื่อได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ญาติวีรชนพร้อมรับการชดใช้ ไม่ใช่การเยียวยา ขอย้ำถึงภารกิจหลักของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 คือ การต่อต้านรัฐประหาร ไม่ให้เกิดขึ้นอีก

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวว่า วันนี้ เมื่อ32 ปีที่แล้ว เป็นวันที่มีการพรากความรักความฝัน ความเชื่อมั่นความสุขในชีวิตของเรา พรากชีวิต ครอบครัวของผู้เป็นที่รักอิสรเสรีภาพอย่างไม่มีวันหวนคืน แม้ตนจะไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติพี่น้องกันแต่จากเหตุการณ์และการเสียสละที่เกิดขึ้นได้มีคุณูปการต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยอย่างปฎิเสธไม่ได้ และยังเป็นเครื่องเตือนสติว่าประชาธิปไตยยังต้องต่อสู้เพื่อก้าวต่อไป ตามเจตนารมณ์ของวีรชนของพวกเรา

ประธานรัฐสภา กล่าวอีกว่า จากประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าวันนั้น ได้ส่งต่อให้สังคมไทยมีการพัฒนาเติบโตขึ้นมาตั้งแต่การพยายามปฏิรูปการเมืองจนเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในความทรงจำ ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง รับรองสิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับเสรีประชาธิปไตยอย่างมีนัยยะสำคัญ และเป็นแม่แบบการมีส่วนร่วมของประชาชนเนื้อหาที่สะท้อนการยอมรับประชาชนหรือแท้จริง ซึ่งจะได้มีความพยายามในการมีรัฐธรรมนูญเช่นนี้อีกในในอนาคตที่จะสามารถทำได้ร่วมกัน

“ผลจากเหตุการณ์เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไม่เพียงแต่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ยังสามารถทำให้มีกฎหมายจำนวนมากที่ตอบสนองประชาชนทุกกลุ่ม ไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ และศาสนา รวมถึงความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ผมขอขอบคุณและแสดงความเสียใจกับญาติวีรชนที่ได้เสียบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ถือว่าบุคคลเหล่านั้นได้ทำเพื่อบ้านเมืองและประชาธิปไตยอย่างน่าภูมิใจและน่าจดจำแห่งหัวใจตลอดไป จากนี้สังคมจะต้องเดินต่อไปอย่างสันติภาพ แม้จะมีความขัดแย้งแต่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงและการแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย ไม่ทำให้การเสียชีวิตสูญเปล่า เพื่อดำรงเจตนาญาติวีรชนให้ดำเนินต่อไป”

ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวย้อนถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่มีการเผาเลือดบริเวณถนนราชดำเนินก็สรรหามติร่วมกันว่า จากนี้ไปประเทศไทยจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้น แต่กลับมีการชุมนุมใหญ่จนมีผู้เสียเลือดเสียเนื้อเกิดขึ้นอีก สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 32 ปีที่แล้ว ก็เพราะประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาและประกาศใช้ก็มีการสืบทอดอำนาจ หากรัฐธรรมนูญปี 2534 มีความเป็นประชาธิปไตย ก็คงต้องมีการเรียกร้องจนเกิดการนองเลือด เหมือนว่าเรายังไม่ได้ไปไกล ยังกลับมามีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญที่มาจากการร่างจากคณะรัฐประหาร ที่มีชื่อเกือบจะเหมือนกัน และใช้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคนเดียวกัน

“ในนามของผู้สูญเสียทุกคนเรามาช่วยกัน นำบ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และขอให้ตระหนักว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องเป็นธรรมกับทุกคนโดยที่ไม่ต้องมีการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเกิดการต่อต้านรัฐประหาร เกิดการสูญเสียขึ้นอีก” นายปริญญา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น