“รุ้ง-มายด์-ทะลุฟ้า” ร้องรัฐบาลตรวจสอบสาเหตุการตาย “บุ้ง ทะลุวัง” จี้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง เตรียมทวงคำตอบอังคารหน้า ด้าน “สมคิด เชื้อคง” บอกเกินกว่าคำว่าเสียใจ แต่เพื่อไทยออกตัวแรงเรื่องนิรโทษกรรมไม่ได้ เดี๋ยวถูกมองทำเพื่อ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ลั่นเคยเจ็บปวดมาแล้ว ยืนยันศึกษาร่างฯ จบแน่ ก่อนเปิดประชุมสภา
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ฝั่ง ก.พ. นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน แกนนำทะลุฟ้า พร้อมด้วย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง ปนัสยา” แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “มายด์” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เดินทางยื่นมาหนังสือถึงรัฐบาล ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล 1111 เพื่อเรียกร้องให้มีนโยบายคืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ภายหลังจากที่ น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง กลุ่มทะลุวัง เสียชีวิตระหว่างคุมขัง โดยมี นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ
ทั้งนี้ มีการนำโปสเตอร์นโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่หาเสียงไว้เกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัวของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยให้ใช้รัฐสภาเป็นกลไกคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อคดีทางการเมือง รวมถึงมีการเปิดภาพบันทึกเทปโทรทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีการพูดถึงนโยบายการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง
น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า รู้สึกกังวลว่า โรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ จะไม่เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิด ขณะนำตัวไปรักษายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เนื่องจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุไว้ว่า จะเก็บภาพในกล้องวงจรปิดไว้เพียง 3 วันเท่านั้น พร้อมกับตั้งคำถามถึงขั้นตอนกู้ชีพของ น.ส.เนติพร และยังกล่าวอีกว่ารู้สึกเสียใจที่การสูญเสียของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน
ก่อนที่จะมีการยื่นหนังสือได้มีตัวแทนอ่านแถลงการณ์ โดยได้มีการยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ คือ
1. เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร ให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนโดยเร็ว
2. ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัว
3. ชะลอการดำเนินคดีการจับคุมขังบุคคลในคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้องไม่ยื่นอุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนคำร้องถอนอุทธรณ์และถอนฎีกา ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
4. เร่งรัดการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่าย ทุกข้อหา ที่มีมูลเหตุมาจากคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หวังว่าจะไม่มีบุคคลใดจะต้องเสียชีวิต และทุกๆคนจะได้รับสิทธิในการประกันตัวและสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มจะมาติดตามข้อเรียกร้องอีกครั้งในวันที่ 21 พฤษภาคม
ด้าน นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาล ออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมกล่าวว่า เสียใจ และเกินกว่าคำว่าเสียใจ ยืนยันว่ารัฐบาล ไม่ได้ก้าวล่วงฝ่ายตุลาการ ส่วนรายละเอียดทุกท่านทราบอยู่ว่ากรณีที่ถูกถอนประกันเพราะอะไร สิ่งเหล่านี้ ผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็คุยกันว่าไม่สบายใจ นอกจากนี้ที่มีการตั้งคำถามว่าการศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถูกขยายออกไปเรื่อยๆ เมื่อไหร่จะเสร็จในฐานะที่ตนเป็นโฆษกกรรมการชุดนี้ บ่ายวันนี้ก็จะมีการประชุม และยืนยันว่าไม่ได้มีความล่าช้าแต่ขณะนี้อยู่ในการปิดสมัยประชุมสภา
ส่วนที่มีการระบุว่าการนิรโทษกรรมไม่รวมผู้ต้องหาในคดี ม.112 และ ม.110 นั้น นายสมคิด ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด พร้อมระบุว่ามีกรรมาธิการส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นความคิดของบุคคล ไม่บอกว่าพรรคใดคัดค้านที่จะเอาฐานคดีใน ม.112 มาด้วย แต่ยังไม่มีการพูดคุยในรายละเอียด ในแนวทาง ตนเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย
นายสมคิด กล่าวว่า เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยไม่พูดถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเลย หลายพรรคก็มาด่า เพราะพรรคเพื่อไทยมีบาดแผลจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มันเจ็บปวดมาแล้ว ถ้าบอกว่าเห็นด้วยกับ ม.112 ฝ่ายที่ไม่ชอบก็จะบอกว่า เห็นไหมทำเพื่อนายทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ เราพูดไม่ได้ เพราะจุดนี้ แต่เสียงว่าอย่างไร เราเอาด้วย เราไม่คัดค้าน เอาเสียงส่วนมากว่าอย่างไร เราก็เอาด้วย วันนี้พรรคเพื่อไทยเสนอให้ศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายตกผลึกให้เร็วขึ้น ถ้าหากปล่อยแต่ละฝ่ายไป ก็จะไม่จบ วันนี้เราเชิญทุกฝ่ายมา แต่จะจบแน่นอนก่อนสภาเปิด
ส่วนรายละเอียดที่เรียกร้อง ตนได้ตกลงกับแกนนำแล้วว่า วันอังคารหน้า ขอให้มาทวงถามในรายละเอียดได้ ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ขอยืนยันว่าเกินกว่าที่ตนจะบอกว่าเสียใจ ที่คนเสียชีวิต ตนพูดไม่ออก มันจุกอก เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้มีความสบายใจ และก็จะเดินเรื่องนี้ต่อ และตนเพิ่งวางโทรศัพท์จากผู้ใหญ่ว่า หากรับเรื่องแล้วให้แจ้งว่าจะเอาอย่างไรต่อ ซึ่ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตนอยากให้เสร็จภายในปีนี้ด้วยความตั้งใจจริง ไม่ได้ต่อเวลาเพราะอะไร และขณะนี้ อาจารย์ยุทธพร อิสระชัย กำลังเคลียร์คดี ฐานความผิด เพราะฉะนั้นเราจะเอาไปทั้งหมด ส่วนรายละเอียดเรื่อง 112 ยังไม่ได้คุย ยืนยันว่าถ้าคุยก็ยังไม่จบ ต้องเอาคดีฐานใหญ่ๆออกไปก่อน ผิด พ.ร.บ.ชุมนุม จะต้องได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด จึงอยากเรียนทุกคนที่มาว่าผู้แทนรัฐบาล เราตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้
ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ตั้งแต่ปี18กรกฎาคม 2563 ถึงปี 30 เมษายน 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดี จากการแสดงความคิดเห็นในคดีทางการเมือง 1,954 คน จาก 1,295 คดี โดยมีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากที่สุด 1,466 คน และ อันดับที่ 2 เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับ ม.112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 272 คน