xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.นิรโทษฯ นัดถกพรุ่งนี้ “ยุทธพร” ยันไร้ข้อเสนอแทรกแซงศาล-ปฏิรูปยุติธรรม หลังถูกท้วงจากกรณี “บุ้ง” เสียชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายยุทธพร อิสรชัย
กมธ.นิรโทษกรรม นัดประชุมพรุ่งนี้ “ยุทธพร” ระบุ ทำงานตามกรอบเวลา เตรียมเสนอผลศึกษา กก.วินิจฉัยนิรโทษกรรม ยันไม่มีข้อเสนอแทรกแซงศาล-ปฏิรูปยุติธรรม หลังถูกท้วงจากกรณี “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิต

นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 พ.ค. กมธ.มีการประชุมโดยมีวาระพิจารณารายละเอียดของการตรา พ.ร.บ. ว่าควรมีคณะกรรมการวินิจฉัยความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม ไว้ในร่างกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้น จะพิจารณารายงานของอนุฯ  กมธ.ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ. ด้วย

ขณะที่ นายยุทธพร อิสรชัย ประธานอนุฯ กมธ.ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ. ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า การพิจารณาของอนุฯ กมธ. ต่อประเด็นคณะกรรมการวินิจฉัยความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม เบื้องต้นมีต้นร่างของกรรมการที่เตรียมเสนอ โดยมีต้วแทนจากฝ่ายตุลาการ อัยการ และตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาในรายละเอียด อย่างไรก็ดี ต้นร่างดังกล่าวนั้นได้นำข้อมูลจากต่างประเทศ รวมถึงข้อเสนอของฝ่ายการเมืองที่เสนอไว้ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่พรรคการเมืองเสนอไว้ในร่างกฎหมาย

“ข้อเสนอของอนุฯ กมธ. ต้องนำเข้าที่ประชุมพิจารณาในวันที่ 16 พ.ค. อีกครั้ง ว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ อำนาจของกรรมการวินิจฉัยนั้นจะไม่ก้าวล่วงหรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม” นายยุทธพร กล่าว

เมื่อถามว่า ต่อกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ระหว่างคุมขัง คดีมาตรา 112 จะทำให้ กมธ.ต้องเร่งการทำงานหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า การทำงานไม่ได้ช้าและการพิจารณาเป็นไปตามกรอบเวลา อย่างไรก็ดี ในกรณีของคดีมาตรา 112 นั้น ถือเป็น 1 ใน 25 ฐานความผิด ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่ได้ตัดออก ทั้งนี้รายละเอียดรอการนำเสนอต่อสภา ให้พิจารณาอีกครั้ง

เมื่อถามว่า กรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร ทำให้สังคมพูดถึงเรื่องสิทธิประกันตัวมากขึ้นในข้อเสนอของ กมธ.จะพิจารณาด้วยหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งมีกรอบและรายละเอียดที่ใช้พิจารณา ขณะที่การทำงานของ กมธ. มีกรอบที่ชัดเจนคือ พิจารณาข้อเสนอเพื่อตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม.


กำลังโหลดความคิดเห็น