xs
xsm
sm
md
lg

สภาไฟเขียวตั้ง กมธ.วิสามัญ กม.นิรโทษ พท.ชี้ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกความขัดแย้งการเมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สภา” เห็นชอบตั้ง กมธ.วิสามัญ กม.นิรโทษกรรม พิจารณาภายใน 60 วัน “ลิณธิภรณ์” ลั่น นิรโทษกรรมไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกสำหรับความขัดแย้งการเมืองไทยที่ฝังรากลึกมานานนับทศวรรษ

วันนี้ (1 ก.พ.) น.ส.ลินธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ว่า ภายหลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด มีการดำเนินคดีทางการเมืองสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานยอดตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอก วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 นั้น มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,938 คน ในจำนวน 1,264 คดี โดยในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย และในจำนวน 1,264 คดีนั้น มี 469 คดีที่ดำเนินการแล้วเสร็จ เหลือเพียง 700 กว่าคดี ที่ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นเพียงทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังฝังรากมาตั้งแต่สมัยที่มีการชุมนุมหลากสีเสื้อด้วยความเชื่อ และอุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในแต่ละฝ่ายมีแง่มุมที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายที่อยากเห็นประเทศไทยดีกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองและรัฐบาลในปัจจุบัน

น.ส.ลินธิภรณ์ กล่าวด้วยว่า การนิรโทษกรรมไม่ได้จำกัดเพียงแค่ประเภทเดียว มีการพยายามยื่นกฎหมายในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีร่างใดที่ประสบความสำเร็จ สะท้อนให้เห็นว่า การแก้กฎหมายนิรโทษกรรมในปัจจุบันเป็นเรื่องยาก แต่มี 2 ร่างที่ผ่านได้คือร่างของรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 ที่สามารถนิรโทษกรรมตัวเองสำเร็จได้

“แม้เราจะไม่อาจลืมหรือย้อนอดีตได้ แต่เราสามารถแก้ไขให้ปัจจุบันดีขึ้นได้ การนิรโทษกรรมในวันนี้จึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางออกสำหรับความขัดแย้งในทางการเมืองไทยที่ฝังรากลึกมานานนับทศวรรษ และเป็นเหมาะสมที่สุดที่เราจะได้เรียนรู้ และจดจำ ก้าวข้ามความขัดแย้งไปด้วยกัน ไปสู่การปรองดอง ภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายนายกฯ ที่เคยระบุไว้ว่า การนิรโทษกรรมการปรองดองระหว่างประชาชนทั้งประเทศเป็นเรื่องสำคัญและจะทำให้เกิดขึ้นได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ และจะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัย มีเสถียรภาพ แม้แต่ละพรรคการเมืองจะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การตั้งกมธ.ศึกษาร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อยุติที่เห็นพ้องร่วมกันจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังสมาชิกส่วนใหญ่ต่างอภิปรายเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานที่ประชุม จึงแจ้งว่าเมื่อที่ประชุมไม่มีใครเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมี กมธ.จำนวน 35 คน พิจารณาภายใน 60 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น