xs
xsm
sm
md
lg

จ่อครบ 5 ปี ส.ว.เฉพาะกาล คาดรักษาการยาว 2 ก.ค. ผลงานเด่นปั้น 2 นายกฯ ดับฝัน “พิธา” เงินเดือนทะลุ 1.7 พัน ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับถอยหลัง “ส.ว.เฉพาะกาล” คาดรักษาการยาวถึง 2 ก.ค. เปิดผลงานเด่น 5 ปี ปั้น 2 นายกฯ “บิ๊กตู่-เศรษฐา” ปัดตก “พิธา” ปม ม.112 ผลงานสุดท้ายอภิปรายทั่วไป รบ. ครั้งแรกรอบ 11 ปี “บินทิ้งทวนนอก” รวมรายได้เฉพาะเงินเดือนทะลุ 1.7 พัน ล. หลังจากนี้ได้อีกเดือนละหมื่นสอง

วันนี้ (10 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ภายในเที่ยงคืนของวันนี้ (10 พ.ค.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดที่ 12 จะถือว่าสิ้นสุดวาระลงและไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ภายหลังดำรงตำแหน่งครบ 5 ปี โดย ส.ว.ชุดนี้ มักถูกเรียกว่า “ส.ว.เฉพาะกาล” ตลอดระยะเวลาที่ทำหน้าที่ เนื่องจากที่มาของ ส.ว. มาจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 269 ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องถูกแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งแม้หมดวาระไปแล้ว ส.ว. ยังคงทำหน้าที่ได้เหมือนเดิมยกเว้นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและพิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่า จะรักษาการไปจนถึงวันที่ 2 ก.ค. 2567 ที่จะได้ ส.ว. ชุดใหม่

สำหรับผลงานเด่นของ ส.ว. ชุดนี้ มีโอกาสร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 3 ครั้ง ได้นายกรัฐมนตรี จำนวน 2 คน โดยโหวตครั้งแรกในวันที่ 5 มิ.ย. 2562 เห็นชอบแบบไม่แตกแถว 249 เสียง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯ คนที่ 29 มีเพียงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่งดออกเสียง เนื่องจากต้องทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

ต่อมา ส.ว.ชุดนี้ ได้มีโอกาสโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ในวันที่ 13 ก.ค. 2566 โดยรัฐสภาคว่ำชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล โดยมี ส.ว.เพียง 13 คน ที่โหวตเห็นชอบ ขณะที่เสียงส่วนใหญ่งดออกเสียง 159 คน, ไม่มาประชุม / ไม่ลงคะแนน 43 คน และอีก 34 คน ไม่เห็นชอบ ส่วนใหญ่ให้เหตุผลไปในทิศทางเดียวกัน คือ ติดเรื่องการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ทำให้ต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 ส.ค. 2566 โดยรัฐสภามีมติ 482 ต่อ 165 เห็นชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ คนที่ 30 ซึ่ง ส.ว. โหวตเห็นชอบ 152 เสียง, ไม่เห็นชอบ 13 เสียง และงดออกเสียง 68 เสียง

ส่วนผลงานที่ถูกมองว่าเป็นการทิ้งทวน คือ การขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ซึ่งเสนอโดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะ โดยเป็นการเปิดอภิปรายรัฐบาลครั้งแรกของ ส.ว.ชุดนี้ และเป็นการขอเปิดอภิปรายในรอบ 11 ปี ของวุฒิสภา มี ส.ว. ลงชื่ออภิปรายทั้งสิ้น 55 คน พุ่งเป้าไปที่วิกฤตการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล 7 ด้าน เน้นไปที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต และการพักโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ส.ว.ได้แต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ เห็นชอบไป 24 คน ประกอบด้วย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คน, กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 6 คน, กรรมการสิทธิมนุษยชน 5 คน, กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2 คน, ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2 คน, กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน

นอกจากนี้ ในเรื่องการพิจารณากฎหมาย ส.ว.ชุดนี้ ได้คว่ำร่างกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จำนวน 25 ฉบับ จากที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอจำนวน 26 ฉบับ มีเพียงร่างเดียวที่ผ่าน คือ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83, 91 ซึ่งเป็นการแก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์

จากการประชุมวุฒิสภาครั้งสุดท้ายในวันที่ 9 เม.ย. 2567 นายพรเพชร ในฐานะประธานวุฒิสภา ได้กล่าวสรุปผลงานต่อที่ประชุม ว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2562 - 9 เม.ย. 2567 มีการประชุมไป 258 ครั้ง ใช้เวลา 1,579 ชั่วโมง 55 นาที ผลการดำเนินงานด้านกฎหมาย ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รวม 54 ฉบับ มีการอนุมัติพระราชกำหนด 14 ฉบับด้วย นอกจากนี้ ยังมีผลงานด้านกระทู้ถาม รวม 588 กระทู้ ถูกตีตกไป 187 กระทู้

ภายหลังจากปิดสมัยประชุมไปแล้ว ส.ว.ยังคงถูกวิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากใช้งบจำนวน 81 ล้านบาท บินไปดูงานต่างประเทศ ช่วงปลายเดือน เม.ย. และต้นเดือน พ.ค. 2567 ที่แม้แต่ ส.ว. ด้วยกัน ก็ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ และเมื่อสำรวจรายได้ของ ส.ว.ตลอด 5 ปี จะพบว่า ประธานวุฒิสภา 1 คน มีเงินเดือน เดือนละ 119,920 บาท รวมเป็นเงิน 7,195,200 บาท, รองประธานวุฒิสภา จำนวน 2 คน เงินเดือน เดือนละ 115,740 บาท รวมเป็นเงิน 13,888,800 บาท ขณะที่ ส.ว. อีก 247 คน ได้เงินเดือน เดือนละ 113,560 บาท คิดเป็นเงิน 1,682,959,200 บาท รวมเงินเดือนตลอด 5 ปี ทั้งหมดจำนวน 1,704,043,200 บาท ขณะที่เบี้ยประชุมเฉลี่ยครั้งละ 1,500 บาท เมื่อพ้นวาระไปแล้ว ยังได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพ เดือนละ 12,000 บาท เป็นเวลา 12 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น