xs
xsm
sm
md
lg

“อุ๊งอิ๊ง” อวด “ทักษิณ” โชว์ฟิต “หมอวรงค์” ซัด คนอื่นตายช่างมัน ชี้ “อนุฯพักโทษ-อธิบดี-รมต.” ซวย เผยเอกสารลับ นักโทษชั้น 14

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายทักษิณ ชินวัตร โชว์ฟิต เล่นน้ำกับหลาน ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากอินสตาแกรมส่วนตัว @ingshin21
“อุ๊งอิ๊ง” อวดภาพ “ทักษิณ” โชว์ฟิต เล่นน้ำกับหลาน “หมอวรงค์” ซัด คนอื่นตายช่างมัน แถมท้าทายกฎหมาย ท้าทายประชาชน ชี้ อนุฯพักโทษ-อธิบดี-รมต.ต้องรับผิดชอบ พร้อมเผยเอกสารลับตรวจสอบนักโทษชั้น 14

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(8 เม.ย.67) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์รูปภาพนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงอินสตาแกรมส่วนตัว @ingshin21 ซึ่งเป็นภาพขณะที่นายทักษิณกำลังเล่นน้ำกับหลานๆ พร้อมระบุข้อความว่า “วันหยุด ณ บ้าน ตาตา สนุกสนานไม่อยากกลับกันเลยยย #babytitarnandhergrandpa #babythasinandgrandpa #mmdpskids”.

ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก วรงค์ เดชกิจวิกรม - Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความระบุว่า

“#คนอื่นตายช่างมัน

การที่อุ้งอิ้งโพสต์ภาพ นักโทษที่อยู่ในระหว่างพักโทษกรณีพิเศษ ยกดัมเบลเล่นกับหลานในสระน้ำ .........นี่หรือนักโทษที่ต้องพักโทษกรณีพิเศษเพราะอายุเกิน70 ปีและช่วยตัวเองไม่ได้

ไม่รู้ว่าอุ้งอิ้งรู้หรือไม่ว่า หลักการพักโทษกรณีพิเศษ จากเงื่อนไขอายุเกิน 70 ปี และช่วยตัวเองไม่ได้ จากการประเมินคะแนนช่วยเหลือตัวเองได้ 9 คะแนน นั่นหมายถึงสภาพที่ย่ำแย่

มีปัญหาทั้งการกินอาหาร ใส่เสื้อผ้า เดินไปมา ขึ้นลงบันได ลุกจากเตียง ล้างหน้าแปรงฟัน อาบน้ำ ใช้ห้องน้ำ กลั้นอุจจาระ กลั้นปัสสาวะ

เขาใช้หลักมนุษยธรรม เพื่อให้มาใช้ชีวิตบั้นปลาย สำหรับคนที่ช่วยตนเองไม่ได้ และไม่ให้เป็นภาระกับทางเรือนจำ จึงให้การพักโทษกรณีพิเศษ

สุดท้ายนี้ อนุกรรมการพักโทษ รวมทั้งอธิบดี รัฐมนตรี ต้องมารับผิดชอบแทน เพราะพวกคุณประเมินคะแนน ต่ำกว่าความเป็นจริง เข้าหลักขอให้กูรอด คนอื่นตายช่างมัน
การท้าทายกฎหมาย ก็คือการท้าทายประชาชน”

ก่อนหน้านี้ นพ.วรงค์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

“เปิดเอกสารลับนักโทษชั้น 14

นี่คือรายงานลับที่ผมสรุปมา เกี่ยวกับปัญหาของนักโทษชั้น 14 ที่พวกเราได้ร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และทางผู้ตรวจการฯ ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่างๆ

1.การส่งตัวนายทักษิณ ผู้ต้องขัง ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และการปกปิดข้อมูลทางการแพทย์ และขั้นตอนการดำเนินการ ไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติเฉพาะราย เป็นการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

กรมราชทัณฑ์ชี้แจงสรุปได้ว่า

เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ประสานทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้จัดส่งแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อมาตรวจร่างกาย นายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังเข้าใหม่ ร่วมกับพยาบาลของเรือนจำตามระเบียบ

ส่วนการอนุญาตให้ไปรักษานอกเรือนจำ

หลังจากทำทะเบียนประวัติ ตรวจร่างกายแล้ว พบว่าผู้ต้องขัง มีอายุ 74 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรค ซึ่งอยู่ระหว่างการรักษา และติดตามอาการ โดยแพทย์ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ผู้ทำการตรวจ ได้มีความเห็น ให้ทางเรือนจำตรวจติดตาม เฝ้าระวังผู้ต้องขัง ทุก 3 – 4 ชั่งโมง เพื่อประเมินอาการ ต่อมาพยาบาลเรือนจำ ได้ตรวจติดตามเฝ้าระวังผู้ต้องขัง ตามระยะเวลาที่แพทย์สั่งเรื่อยมา

เมื่อเวลาดึก คืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ระหว่างตรวจติดตาม เฝ้าระวังผู้ต้องขัง ประกอบการพิจารณาประวัติ การรักษาของผู้ต้องขัง จากโรงพยาบาลต่างประเทศ และพิจารณาความพร้อมในการรักษา โรคเฉพาะทางของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงได้มีความเห็นว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งมีผลต่อชีวิตผู้ต้องขัง เห็นควรให้ส่งตัวผู้ต้องขัง ไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีความพร้อมด้านเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อรักษาชีวิตของผู้ต้องขัง และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ได้รับตัวผู้ต้องขังไว้เป็นผู้ป่วยในความดูแล เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2566 อาศัยอำนาจตามข้อ 2 ของกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563

ภาพ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก วรงค์ เดชกิจวิกรม - Warong Dechgitvigrom
คำถามที่ต้องถาม จะพบว่าการส่งตัวของกรมราชทัณฑ์จากข้อเท็จจริง เหตุผลนี้มาจาก “เพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งมีผลต่อชีวิตผู้ต้องขัง” แสดงว่าเป็นการส่งตัวผู้ต้องขังไป ร.พ.ตำรวจ “เพื่อป้องกันความเสี่ยง” ไม่ใช่เป็นการเจ็บป่วยจริง ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อ 2 ของกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ

2.กรณีรับตัวผู้ต้องขังเข้าพักรักษาตัว ในห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจ แยกจากผู้ป่วยทั่วไป

โรงพยาบาลตำรวจชี้แจงสรุปได้ว่า

โรงพยาบาลตำรวจได้รับข้อมูลมาว่า ผู้ต้องขังรายนี้ มีอาการวิกฤตฉุกเฉิน เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ซึ่งควรได้รับการรักษาใน ICU (จะพบว่าข้อมูลนี้ขัดแย้งกับ ข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ที่รายงานว่า ส่งมาเพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งแสดงว่ายังไม่ได้ป่วยจริง แต่มาถึงโรงพยาบาลตำรวจกลับอ้างข้อมูลว่าผู้ต้องขัง มีอาการวิกฤติฉุกเฉิน)

พบว่าห้อง ICU และห้องสามัญเต็มตลอด ห้องพิเศษจะหาได้ง่ายกว่า ถ้าไปรักษา ward สามัญ ก็ต้องให้คนไข้ปกติย้ายออก ซึ่งจะไปกระทบสิทธิ์ผู้ป่วยรายอื่น

ทั้งนี้ห้องผู้ป่วยพิเศษแบบชั้น 14 นี้ รองรับผู้ป่วยทั่วไปทุกระดับชั้น ปัจจุบันชั้นนี้ ยังมีผู้ป่วยภายนอก เข้ามาพักรักษาตัวตามปกติ ไม่ได้มีการปิดกั้นเฉพาะชั้นแต่อย่างใด (เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 4 (2) ที่ห้ามผู้ต้องขังพักห้องพิเศษ ที่สำคัญ ในระยะเวลา 180 วัน จะไม่มีเตียงสามัญ หรือไอซียู ว่างเลยหรือ ที่จะต้องย้ายผู้ต้องขังลงไป เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวง)

ชั้น 14 แบ่งเป็นซ้ายขวา บริเวณฝั่งปีกขวา เป็นห้องพักฟื้นผู้ป่วยโควิด ปัจจุบันยังไม่เปิดใช้งาน เนื่องจากมีน้ำรั่ว ฝั่งซ้ายเป็นห้องพักฟื้นผู้ป่วย โดยมีประตูกั้นการเข้าออกพื้นที่ กั้นเป็นเขตหวงห้าม มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 2 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ปทุมวัน 2 นาย มีการจัดโต๊ะควบคุมพื้นที่เข้าออกดังกล่าว

ต้องรายงานผู้บังคับบัญชา ทุก 2 ชม. โดยการถ่ายภาพห้องที่ผู้ป่วยพัก ส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์ (การกั้นเป็นเขตหวงห้ามก็ย้อนแย้งกับรายงานที่แจ้งว่า มีผู้ป่วยภายนอกเข้าพักในชั้นนี้)

กล้องวงจรปิดได้รับการชี้แจงว่า ชั้นนี้เสีย และกล้องวงจรปิดเสียทั้งอาคาร เนื่องจากงบประมาณได้รับไม่เพียงพอ (ปกติทุกโรงพยาบาลจะมีเงินบำรุง ที่ผู้อำนวยการสามารถใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมได้ มีเจตนาพิเศษแอบแฝงหรือไม่ ที่ไม่มีการซ่อมแซม)

ประเด็นเรื่องห้องวีไอพี จากการแสวงหาข้อเท็จจริง พบว่า ป้ายหน้าลิฟท์ชั้น 14 ปรากฏข้อความสั้นๆ เพียงว่า หอผู้ป่วยพิเศษเท่านั้น (ก็เป็นการยืนยันว่า ผู้ต้องขังพักที่ห้องพิเศษจริง ซึ่งขัดกับกฎกระทรวง ที่ห้ามพักห้องพิเศษ)

เคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบกระทู้ในสภา เรื่องการที่ผู้คุมขังไปพักห้องพิเศษชั้น 14 เพราะเกรงความปลอดภัย โดยอ้างคาร์บอมบ์ในอดีตร่วม 20 ปีที่แล้ว แต่กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ข้อ 7 วรรคท้าย ถ้ามีเรื่องความปลอดภัยของผู้ต้องขังให้ย้ายกลับโรงพยาบาลสังกัดราชทัณฑ์หรือสถานพยาบาลอื่น ไม่มีสิทธิ์อยู่ห้องพิเศษ

3.ผู้ต้องขังยังไว้ผมยาว

เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครชี้แจงสรุปว่า

ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 ความในหมวดที่ 1 การตัดผมและการย้อมผม ข้อ 6 ได้กำหนดว่า เมื่อผู้ต้องขังเข้ามาในเรือนจำ จัดให้มีการตัดผมหรือไว้ผม ให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับตัว โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จะจัดให้ผู้ต้องขังใหม่ ตัดผมในเวลาที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่รับตัว

ต่อมา ผู้ต้องขัง ไปรักษาอาการป่วยยังโรงพยาบาลตำรวจ ตามความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 ด้วยเหตุนี้ จึงยังไม่ได้ตัดผม หากโรงพยาบาลตำรวจอนุญาตให้รับตัวกลับมาคุมขังยังเรือนจำเมื่อใด ทางเรือนจำจะดำเนินการตามระเบียบต่อไป (แม้ผู้ต้องขังจะอยู่โรงพยาบาล ยังถือเป็นผู้ต้องขัง ยังไม่พ้นจากการคุมขัง ตามพรบ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 วรรคท้าย กฎระเบียบต่างๆ ต้องมีผลบังคับ รวมทั้งการตัดผมด้วย)

4.แพทยสภาชี้แจงว่า

แพทยสภาเคยได้รับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของแพทย์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ปฏิบัติตัวกับผู้ต้องขัง ในลักษณะเอื้อประโยชน์ เลือกปฏิบัติ ขณะนี้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนจริยธรรม อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

รายงานของแพทยสภา โดยเฉพาะการลงความเห็นในใบรับรองแพทย์ ในช่วงเวลาต่างๆ จะมีความสำคัญมากกว่าการส่งตัวไป รพ.ตำรวจ รวมทั้งการให้พักที่ รพ.ตำรวจ ต่อเนื่องในช่วงเวลา 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน ว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร.”


กำลังโหลดความคิดเห็น