xs
xsm
sm
md
lg

“สะถิระ”ตั้งข้อสังเกต ต้องไม่เพิ่มผู้บริโภค-ผลกระทบ ให้ กมธ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปพิจารณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(27 มี.ค.)ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 5 ฉบับ โดยนายสะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.ชลบุรี เขต 10 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ได้ร่วมอภิปรายว่า ตนอยากให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว คำนึงถึงความปลอดภัยของเงินในกระเป๋า และความปลอดภัยของชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงบุตรหลานของเราด้วย ทางเครือข่ายแกนนำเยาวชนนักรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงภาคตะวันออกได้แสดงความห่วงใยผ่านมาทางตนถึง ผลกระทบกับความเจ็บป่วยและชีวิตของพี่น้องเยาวชน โดยปัจจุบันประชากรไทยจะมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยทุก 20 นาที จากการดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคตับแข็ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่าย

นายสะถิระ กล่าวต่อว่า จาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พศ.2551 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปริมาณการบริโภคของผู้ดื่มลดลง จากปี 2550 ผู้ดื่ม 30% ปี 2564 อยู่ที่ 28% ลดมา 2% และสัดส่วนนักดื่มอายุ 15-19 ปี และ 60 ปีขึ้นไปลดลง ทั้งนี้ในส่วนของสถานพินิจสถาน ได้มีการศึกษาพฤติกรรมความผิดของเด็กเยาวชนในสถานพินิจปี 2550 พบว่าเด็กและเยาวชนร้อยละ 40.8 ก่อคดีระหว่างดื่มหรือภายใน 5 ชั่วโมงหลังการดื่มสุรา โดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 55. 9% และคดีที่เกี่ยวกับเพศ 46.2% ซึ่งคดีเป็นคดีอาญาและมีผลกระทบต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก

“เราจำเป็นจะต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของนายทุน ที่บอกว่าห้ามโฆษณา ถ้าเราเปิดให้มีการโฆษณาได้ ถ้าสมมุติเราทำธุรกิจสุราเสรีงบ 1 ล้านบาท เราจะไปสู้โฆษณากับผู้ที่ทำสุรางบ 1 พันล้านบาทได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ เราเห็นควรจะห้ามโฆษณาหรือไม่ ซึ่งทางเครือข่ายเยาวชนฯแนะนำมาว่า ทำไมเราไม่ อนุญาตแล้วค่อยให้โฆษณา ทำไมเราไม่ตรวจเขาก่อนเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งเหล่านี้ผมขอตั้งเป็นข้อสังเกตให้ทางกรรมาธิการเก็บไปพิจารณาด้วย“นายสะถิระ

นายสะถิระ กล่าวต่อว่า เครือข่ายแกนนำเยาวชนนักรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงภาคตะวันออก ขอฝากข้อสังเกตไปยังกรรมาธิการ 5 เรื่อง คือ 1.ต้องไม่เอื้อผู้ประกอบการใหญ่ อย่างเช่นเรื่องโฆษณา ตนเชื่ออย่างยิ่งว่า ถ้ามีการปล่อยให้โฆษณา อย่างไรกลุ่มทุนเล็กก็สู้กลุ่มทุนใหญ่ไม่ได้ 2.การเข้าถึงและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ข้อนี้สำคัญมากโดยเฉพาะ เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย 3.ต้องไม่เพิ่มการบริโภค 4. ต้องไม่เพิ่มผลกระทบ เพราะจากสถิติของ องค์กรอนามัยโลกและของประเทศไทยพบว่า สัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วง 7 วันอันตราย ลดลงเมื่อบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พศ.2551 และการเยียวยาก็สำคัญเช่นกัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุที่มีผลมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องมีผู้รับผิดชอบ การฟ้องคดีแพ่งทำให้เกิดความล่าช้า หรือจะต้องมีคดีคุ้มครองผู้บริโภคด้วยหรือไม่ อย่างไร

“ผมจะไม่ใช้คำว่า พ.ร.บ.สุราเสรี หรือ สุราควบคุม แต่ขอใช้คำว่า อยากให้ พ.ร.บ.นี้เป็นความปลอดภัยในชีวิตของพี่น้องคนไทย และปลอดภัยกับเงินในกระเป๋าของพี่น้องคนไทยในเรื่องของการท่องเที่ยว”นายสะถิระ กล่าว

จากนั้นที่ประชุมสภาได้มีมติรับหลักการทั้ง 5 ฉบับ ด้วยคะแนน 389ต่อ9 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน1 คะแนน ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 42 คน พิจารณาในขั้นตอนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น