xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ลุยคัดกรองไวรัสตับอักเสบ คนอายุ 30 ปีอัป รู้สถานะเร็ว รักษาได้ ลดป่วยตับแข็ง-มะเร็งตับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ลุยคัดกรองคนอายุ 30 ปีขึ้นไป ตรวจไวรัสตับบี ซี ผ่าน รพ.สต.ใกล้บ้าน หากป่วยรับยาต้านไวรัสให้ผลดี ยาไวรัสซีช่วยหายขาดได้ ลดเกิดตับแข็ง มะเร็งตับและเสียชีวิต ทุกคนทุกสิทธิตรวจได้ฟรี 1 ครั้งตลอดช่วงชีวิต ส่วนกลุ่มเสี่ยงตรวจไวรัสซีซ้ำได้ปีละครั้ง

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ รพ.สต.วัดลาดปลาดุก จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงนโยบายการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในสถานพยาบาลใกล้บ้าน

นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีและซี ค่อนข้างสูง โดยไวรัสบีมีประมาณ 2-4 ล้านคน ไวรัสซี 2-4 แสนคน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญนำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ ที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ถ้าไม่มีการดูแลคัดกรองรักษาจะทำให้เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งมะเร็งตับส่วนใหญ่วินิจฉัยเจอในระยะสุดท้าย แต่ถ้าสามารถดูแลรักษาตั้งแต่การคัดกรองว่าใครป่วย ปัจจุบันก็มียารักษาที่ให้ผลดี ช่วงที่ผ่านมามีการเปิดโครงการทดสอบการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสสำหรับตับอักเสบชนิด บีและซี ที่สถาบันบำราศนราดูรก็ได้ผลดี จึงเป็นนโยบายต่อเนื่องของ สธ.ที่ดำเนินการ

"สธ.มีเป้าหมายกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้สำเร็จ ภายในปี 2573 กำหนดสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทุกสิทธิการรักษา ไม่เฉพาะบัตรทอง โดยได้ให้ รพ.สต.ทั้งสังกัด สธ.และ อบจ. ร่วมเป็นเครือข่ายให้บริการ" นพ.โอภาสกล่าว


นพ.โอภาสกล่าวว่า สธ.ร่วมกับ สปสช.เชิญชวนประชาชนที่เกิด ก่อนปี 2535 หรืออายุ 30 ปีขึ้นไป ติดต่อสถานบริการใกล้บ้านในโครงการของ สปสช. เพื่อรับการตรวจคัดกรอง ซึ่งค่อนข้างง่ายโดยเจาะเลือดตรวจปลายนิ้วก็จะทราบผลในเวลารวดเร็ว ถ้าผลเป็นบวกก็จะมีการประสานและส่งต่อคนไข้ รับยาและติดตามผลการรักษา เชื่อว่าถ้าดำเนินการตามแผนที่กำหนดจะช่วยลดอัตราการเป็นผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง ลดการป่วยเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ลดการเสียชีวิตประชาชนได้จำนวนมาก ถือเป็นโครงการที่ดีโดยร่วมกับหลายหน่วยงานดำเนินการ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด นายก อบจ.ที่จะมีการถ่ายโอน รพ.สต.ก็จะเข้าร่วมโครงการนี้

"ที่ต้องเป็นกลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป เพราะคนเกิดหลังปี 2535 ได้รับวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีเรียบร้อยแล้ว อยู่ในโปรแกรมวัคซีนแห่งชาติ กลุ่มนี้การติดเชื้อก็จะเป็นไปได้น้อย ส่วนไวรัสซียีงไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตับอักเสบเรื้อรังก็จะมีช่วงเวลาในการตรวจคัดกรอง ฉะนั้น การคัดกรองในคนอายุ 30 ปีขึ้นไปจะมีประโยชน์มากที่สุด มีประมาณ 30-40 ล้านคน ก็พยายามคัดกรองให้หมด ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ก็สามารถมาตรวจซ้ำได้ เพราะไวรัสบีจะตรวจครั้งเดียว แต่ไวรัสซีในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อาจได้รับการตรวจหลายครั้ง" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี คล้ายกับ HIV คือ ติดต่อจากแม่สู่ลูก ติดต่อทางเลือดโดยใช้เข็มฉีดยา และติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วิธีป้องกันคือ หลีกเลี่ยงความเสี่ยง มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย มีการคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้ถ่ายทอดเชื้อไปสู่ลูก และในบุคลากรที่มีความเสี่ยงที่จะต้องสัมผัสกับเลือด เข็มฉีดยา จะต้องมีอุปกรณ์ในการป้องกัน คัดกรองเป็นระยะ สำหรับวันนี้เป็นโครงการนำร่องเปิดโครงการคัดกรองที่รพ.สต.วัดลาดปลาดุก โดยการคัดกรองหากพบติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีและซีก็มียารักษา อย่างไวรัสบีเมื่อก่อนเป็นยาฉีด นานๆ ไปก็ไม่สะดวก ปีจจุบันก็มียากิน ผลข้างเคียงน้อย ยิ่งยารักษาไวรัสซีผลดีมาก รักษาหายขาดได้


ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ชุดสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ประชาชนทุกคนที่เกิดก่อนปี 2535 สามารถรับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี ด้วย HBsAg และไวรัสตับอักเสบ ซี ด้วย Anti-HCV จำนวน 1 ครั้งตลอดช่วงชีวิต ส่วนกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย บุคลากรสาธารณสุข และผู้ต้องขัง จะได้รับสิทธิตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ซี ซ้ำทุก 1 ปี โดยหน่วยบริการจะได้รับค่าใช้จ่ายเมื่อให้บริการคัดกรองแก่กลุ่มเป้าหมาย มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 เม.ย. 2566 เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น