xs
xsm
sm
md
lg

วงเสวนา กกต.ทุกพรรคหนุนแก้ รธน.- กม.ยุบพรรค ชี้ อุปสรรคใหญ่ต่อการพัฒนา-ไม่ใช่ทางออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกต.เสวนา “พรรคการเมืองสร้างชาติ” ทุกพรรคประสานเสียง แก้ รธน.- กม.ยุบพรรค มองอุปสรรคใหญ่ต่อการพัฒนา-ไม่ใช่ทางออก

วันนี้ (27 มี.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเสวนาวิชาการเรื่องพรรคการเมืองสร้างชาติ โดย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภราดร ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ ศ.วุฒิสาร ตันไชย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วม ซึ่งประเด็นคำถามในงานเสวนา คือ พรรคการเมืองเอื้อประโยชน์ให้การเมืองไทยได้อย่างไร โดย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตนมองว่า ทุกพรรคการเมืองก่อตั้งขึ้นมีเจตนาต้องการเข้ามาบริหารบ้านเมือง คงไม่มีพรรคการเมืองใด ที่ตั้งขึ้นแล้วอยากเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งการดำเนินกิจกรรมและการขับเคลื่อนพรรคการเมืองจะต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนด 

ซึ่งก็มีการไปออกกฎหมายสร้างข้อจำกัดมากมายให้กับนักการเมือง เช่น ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาครอบงำพรรคการเมืองโดยใส่เหตุแห่งการยุบพรรคไว้ในมาตราต่างๆ ซึ่งอุปสรรคที่สำคัญของพรรคการเมือง คือ 1. ขาดความต่อเนื่อง เพราะพรรคบริหารบ้านเมืองไปสักพัก ก็จะมีการยึดอำนาจหรือไม่ก็ถูกยุบพรรค ตนไม่เห็นด้วยมากๆ กับการยุบพรรคโดยง่าย และเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีการแก้ไข 2. ต้องมีการสร้างนักการเมืองมืออาชีพมาบริหารปัจจุบันแม้จะมีนักการเมืองมากแต่ส่วนใหญ่จะมีอาชีพหลักเป็นนักธุรกิจ 3. บริบทของกฎหมายที่มาควบคุมพรรคการเมือง คิดว่า ถึงเวลาที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญและมีกฎหมายพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่


ด้าน นายวุฒิสาร กล่าวว่า ก่อนพรรคการเมืองจะสร้างชาติ ควรจะมองว่าจะสร้างนักการเมืองที่ดีได้อย่างไร ซึ่งปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองมั่นคง เดินต่อได้ คือ แก่นกลาง ที่เป็นชุดความคิดอุดมการณ์ จุดมุ่งหมาย ที่สมาชิกพรรคจะมีความคิดเห็นตรงกัน เชื่อเรื่องเดียวกัน นอกจากนี้ ระบบกฎหมายควรเอื้อให้พรรคการเมืองเติบโตโดยประชาชน เติบโตแบบธรรมชาติแต่ที่ผ่านมายิ่งออกกฎหมายยิ่งซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ มีกติกาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอยากให้มี mindset สำหรับกฎหมายนี้ และจะต้องให้เวลาเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่าออกกฎหมายเพื่อการยุบพรรคอย่างเดียว เพราะพรรคการเมืองถือว่าเป็นสมบัติของสมาชิกพรรค เราต้องออกกติกาให้ดี และมี mind set ใหม่

ด้าน นายชัยธวัช กล่าวว่า น่าเสียดายที่สังคมไทย สวนทางกับโลก และบอกว่า พฤติกรรมของพรรคก้าวไกล มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง ต้องถูกยุบพรรค ซึ่งในแง่นี้หมายความว่า พรรคการเมืองพรรคนี้ ไม่น่าจะมีบทบาทให้การเมืองดีและสร้างชาติ แต่ในทางตรงกันข้าม ถูกมองว่า เป็นพรรคการเมืองทำลายชาติ เป็นพรรคการเมืองที่ไม่ดี ซึ่งมีนัยยะที่เป็นประเด็นสำคัญอยู่ ทั้งนี้มองว่าพรรคการเมืองมีความสำคัญมากๆ ในการสร้างชาติ ในฐานะผู้มีบทบาททางตรงในการกำหนดนโยบายสาธารณะ รวมถึงการออกกฏหมาย ตัวพรรคก้าวไกลเอง พยายามพัฒนาบุคลากรและตัวแทนของพรรคให้มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะพูดถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ เราระดมสมองจากนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญ แต่ในเมืองไทยเราไม่เคยเห็นพัฒนาการทางการเมือง ไม่เคยเห็นการถกเถียงทางการเมืองกันอย่างจริงจัง ซึ่งตนคิดว่าควรจะมีได้แล้ว

นายชัยธวัช ยังเห็นว่า การเมืองดีไม่มีอะไรมาก ต้องวางอยู่บนหลักการพื้นฐานง่ายๆ คือ 1. อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 2. สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องได้รับการคุ้มครอง 3. กฎกติกาฟรีและแฟร์หรือไม่ หากเราออกแบบการเมืองที่คิดว่าการเมืองดีคือแบบนี้ เราก็จะออกกฎกติกาที่เชื่อว่าจะเอื้อต่อการพัฒนาทางการเมือง เพราะเชื่อว่าประชาชนเรียนรู้ได้ แต่หากการเมืองดีคือการที่ยุบพรรคการเมืองกันอย่างเป็นปกติ พรรคการเมืองถูกสั่งว่าหาเสียงแบบนี้ไม่ได้และอันตรายไป จนถึงการยุบพรรคนั้น และกฎพรรคการเมืองนั้นยุบยิบไปหมด การใช้งบประมาณ ไม่เอื้อต่อการสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งเลย ขอเงินยาก หากเราออกแบบกฎกติกาพรรคการเมืองด้วยพื้นฐานที่เรียกว่า ”เป็นการเมืองที่ไม่ไว้ใจประชาชนและต้องพยายามควบคุมอำนาจ และสถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนให้อยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่เป็น “คุณพ่อรู้ดีไปหมด” ว่าการเมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร อันนี้ถือเป็นใจกลางสำคัญมากๆ ที่การเมืองไทยยังไม่จบว่าจะมีคำตอบจากเรื่องนี้อย่างไร


ส่วน นายภราดร กล่าวว่า การเมืองจะดีหรือไม่ดี พรรคการเมืองจะดีหรือไม่ดี ต้องเริ่มต้นจากกติกา พรรคการเมืองจะดีได้ กติกาต้องดีก่อน พรรคการเมืองเป็นบ้านของสมาชิก และทำหน้าที่ในการนำเสนอ แนวทางความคิดของตัวเองสู่สาธารณะ ให้สาธารณะวิพากษ์วิจารณ์เห็นตัวตนของพรรค ต้องมีการสอบถามว่าประชาชนต้องการอะไรแล้วเอาความต้องการนั้น มาเป็นแก่น เป็นหลักคิดนำเสนอต่อสังคมอีกครั้งแล้วลงสู่สนามเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนเลือกเข้าสู่การเป็นคณะบริหาร นี่คือ สิ่งที่สังคมไทยปรารถนาที่จะเห็น แต่ที่ผ่านมา พรรคการเมืองถูกกดทับถูกบีบคั้น ถูกทำให้รู้สึกว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นสิ่งที่สังคมไม่ปรารถนาจึงออกกติกามาเหมือนกับว่าพยายามที่จะเข่นฆ่านักการเมือง เข่นฆ่าพรรคการเมือง ไม่ให้พรรคการเมืองมีการเติบโต โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญปี 2550 และฉบับ 2560 ที่มีกติกาในการยุบพรรคซึ่งตนคิดว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองจากกติกาที่เขียน ว่าจะต้องยุบจาก เหตุผล 1 2 3 แต่พรรคการเมืองจะต้องยุบพรรคจากประชาชน ในอดีตหลายพรรคการเมืองที่เกิดมาปัจจุบันก็ไม่มีสถานะแล้วเพราะประชาชนไม่เลือก อย่างไรก็ตาม หลายคนผ่านประสบการณ์ถูกยุบพรรคมาแล้วทั้งสิ้น อาจารย์ชูศักดิ์ 2 ครั้ง นายชัยธวัช 1 ครั้ง ส่วนตน 1 ครั้ง และกำลังสุ่มเสี่ยงอีก 1 ครั้ง ฉะนั้น ถือเป็นความเจ็บปวดในฐานะคนการเมืองที่ต้องมาทำการเมืองโดยมีความระแวง ว่าจะถูกยุบพรรคจากการทำงานการเมืองหรือไม่

ทั้งนี้ ตนอยากเห็นพรรคการเมืองแข่งกันนำเสนอมุมมองทัศนคติทางการเมือง เศรษฐกิจสังคมการศึกษา จะเดินหน้าพัฒนาประเทศผ่านนโยบายต่างๆ แต่จะเห็นว่า ในปี 2562 และ 2566 ในการเลือกตั้งพรรคการเมืองไม่ได้แข่งในเรื่องเหล่านี้ แต่กลับแข่งกันว่าเป็นพวกของใคร เป็นฝ่ายเผด็จการหรือฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งนี่เป็นเรื่องพื้นฐานมาก มันมีที่ไหนที่พรรคการเมืองอยู่ฝั่งเผด็จการ เพราะทุกคนก็มาจากการเลือกตั้ง


อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างอยู่ที่กติกา แต่ชนใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มาจากผู้ที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เขียนกฎหมาย เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์การเลือกตั้งปี 2562 กติกาจึงบิดเบี้ยวมาจนถึงทุกวันนี้ คิดว่าสิ่งที่พรรคการเมืองเห็นตรงกัน ประเด็นแรกที่จะต้องทำ คือ การแก้ไขกติกาให้เป็นสากล แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ผ่าน ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน นี่คือ เรื่องสำคัญที่เป็นหัวใจของการเลือกตั้งรอบนี้และอนาคตต่อไป หากกติกาเข้มแข็งเป็นสากล มาจากประชาชน ซึ่งยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะออกมาแบบไหน แต่แน่นอนว่าเมื่อมาจากประชาชนย่อมดีกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ ทั้งฉบับ 2550 และ 2560 ดังนั้น เมื่อกติกาดี พรรคการเมืองดีก็นำไปสู่การเมืองที่ดี

“พรรคการเมืองต่อไปนี้ ถ้าเป็นกติกาใหม่เราจะไม่ต่อสู้การเมืองบนคำว่าเผด็จการ หรือ ประชาธิปไตย แต่จะมาต่อสู้กัน ว่าเราเป็นพรรคการเมืองแบบอนุรักษนิยม หรือ เป็นพรรคการเมืองเสรีเราจะทำเศรษฐกิจแบบทุนเสรีทำเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอะไรก็แล้วแต่นี่คือช่องทางการนำเสนอของพรรคการเมืองที่จะเสนอต่อประชาชนให้ได้เลือกในสิ่งที่เขาควรจะเลือก ไม่ใช่มาเลือกว่าเป็นเผด็จการประยุทธ์ หรือมีลุงไม่มีเราอะไรแบบนี้” นายภราดร กล่าว และว่า พฤติกรรม การกระทำของพรรคการเมืองต่างๆ จะมีผลต่ออนาคต ประชาชน จะเป็นผู้ตัดสินผ่านการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองตรวจสอบไม่ได้ องค์กรอิสระยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบนักการเมืองอยู่ดี แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่พอเหมาะพอสม ไม่ใช่มีธงที่จะกลั่นแกล้งทางการเมืองกัน อย่างเรื่องของการยุบพรรค ซึ่งตนเชื่อว่าการยุบพรรคทุกครั้งนั้นมีธงทางการเมืองและเชื่อว่าสังคมก็เห็นแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งนี้ตนไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระไม่ได้แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายแต่พอเหมาะสม และการตรวจสอบที่เข้มแข็งที่สุดคือการตรวจสอบโดยประชาชน

นายภราดร ยังกล่าวต่อว่าพรรคการเมืองที่ไม่รักษาคำพูดตอนหาเสียง หากไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ก็จะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ยกตัวอย่างพรรคภูมิใจไทยกับนโยบายกัญชา ซึ่งระบุว่าจะทำกัญชาให้เป็นกัญชาทางการแพทย์ ในช่วง 4 ปีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็น รมว.สาธารณสุข ก็ทำให้เป็นกัญชาเสรีทางการแพทย์และสำเร็จไปส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ปรากฏออกมา เรากำลังเขียนกฎหมายเพื่อจะให้มีการควบคุมความเสรีของกัญชาเกี่ยวกับเรื่องของการสันทนาการ ซึ่งเราประกาศว่าไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่กฎหมายนั้นไม่สำเร็จจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ก็มีผลกระทบ มาถึงการเลือกตั้งว่าภูมิใจไทยทำให้กัญชาเสรีมากเกินไป ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของเรา ทำให้พรรคการเมืองอื่นนำมาโจมตีในสนามเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นคิดว่าการพูดแล้วไม่สามารถทำตามที่หาเสียงได้ แม้บทลงโทษทางกฎหมายไม่มี แต่ก็จะถูกกดลงโทษทางสังคมต่อไปส่งผลต่อพรรคการเมืองในอนาคต






กำลังโหลดความคิดเห็น