เมืองไทย 360 องศา
ยิ่งใกล้วันโหวต วาระ 2-3 ในกฎหมายสำคัญสองฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็มีลุ้นให้ต้องหวาดเสียวมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น พรรคใหญ่บางพรรค โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เดิมฝันหวานว่าทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ นั่นคือ การใช้สูตรตัวเลข 100 มาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แทนที่จะใช้สูตรหารด้วย 500 ต่อจำนวน ส.ส.หนึ่งคน
แน่นอนว่า ก่อนหน้านี้ สำหรับพรรคการเมืองใหญ่ หรือพรรคที่ก่อตั้งมานาน มั่นใจว่า ตัวเองจะได้เปรียบหากมีการเลือกตั้งแล้วใช้สูตรตัวเลข 100 ไปหารคะแนนรวมของแต่ละพรรคทั่วประเทศ เพื่อหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้ ซึ่งหากใช้สูตรนี้เมื่อเฉลี่ยออกมาแล้วก็จะได้คะแนนประมาณ 3.5 แสนต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน ซึ่งแบบนี้ทำให้พรรคเล็กสูญพันธุ์ ขณะที่หากใช้สูตร 500 หาร ก็จะตกประมาณ 7 หมื่น ถึง 1 แสนเท่านั้น แบบมันน่าลุ้นและออกกลางๆ
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ พรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย จะชอบใจสูตรแรก คือ หาร 100 นั่นเอง หลังจากก่อนหน้านี้สามารถผลักดันจนสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญจากเดิมใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว มาเป็น “บัตรสองใบ” สำเร็จมาแล้ว หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อนหน้านี้ มีท่าทีชัดเจนว่า สนับสนุนสูตรนี้ โดยผลักดันผ่านทางคณะกรรมาธิการของพรรคร่วมรัฐบาล ที่สามารถใช้เสียงข้างมากเอาชนะมาแล้ว ทำให้ตอนนั้นมั่นใจว่าคงผ่านได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ดี เมื่อกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระ 2-3 ในวันที่ 5-6 กรกฎาคม นี้ กลับกลายเป็นว่าที่เคยคิดว่าแน่นอน ก็ชักไม่แน่เสียแล้ว และมีแนวโน้มอาจพลิกสูตรเป็นตรงกันข้ามได้ไม่น้อย เพราะนอกเหนือจากบรรดาพรรคเล็กหลายสิบพรรค ทั้งในและนอกสภา ต่างผนึกกำลังเคลื่อนไหวกันทุกทาง ทั้งยกขบวนไปล็อบบี้ต่อรองพรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ ถึงกับยื่นหนังสือกันถึงมือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคให้ช่วยผลักดันสูตรหาร 500 ให้ด้วย โดยมีข่าว “ห้อยติ่ง” มาด้วยว่า ในการหารือกันที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ วันนั้นมีการต่อรองเล็กๆ ในเรื่องเรื่องเสียงโหวตรัฐมนตรีในศึกซักฟอกที่จะมาถึงในคิวถัดไปอีกด้วย
ต่อมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ให้สัมภาษณ์ล่าสุด ว่า ตอนนี้พรรคยังไม่มีมติ แต่จะให้ ส.ส.พิจารณากันไป สอดคล้องกับท่าทีของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่กล่าวว่า อยู่ที่ ส.ส. ซึ่งแบบไหนก็เป็นประโยชน์กับพรรคทั้งนั้น ส.ส.พร้อมแบบไหน พรรคก็พร้อมแบบนั้น ส่วนตนจะเป็นแบบไหนก็ได้ ไม่ได้มีปัญหา หรือหนักใจอะไร
ทั้งนี้ ไม่ได้มองว่า การใช้สูตรคำนวณหารด้วย 100 กับ 500 จะทำให้ความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งแล้วแต่จะคิด วิธีการเลือกตั้งอยู่ที่ประชาชน รวมทั้ง นายนิโรธ สุนทรเลขา ในฐานะประธานวิปรัฐบาล จากพรรคพลังประชารัฐก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ส.ส.
ขณะที่ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุด นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวว่า ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้มีการสงวนความเห็นใน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้วิธีหารด้วย 500 และขณะนี้จากการที่ได้มีการพูดคุยและอธิบายเหตุผลกับ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่า มี ส.ส.ของพรรคบางส่วน ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์พิจารณาให้ลงมติให้ใช้วิธีหารด้วย 500 ซึ่งตนในฐานะที่เป็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมาธิการ ก็จะเสนอในที่ประชุมพรรค ให้พิจารณาลงมติให้ใช้วิธีหาร 500
นายอัครเดช กล่าวต่อถึงเหตุผลที่ต้องการให้ใช้วิธีหารด้วย 500 ว่า เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ต้องการให้มี ส.ส.พึงมี และในรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 ก็ยังคงมี ส.ส.พึงมี อยู่ ดังนั้น การที่จะแก้ไขกฎหมาย แล้วจะมาล้มล้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการใช้วิธีหารด้วย 500 นั้น ถือว่าเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ที่จะได้กำหนดให้แต่ละพรรคมี ส.ส.เท่าไหร่ในสภา ซึ่งจะเป็นการสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบคู่ขนานที่จะนำมาคำนวณแยกกัน
“จากที่ได้คุยกับ ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ หลายคนมีความเห็นเป็นไปในทางเดียวกัน และน่าจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการให้พรรคพิจารณาหารด้วย 500 และเรื่องนี้คงจะต้องไปหารือ และชี้แจงพรรค เพื่อลงมติว่าจะเอาแบบไหน” นายอัครเดช กล่าว
ขณะที่ในส่วนของพรรคฝ่ายค้านบางพรรค เช่น พรรคก้าวไกล นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า พรรคก้าวไกล มีนัดประชุมพรรค เพื่อพิจารณาต่อการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 5 กรกฎาคม โดยมีประเด็นต่อสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. มีความเห็นสนับสนุนต่อสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ใช้จำนวน 500 คน หาค่าเฉลี่ย แทนจำนวน 100 คน ดังนั้น พรรคต้องพิจารณาอีกครั้ง
นายธีรัจชัย กล่าวว่า สำหรับจุดยืนของตนสนับสนุนและต่อสู้ให้ใช้สูตรคำนวณด้วยจำนวน 500 คน หาค่าเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และจากการพูดคุยกับ ส.ส.พรรคเล็ก ที่สนับสนุนสูตร 500 คน พบว่า หากมติของรัฐสภายืนยันต่อการใช้จำนวน 100 คน หาค่าเฉลี่ย ส.ส. จะพบความยากลำบากมาก เนื่องจาก ส.ส. 1 คน ต้องมีคะแนน 3.3 แสนคะแนน ถึง 3.5 แสนคะแนน แต่หากใช้จำนวน 500 คน จะใช้คะแนนเพียง 7 หมื่นคะแนน แต่อย่างไรก็ดี หากพรรคมีมติอย่างไรพร้อมปฏิบัติตาม
นั่นคือ ความเคลื่อนไหว และท่าทีล่าสุดของแต่ละพรรคการเมือง ที่ยังไม่รวมท่าทีของ ส.ว.ที่ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ที่หนุนหาร 500 ต้องการคง ส.ส.พึงมี ซึ่งทำให้ประเมินได้ว่า สูตรที่ว่าหารด้วย 100 ตามความต้องการของพรรคใหญ่ก่อนหน้านี้ ที่คิดว่าคงใช้เสียงข้างมากผ่านแน่นั้น เอาเข้าจริงสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเป็น “ไม่แน่นอน” มีโอกาสลุ้นแบบ “ห้าสิบห้าสิบ” ได้เหมือนกัน แม้ว่าอาจจะเหลื่อมไปทางหาร 100 ก็ตาม แต่มันก็หวาดเสียวไม่น้อย
ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะผ่านออกมาเป็นสูตรไหน ก็น่าจะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และที่มีการขู่ว่าแม้ว่าจะผ่านออกมาเป็นสูตรหาร 500 แล้วทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เอาด้วย เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ กกต.เป็นผู้เสนอและทางคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็ตาม เพราะเอาเข้าจริง เมื่อรัฐสภาโหวตออกมาแบบไหน ตามเจตนารมณ์มันก็ต้องเอาตามนั้น เพราะเป็นมติรัฐสภา
ดังนั้น นาทีนี้หากให้คาดเดามันก็คาดเดาไม่ถูก ไม่กล้าฟันธงเหมือนกันว่าจะออกมารูปไหน แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย คงต้องลุ้นกัน “ขมคอ” ทีเดียว เพราะหากพลาดมันก็ส่งผลต่อเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” เหมือนกัน ขณะที่พรรคใหญ่อีกพรรคอย่างพลังประชารัฐ ก็อาจคิดใหม่ หลังจากกระแสพรรคตกรูด มันก็ยิ่งเสียเปรียบ จึงน่าจะไปลุ้นกันในแบบ ส.ส.เขต ถึงจะได้เสียมากกว่า หรือเปล่า ขณะที่พรรคขนาดกลางอื่นๆ ก็เริ่มลังเลเสียงอ่อยกันแล้ว เอาเป็นว่าอย่ากระพริบตาเป็นอันขาด !!