ล้มไม่ได้! “มท.” ปรับระเบียบสั่งการ ผู้ว่าฯ 76 จังหวัด เดินหน้าร่วม “บ.ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด” เน้น 70 จังหวัด หลังมีข้อมูลบริหารติดลบ เน้น “ระบบซีอีโอ” ให้ปรึกษาคําแนะนํา กระตุ้นการพูดคุยหารือการดําเนินงานของบริษัทประชารัฐ เฉพาะจังหวัดที่มีผลประกอบการติดลบ สั่งรายงานข้อมูลทุกสัปดาห์ นัด พช.ประสานแลกเปลี่ยน ภาคธนาคาร-บริษัทประชารัฐ พัฒนาความเข้มแข็งกองทุน-กลุ่มผู้ประกอบการ จับตา “ปากน้ำ” หาสาเหตุขับเคลื่อน ร่วม “กองทุนสตรี” ขาดทุน
วันนี้ (7 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าต่อการขับเคลื่อน “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด” นโยบายของรัฐบาล ยุค “พรรคพลังประชารัฐ” อีกครั้ง
ล่าสุด พบว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ส่วนกลาง
มีข้อสั่งการขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกแห่ง กําหนดปฏิทินเชิญ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จํากัด ในพื้นที่มาประชุมขับเคลื่อนงาน
“ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทําหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คําแนะนํา โดยการกระตุ้นให้มีการพูดคุยหารือการดําเนินงานของบริษัทฯ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีผลประกอบการติดลบ”
ขอให้กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ประสานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับภาคธนาคาร หรือ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จํากัด ในการพัฒนาความเข้มแข็งของกองทุนหรือกลุ่มผู้ประกอบการในความรับผิดชอบเช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP เป็นต้น
ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ค้นหาสาเหตุที่การขับเคลื่อนบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จํากัด รวมทั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ยังไม่ประสบความสําเร็จ
โดยขอให้ขับเคลื่อนการดําเนินงานให้ดีขึ้น และรายงานข้อมูลความคืบหน้าให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกสัปดาห์
สำหรับคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ส่วนกลาง นอกจากมี ตัวแทน บริษัท 76 จังหวัด แล้ว
ยังมีตัวแทน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ภาคเอกชน ที่เป็นองค์กรร่วมขับเคลื่อน ทั้ง 76 จังหวัด ในฐานะคณะทำงานร่วมอยู่ด้วย
สำหรับข้อสั่งการขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกแห่ง เร่งประสานกับบริษัท ประชารัฐ เนื่องจาก พว่า มีปัญหาสำคัญ 3 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 ด้านการตลาด เนื่องจากการพัฒนาสินค้ายังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค บริษัทจะต้องเข้าไปช่วยพัฒนาและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งรวมถึงสินค้าที่เป็นด้านบริการด้วย
ประเด็นที่ 2 ด้านแหล่งเงินทุน ซึ่งข้อมูลผลประกอบการจากทั้ง 76 บริษัท
“แสดงให้เห็นว่า มีไม่ถึง 10 บริษัท ที่มีผลประกอบการเป็นบวก แม้ว่า บริษัททั้ง 76 จังหวัด จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ก็ตาม แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่สามารถนำรายได้กลับมาเพื่อใช้ในการบริหารงานของ บริษัท ได้ด้วย”
ทั้งนี้ ได้ทำความเข้าใจกับบริษัท เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการหารายได้ เพื่อใช้ในการบริหารงานของบริษัท ให้สามารถเติบโตช่วยเหลือชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ประเด็นที่ 3 ด้านการบริหารจัดการภายใน ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทไม่สามารถทำสร้างผลประกอบการที่ดีได้ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายบริษัทฯ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารภายในทำให้การบริหารงานไม่ต่อเนื่อง
.
ขณะที่ ข้อมูลของมหาดไทย พบว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ทั้ง 76 จังหวัด ยังมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่มีผลประกอบการเป็นบวก และมีอีกจำนวนมากที่มีผลประกอบการเป็นลบ ซึ่งส่งผลต่อความยั่งยืนของบริษัท
การดำเนินการในระยะต่อไปนั้น ควรมีการนำข้อมูลผลประกอบการของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ทั้งข้อมูลด้านบวกและด้านลบ มาใช้ในการบริหารจัดการอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้การบริหารจัดการของบริษัทเป็นไปอย่างยั่งยืน และอยากให้มีการลงรายละเอียดของแต่ละบริษัท
เพื่อวิเคราะห์เป็นภาพรวมของประเด็นปัญหา จุดแข็ง จุดอ่อน เพื่อที่คณะทำงานฯ จะได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน ข้อแนะนำ ให้ บริษัท ประชารัฐรักษาสามัคคี จำกัด ของหลายจังหวัดที่ยังประสบปัญหาด้านผลประกอบการได้นำไปแก้ไขอย่างถูกต้องและตรงจุด
.
ขณะ ที่คณะทำงาน ได้เร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งในการที่จะชักชวนภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมทำงาน
“ทีมงานจะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่มาร่วมกันทำงานให้ได้ โดยหนึ่งวิธีในการสร้างแรงจูงใจ คือ การได้รับความสนใจและการให้การยกย่องเชิดชูจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด”
ซึ่งคณะทำงานจะได้หารือร่วมกันต่อไปในแนวทางการสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชน ที่จะช่วยทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้ด้วยดีมากยิ่งขึ้น
มหาดไทย ยังเคยทำบทวิเคราะห์ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 76 เล่ม โดยนำเสนอข้อมูลของแต่ละบริษัท อย่างตรงไปตรงมา วิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนา
เพื่อปรับปรุงและหนุนเสริมให้ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และนำเอาตัวอย่างความสำเร็จของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ในจังหวัดที่ประสบผลสำเร็จไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับแต่ละพื้นที่
โดยจะได้มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมขับเคลื่อนนโยบายในประเด็นที่เกี่ยวกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ในโอกาสต่อไป
มีรายงานว่า จุดอ่อนหนึ่งของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด คือ การมีกฎระเบียบที่ห้ามไม่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของบริษัท
แต่ในความหมาย คือ การให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปเป็นเสาหลัก ในฐานะพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา หรือเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการที่จะทำให้การบริหารจัดการของบริษัทฯ เป็นไปได้ด้วยดี
และสร้างความตระหนักว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด สามารถมีรายได้เท่าที่จำเป็น สำหรับใช้ในการบริหารจัดการบริษัท เพื่อให้เกิดความยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวอย่างยั่งยืน
.
สำหรับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด เกิดขึ้น เป็นนโยบายที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผลักดันสมัยยังอยู่กับพรรคพรรคพลังประชารัฐ
เมื่อปี 2560 บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคมประเทศไทย จำกัด)
เป็น นิติบุคคลที่ถูกจัดตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2559 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในท้องถิ่นในการส่งเสริมอาชีพผ่านกลุ่มงานเกษตร แปรรูป และท่องเที่ยว ตามนโยบายและแนวทางการดำเนินงานสานพลังประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
แจ้งผลประกอบการรอบปี 2559 มีรายได้ 3.6 ล้านบาท แจ้งงบการเงินรอบปี 2559 รายได้รวม 3,648,118 บาท รวมค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 12,939,064 บาท ขาดทุนสุทธิ 12,119,795 บาท
จดทะเบียนวันที่วันที่ 29 เมษายน 2559 ทุน 100 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 90 อาคารซีดับเบิลยู ทาวเวอร์ ชั้น 1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ถือ 99,996 หุ้น (99.99%) นายอิสระ ว่องกุศลกิจ (กลุ่มน้ำตาลมิตรผล) นายศุภชัย เจียรวนนท์ (กลุ่มซีพี)
นางปรีดา คงแป้น (ตัวแทน ภาคสังคม) และ นายมีชัย วีระไวทยะ คนละ 1 หุ้น รวม 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ชำระแล้วหุ้นละ 250 บาท
ณ วันที่ 16 มกราคม 2561 นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ถือ 84,998 หุ้น (84.99%) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) รายละ 1,000 หุ้น (รายละ 1%) นางปรีดา คงแป้น 1 หุ้น นายมีชัย วีระไวทยะ 1 หุ้น (รวม 18 ราย) กรรมการ 10 คน
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี นายศุภชัย เจียรวนนท์ นางปรีดา คงแป้น นายมีชัย วีระไวทยะ นายพลเดช ปิ่นประทีป นายอนันต์ ดาโลดม น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา นายภราเดช พยัฆวิเชียร และ นางต้องใจ ธนะชานันท์
ส่วน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคมประเทศไทย ในต่างจังหวัด ปัจจุบันจดทะเบียนจัดตั้งครบ 76 จังหวัด
กลุ่มสิริวัฒนภักดี ยังคงถือหุ้นใหญ่ บางจังหวัดถือหุ้น 81% บางจังหวัด อาทิ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 50%
บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประจวบคีรีขันธ์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด มีกลุ่มบริษัท วานา นาวา จำกัด ของกลุ่มลิปตพัลลภ ร่วมถือหุ้นด้วย 25% เป็นต้น
ขณะที่ บางบริษัทจังหวัด พบว่า มีนักการเมือง เข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย.