xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยุติธรรม หนุนใช้ 4 เสาหลักสกัดยาเสพติดชายแดนใต้ คลี่คลายนักโทษล้นคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พร้อมคณะ ร่วมงานวันรวมพลังมวลชนแก้ปัญหายาเสพติดชายแดนใต้ พบแพร่ระบาดค่อนข้างรุนแรง แม้ไม่ใช่แหล่งผลิต

วันนี้ (24 ก.พ.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางมายังอาคารลานพิกุล มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส พร้อมด้วยคณะ อาทิ พล.ต.ท.พัฒนวุธ อังคะนาวิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อม นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ จังหวัดนราธิวาส และโฆษกพรรคประชาชาติ , นายธนาวิทย์ ไชยานุพงศ์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาชาติ และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองนราธิวาส ฯลฯ เพื่อร่วมงานวันรวมพลังมวลชนแก้ปัญหายาเสพติดชายแดนใต้ (นราธิวาส)

ซึ่งจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของ พล.อ.วิชาญ สุขสง อดีตเสนาธิการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยภายหลังจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้นำงบประมาณให้ภาคประชาชนดำเนินการ พบว่าบรรลุเป้าหมายสามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดของยาเสพติดได้ โดยเฉพาะในเขตชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ ด้วยการนำผู้เสพไปเข้าทำการบำบัดยังศูนย์ 2 แห่ง คือ ศูนย์บ้านแสนสุข และศูนย์อุ่นไอรัก ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ทำให้ผู้เสพกว่า 5,000 ราย เลิกยาเสพติดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แถมยังมีการจัดเจ้าหน้าที่ภาคเอกชนติดตามพฤติกรรมไม่ให้กลุ่มดังกล่าวเข้าไปมั่วสุมซ้ำอีก

โดยมี พ.อ.เฉลิมชัย สิทธินวล ผอ.สำนักกฏหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คอยเป็นพี่เลี้ยงในการปรึกษาหารือข้อกฏหมาย หากมีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฏหมายกับกลุ่มพ่อค้าหรือเอเย่นต์ ที่เป็นต้นตอของการแพร่ระบาย จนปัจจุบันสามารถขยายผลไปสู่เรือนจำที่มีผู้ต้องขังยาเสพติดลดลง อันเนื่องมาจากผู้ต้องขังส่วนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เสพ ได้ถูกแยกมาทำการบำบัด
ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานมีการถ่ายทอดวีดีโอคอลฟอเรนซ์ผ่านระบบซูมไปยัง 9 กลุ่ม 16 จุด อาทิ สำนักงานเทศบาล โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา สำนักงาน อบต. ซึ่งมีกลุ่ม 4 เสาหลัก อาทิ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน กำนันและผู้ใหญ่บ้านในแต่ละแห่งรับฟัง และสอบถามข้อซักถามต่างๆ
ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหายาเสพติดค่อนข้างที่จะมีความสลับซับซ้อนโดยเฉพาะในพื้นที่ของภาคใต้ ถึงจะไม่ใช่แหล่งผลิตก็ตามแต่เป็นทางผ่าน และที่สำคัญเป็นแหล่งแพร่ระบาด ซึ่งตัวเลขที่เป็นรูปธรรมถ้าในเรือนจำที่เป็นข้อหายาเสพติด ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส 5,000 กว่าคน แต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกว่าที่ถูกจับครอบครองยาเสพติดและเสพที่ศาลยังไม่ได้ลงโทษอยู่คุมประพฤติ แล้วให้กลับไปอยู่ตามหมู่บ้านกับชุมชนอีกประมาณ 6,000 กว่าคน ซึ่งรวมแล้วก็ประมาณ 12,000 คน ซึ่งยังถือว่าโชคดีที่ 5,000 กว่าคนนั้นอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเรือนจำก็จะช่วยในการควบคุมไม่ให้ใช้ยาเสพติดต่อ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า บางส่วนที่ตำรวจจับแล้วไปส่งถึงศาลแล้วศาลเห็นว่าเป็นคดีไม่ลงโทษแต่รอลงอาญา แล้วให้คุมประพฤติให้ไปอยู่ตามหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งประชาชนก็จะเกิดความสงสัยว่าทำไมตำรวจจับไปแล้วอีก 2 ถึง 3 วันถึงปล่อยออกมา ในส่วนนี้เราจะมาคุยกันว่าในกลุ่ม 2 กลุ่มนี้ ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ ก็ต้องยอมรับว่าพวกเขาเป็นผู้ที่ก้าวพลาด ประชาชนที่มีศักดิ์ศรีเราก็จะพยายามพัฒนา ซึ่งถ้าเราใช้คน 10,000 คนมาช่วยกันพัฒนา ซึ่งเบื้องต้นเราก็จะดูว่าให้เขาได้หาย จากนั้นก็มาสร้างงานสร้างอาชีพ ก็จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส

“แต่การแพร่ระบาดในพื้นที่ที่เป็นปัญหาใหญ่ คงจะต้องมีการป้องกันปราบปรามกันอย่างจิงจัง ซึ่งอีกส่วนนึงเราถูกมองว่าถูกประเทศเพื่อนบ้านมองว่าเราเป็นทางผ่านของยาเสพติด ซึ่งยาเสพติดพวกนี้จะถูกผลิตต่างประเทศแต่เข้ามายังประเทศไทย ดังนั้นวันนี้จังหวัดนราธิวาสจึงเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ ซึ่งจังหวัดทางภาคเหนือเองเรามีการสกัดกั้นไม่ให้เข้า และจังหวัดนราธิวาสมีการสกัดกั้นไม่ให้แพร่ระบาดกับการไม่ให้เป็นทางผ่านให้เป็นประเทศเพื่อนบ้าน

รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า ถ้ามีการค้ายาเสพติดมันจะแฝงไปด้วยการของหนีภาษี การค้ามนุษย์ไปด้วย เพราะเป็นจุดหมายที่จะมาพบปะและการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะยาเสพติดเป็นปัญหากับประชาชนจริงๆ เราจึงเอาปัญหาของประชาชนมาร่วมกันแก้โดยกระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ป.ป.ส.และรัฐบาลจะมีการส่งเสริมและสนับสนุน โดยให้ฟังความคิดเห็นของผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และส่วนราชการต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อต้องการให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ พล.อ.วิชาญ สุขสง อดีตเสนาธิการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนใต้ ได้กล่าวบรรยายให้ความรู้ถึงเหตุผล ผลได้ผลเสียและโทษภัยที่นำไปสู่การคุกคามภายในครอบครัว ที่เป็นต้นตอและกลไกการแพร่ระบาดของยาเสพติดในแต่ละชุมชน ที่ปัจจุบันทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ที่สามารถนำไปสู่เป็นพื้นที่ปลอดการแพร่ระบาดยาเสพติดในอนาคตได้ ซึ่งมีนายไชยยงค์ รุ่งสกุล ประธานการสื่อสารสร้างความเข้าใจ เป็นผู้ประสานงานระหว่างภาคเอกชนกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้มีแนวคิดในทิศทางเดียวที่นำไปสู่ความร่วมมือด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น