xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.นิว” ถาม “ก้าวไกล” เป็นนอมินีรับงานต่างชาติ ใช่หรือไม่? “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ชี้ ชักศึกเข้าบ้าน! ปมกมธ.สภา เสวนาปัญหาพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ประกอบโพสต์ ดร.นิว ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan
“ดร.นิว” ซัด “ก้าวไกล” สร้างความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ถาม เป็นนอมินีรับงานต่างชาติ ใช่หรือไม่? “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ชี้ “ชักศึกเข้าบ้าน” ปมกมธ.สภาเสวนาปัญหาพม่า “โรม” ไม่โต้แย้ง กต.เมียนมา ไม่พอใจ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(4 มี.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ของ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า

“นี่ขนาดเป็นฝ่ายค้าน ยังสร้างความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านถึงเพียงนี้ ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ประเทศไทยของเราอาจจำต้องเปิดศึกกับประเทศเพื่อนบ้านเลยหรือไม่? เห็นได้ชัดว่า พรรคก้าวไกลชอบอ้างประชาชนในการโฆษณาชวนเชื่อ แต่ในความเป็นจริงพรรคก้าวไกลเป็นนอมินีรับงานต่างชาติใช่หรือไม่?”

ภาพ นายนันทิวัฒน์ สามารถ จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ “ชักศึกเข้าบ้าน”

ระบุว่า กรรมาธิการสภากำลังทำอะไร จัดเสวนาปัญหาพม่า มีคำถามว่า เรากำลังเปิดให้กลุ่มต่อต้าน มีเวทีในการด่ารัฐบาลเพื่อนบ้าน เป็นเวทีรัฐสภาไทย ตัวแทนกลุ่มต่อต้านพม่ามาอภิปราย จะให้รัฐบาลเพื่อนบ้านคิดยังไง ไม่พ้นไทยแทรกแซงเพื่อนบ้าน แถมสนับสนุนกลุ่มตรงข้ามรัฐบาลพม่า

หากต้องการให้เป็นเรื่องทางวิชาการ ทำไมไม่ให้สถาบันพระปกเกล้า หรือสถาบันการศึกษาจัดจะดีกว่าไหม สุดท้าย กระทรวงต่างประเทศพม่า ได้ทำหนังสือประท้วงแล้ว ระบุกระทบความสัมพันธ์ไทย/พม่า รัฐสภาไทยต้องไม่เป็นเครื่องมือ แทรกแซงเพื่อนบ้าน สนองนโยบายของตะวันตก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ให้ฝ่ายบริหารและ กต.จัดการ

ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐสภา อยู่กันดีๆไม่ชอบ ชักศึกเข้าบ้าน

ภาพ นายรังสิมันต์ โรม จากแฟ้ม
อย่างไรก็ตาม รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังลงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ที่ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ออกแถลงการณ์ไม่พอใจ กรณีที่รัฐสภาของไทย นำโดยคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ จัดงานเสวนา 3 ปี หลังรัฐประหารเมียนมา เมื่อวันที่ 2-3 มีนาคมที่ผ่านมา โดยให้พื้นที่กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมา

โดยนายรังสิมันต์ ระบุว่า เข้าใจที่ทางการเมียนมาทำหนังสือมา และคงไม่ได้ไปโต้แย้ง แต่ขอยืนยันว่า เราทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ มีหน้าที่ต้องศึกษาผลกระทบต่างๆ ที่อาจมีต่อประเทศไทย ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของไทย ดังนั้นการกระทำที่เกิดขึ้นไม่ได้ไปละเมิดกฎหมายอย่างแน่นอน

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เราต้องยอมรับว่าสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมา มันมีผลกระทบมาถึงประเทศไทย เช่น การลักลอบเข้าเมือง รวมถึงอีกหลายปัญหา หากไม่มีการศึกษาปัญหานี้ ก็คงหาทางแก้ไม่ได้ ยืนยันว่า หากไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ก็คงไม่จำเป็นจะต้องจัดเวทีเสวนานี้ขึ้น แต่สาเหตุที่ทำ เนื่องจากต้องการรวบรวมข้อมูลให้กับรัฐบาลไปแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในสายตาของคณะกรรมาธิการฯ

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า การเชิญผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับรัฐบาลเมียนมา จะไม่เป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ฝ่ายทหารเมียนมากับรัฐบาลไทย มีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่แล้ว ทางไทยมีการติดต่อและรับข้อมูลที่มากเพียงพอแล้ว แต่แนะว่า เราควรฟังให้รอบด้าน ไม่ใช่ข้อมูลที่มาจากย่างกุ้งหรือเนปิดอร์เท่านั้น หากไม่รู้จักบริบทมากพอ โอกาสที่ไทยจะแก้ปัญหาและสร้างมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

“ถ้าดูดีๆ งานของเราไม่ถึงขนาดว่าเปิดเผยกว้างขวางไปทั่วโลก หลักๆ คือ เราต้องการให้เขาถ่ายทอดให้เรา เพื่อรวบรวมเป็นรายงานส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”

นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ ยืนยันว่า การพูดคุยครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อวางแผนแทรกแซงรัฐบาลเมียนมา และไม่ได้เป็นการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับชนกลุ่มน้อย แต่มาพูดคุยว่าจะช่วยเหลือคนที่อยู่ในเมียนมาได้อย่างไร เชื่อว่า รัฐบาลเมียนมาควรภูมิใจและเห็นด้วย ที่ไทยยื่นมือมาช่วยแบบนี้ จึงไม่คิดว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้น

ส่วนหากสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) มองว่ามีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับไทยก็คงไม่เถียง แล้วแต่มุมมอง แต่เชื่อว่า ในระดับประชาชนเมียนมาจะได้รับประโยชน์จากการพูดคุยกัน คงไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น