“เรืองไกร” ร้อง ป.ป.ช.ตรวจสอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ ผู้ว่าการ ธปท.พบรายได้ต่อปีบางรายการแตกต่างจากยอดรายได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีจำนวนมาก พร้อมให้ตรวจสอบ “เศรษฐา” ยอดรายได้แตกต่างจากยอดเงินได้พึงประเมินจำนวนมากเช่นกัน
วันที่ 19 ก.พ. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า หลังจากใช้เวลาตรวจสอบเปรียบเทียบบัญชีทรัพย์สินของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับบัญชีทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรี ที่ยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช. ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางบัญชี ภาษี มาช่วยด้วย พบว่า มีเหตุอันควรสงสัยบางรายการและน่าจะมีนัยสำคัญ จึงได้ส่งหนังสือไปให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับ นายกรัฐมนตรี ว่า มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ยอดรายได้ ยอดเสียภาษี แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร และเป็นการแจ้งโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของ ป.ป.ช. หรือไม่ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 โดยระบุข้อความบางส่วนที่ควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ดังนี้ แจ้งรายได้ต่อปี (โดยประมาณ) รายได้ประจำ (1) เงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าจ้างให้อบรม 10,000,000 บาท (2) เงินบำนาญ 1,900,000 บาท แต่ไม่พบข้อมูลการแจ้งเงินได้พึงประเมิน แจ้งบัญชีรายการสิทธิและสัมปทานของตนเองไว้ 2 รายการ มูลค่ารวม 1,151,500 บาท
ข้อ 2. นายเศรษฐพุฒิ ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ครบ 3 ปี เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยระบุข้อความบางส่วนที่ควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ดังนี้ แจ้งรายได้ต่อปี (โดยประมาณ) รายได้ประจำ (1) เงินเดือน 13,338,859.96 บาท (2) ค่าเบี้ยประชุม 4,720,000 บาท (3) เงินบำนาญ 2,344,288.52 บาท แต่แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร 5,396,420.99 บาท ทำให้เกิดข้อสงสัยอันควรตรวจสอบ ว่า ยอดรายได้ที่แจ้งในช่วงระหว่าง 3 ปี ทำไมแตกต่างจากยอดเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร จำนวนมาก แจ้งบัญชีรายการสิทธิและสัมปทานของตนเองไว้ 6 รายการ มูลค่ารวม 17,332,596.35 บาท โดยลำดับที่ (14) คือ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานกลุ่ม ธ.ไทยพาณิชย์ (คงเงิน) วัน/เดือน/ปี ที่ได้มา 2551-2555 จำนวน 4,689,765.04 บาท ซึ่งหากระบุว่าได้มาระหว่างปี 2551-2555 ทำให้เกิดข้อสงสัยอันควรตรวจสอบว่า ในกรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 ควรแจ้งด้วยหรือไม่
ข้อ 3. นายเศรษฐา ทวีสิน ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 โดยระบุข้อความบางส่วนที่ควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ดังนี้ แจ้งรายได้ต่อปี (โดยประมาณ) 1. รายได้ประจำ (1) เงินเดือนค่าจ้างและโบนัส 153,570,160 บาท (2) เงินบำนาญชราภาพ 45,694 บาท (3) เบี้ยประชุมและค่าวิทยากร 185,000 บาท 2. รายได้จากทรัพย์สิน (5) เงินได้จากการสิ้นสุดสมาชิกภาพในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 65,200,328.80 บาท 5. รายได้อื่น (1) เงินชดเชยกรณีเกษียณอายุ 13,333,333 บาท แต่แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร 72,865,237.11 บาท ทำให้เกิดข้อสงสัยอันควรตรวจสอบ ว่า ยอดรายได้ที่แจ้ง ทำไมแตกต่างจากยอดเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรจำนวนมาก และมีการแจ้งยอดรายได้ในส่วนของเงินเดือนนายกรัฐมนตรีไว้ด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ ยังแจ้งบัญชีรายการสิทธิและสัมปทานของตนเองไว้ 6 รายการ มูลค่ารวม 87,539,563.78 บาท โดยลำดับที่ (2) คือ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาสเตอร์ฟันก์ วัน/เดือน/ปี ที่ได้มา 15 ก.พ. 2533 วัน/เดือน/ปี ที่สิ้นสุด 5 ก.ย. 2566 จำนวน 65,200,328.80 บาท ซึ่งเป็นยอดจำนวนที่ตรงกันกับการแจ้งรายได้จากทรัพย์สิน (5) เงินได้จากการสิ้นสุดสมาชิกภาพในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 65,200,328.80 บาท ทำให้เกิดข้อสงสัยอันควรตรวจสอบว่า ยอดที่แจ้งไว้ทั้งสองรายการคือเป็นทั้งรายได้และเป็นทรัพย์สินนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ป.ป.ช. หรือไม่ มีการนำไปเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ และต่างจากการแจ้งของนายเศรษฐพุฒิ ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไร หรือไม่