ก.พ.ร. แจงความคืบหน้า “ยุบ” กองตำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “บก.ปทส.” ก่อนถ่ายโอนภารกิจ ตามพ.ร.บ.ตำรวจฯ ไปยัง ทส. สิ้นปีนี้ เน้นทั้งป้องกันปราบปราม สืบสวนสอบสวนคดีทรัพยากรฯ ภายใต้กรอบกฎหมายฯ รวมกว่า 8 ฉบับ เร่ง ทส. ทำคู่มือป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ประสาน บก.ปทส.ปรับโครงสร้าง อัตรากำลัง
วันนี้ (15 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 โดย ครม. เมื่อ 13 ก.พ. ได้รับทราบรายงาน
ซึ่งบัญญัติให้ภายในสองปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ. ใช้บังคับและให้ ก.พ.ร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบ
เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ร่วมหารือในประเด็นกฎหมาย เช่น ป่าไม้ ป่าสงวน อุทยาน การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฯลฯ
ให้หน่วยงานรับผิดชอบในการป้องกันและปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวน การกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่จะได้ตกลงกัน
โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ และการบูรณาการในการปฏิบัติหน้าที่ และการแบ่งเบาภารกิจของ สตช.
ล่าสุด ก.พ.ร. แจ้งว่า จากการหารือ ตั้งแต่ปี 2565 ได้ศึกษาข้อมูลของกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กลไกการทำงานตามภารกิจด้านการป้องกันและปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมาย ร่วมกับกระทรวง ทส. และ สตช.
พบว่า มีความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าวจาก สตช. ไปยัง กระทรวง ทส. เพื่อแบ่งเบาภารกิจของ สตช.
ขณะที่ กระทรวง ทส. ได้ดำเนินการตัดโอนภารกิจการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวน (ก่อนการจับกุม) และการจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จาก สตช. ภายใต้กรอบกฎหมาย 8 ฉบับ
ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของ กระทรวง ทส. เป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ทั้งนี้ ยังคงให้ตำรวจช่วยดำเนินการในกรณีปฏิบัติการภารกิจฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือปฏิบัติงาน ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
รวมทั้งจัดทำแนวปฏิบัติการทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ภายใน 1 เดือน และศึกษาความเป็นไปใต้และความเหมาะสมในการตัดโอนภารกิจเพิ่มเติม
ขณะที่ สตช. อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างและอัตรากำลังของ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้สอดคล้องกับภารกิจที่ลดลง
เมื่อปลายปีที่แล้ว กระทรวง ทส. ได้ดำเนินการจัดทำคู่มือ การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด
เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองรับภารกิจการดำเนินการตามมาตรา 165 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ภายใต้กรอบกฎหมาย 8 ฉบับเรียบร้อยแล้ว ได้แก่
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2485 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พ.ร.บ.เลื่อยโช่ยนต์ พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558
พ.ร.บ.งาข้าง พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน ของพนักงานเจ้าหน้าที่
โดยได้จัดส่งให้ บก.ปทส. ร่วมพิจารณาก่อนนำไปปฏิบัติ และร่วมดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และ ผลกระทบจากการตัดโอนภารกิจเพิ่มเติม ภายใต้กรอบกฎหมาย 5 ฉบับ
ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวง ทส. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ พ.ร.บ. นํ้าบาดาล พ.ศ. 2520 พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. 2561
จากการศึกษาพบว่า กฎหมายทั้ง 5 ฉบับ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการคุ้มครอง ตรวจสอบ ส่งเสริม กฎหมาย จึงได้จำกัดอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตอบสนองต่อภารกิจในด้านการป้องกันเท่านั้น
ส่วนกรณีการปราบปราม การจับกุม การสืบสวน และการสอบสวน ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือกับตำรวจและหน่วยงานอื่น
ล่าสุด สตช. แจ้งว่า อยู่ระหว่างดำเนินการวางกรอบอำนาจหน้าที่และ ปรับโครงสร้าง อัตรากำลังของ บก.ปทส. สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สตช.เพื่อให้สอดคล้อง กับภารกิจที่ลดลง และไม่ทับซ้อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ให้เร่งรัดดำเนินการปรับโครงสร้าง บก.ปทส. ให้สอดคล้องกับภารกิจที่ลดลง และเกลี่ยอัตรากำลังพลไปปฏิบัติงานในภารกิจที่ขาดแคลน และมีความจำเป็นเร่งด่วน”
รวมทั้งให้ สตช.ยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบหรือเปลี่ยนแปลง บก.ปทส. ให้สอดคล้องกัน ให้แล้วเสร็จภายในกลาง ปี 2567 เพื่อให้เป็นไปตามกำหนด ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 17 ต.ค.นี้.