xs
xsm
sm
md
lg

“สุวัจน์” เปิดงานฟอสซิลเฟสติวัล ชูโคราชเป็นมหานครแห่งบรรพชีวินของโลก ดึงดูด นทท.เชิงธรณีวิทยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “สุวัจน์” เปิดงานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 8 ชูโคราชเป็นมหานครแห่งบรรพชีวินโลก หนุนรัฐบาลปั้นเป็นแพกเกจท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาโคราชเมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก

วันนี้ (25 มกราคม 2567) เวลา 10.00 น. ที่วาไรตี้ฮอลล์ ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้เป็นประธานในการเปิดงาน “ฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 8” ขึ้น ภายใต้สโลแกน “โคราชมหานครแห่งบรรพชีวินโลก” โดยมี รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวให้การต้อนรับ และมีประชาชนให้ความสนใจร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี
สำหรับงานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 8 นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มกราคม 2567 เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษที่โคราชจีโอพาร์คโลก (Khorat UNESCO Global Geopark) หรืออุทยานธรณีโลกโคราช ได้รับการรับรองจากยูเนสโก เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 และการครบรอบ 30 ปี สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ กับการขับเคลื่อนก้าวต่อไปที่ยั่งยืน ซึ่งการจัดงานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “มหานครแห่งบรรพชีวินของโลก World Paleontopolis” จากความโดดเด่นของแหล่งธรณีวิทยา ธรรมชาติ และวัฒนธรรม พร้อมทั้งยังเป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทยที่มีโปรแกรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของยูเนสโกครบทั้ง 3 โปรแกรม ได้แก่ 1. มรดกโลก : กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 2. มนุษย์และชีวมณฑล พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช และ 3. จีโอพาร์คโลก : โคราชจีโอพาร์คโลก จึงได้รับการขนานนาม “โคราชเมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก หรือ UNESCO Triple Heritage City”


พื้นที่ภายในงานประกอบไปด้วย กิจกรรม Zone A : Think Talk and Talent Space พื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด เสวนา และการแสดงความสามารถ กิจกรรม Zone B : Fossils and History Exhibition Space นิทรรศการโคราชมหานครแห่งบรรพชีวินของโลก นิทรรศการภาพถ่ายโคราชจีโอพาร์ค และนิทรรศการประวัติศาสตร์อารยธรรมทวารวดีศรีจนาศะ กิจกรรม Zone C : Fossils Creative and Fun Space พื้นที่สร้างสรรค์และเติมพลังความสนุก และกิจกรรม Zone D : Triple Heritage Market Space การออกร้านสินค้าชุมชนจากพื้นที่โคราชเมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก กิจกรรมไฮไลต์สำคัญเพื่อการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาโคราชจีโอพาร์คโลกให้ยั่งยืน “การนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นในเวทีสาธารณะ” ร่วมด้วยการเสวนาพิเศษ “โคราชจีโอพาร์คโลก : ปฐมบทสู่โคราชมหานครแห่งบรรพชีวินโลก” การเสวนาหัวข้อ “Triple Heritage City Future Forum อนาคตเมืองสามมรดกยูเนสโกบนเส้นทางเดียวกัน : Triple Heritage Ring Road” พร้อมทั้งการบรรยายพิเศษ “เสือโคราชพันธุ์ใหม่ของโลก” “ที่สุดของไดโนเสาร์ไทยและนครศรีจนาศะ” “ห้องเรียนสาธารณะ Geopark Academy” และพบกับกิจกรรม “การเดินแบบกิตติมศักดิ์ภายใต้แนวคิดอัตลักษณ์ทางอารยธรรมทวารวดีศรีจนาศะและพื้นที่สามมรดกยูเนสโก” และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ กิจกรรมการประกวดแข่งขัน และการออกร้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนพื้นที่สามมรดกยูเนสโก


เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เรื่องโคราชจีโอพาร์คโลก มหานครแห่งบรรพชีวินโลก ให้เป็นที่รับรู้ของชาวโคราชและชาวไทยทั้งประเทศ และเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยาซากดึกดำบรรพ์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ดินแดนสามมรดกยูเนสโก ภายใต้โครงการการปฏิรูประบบบริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อรองรับการขับเคลื่อนท้องถิ่นตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานองค์ความรู้และวิจัยด้านบรรพชีวิน จีโอพาร์คและวัฒนธรรมสู่ความยั่งยืน


นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า การจัดงานฟอสซิลเฟสติวัล ก็ถือว่าจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 แล้ว เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวโคราช และประชาชนทั่วไปได้รับทราบว่าพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องซากดึกดำบรรพ์และฟอสซิลต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งครั้งนี้มีความสำคัญกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจาก จ.นครราชสีมาเพิ่งจะได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีโลก ที่ประกอบไปด้วย 5 อำเภอของ จ.นครราชสีมา คือ อ.เมือง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทั้ง 5 อำเภอนี้เต็มไปด้วยซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ เช่น ซากไม้กลายเป็นหิน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ช้างโบราณ และไดโนเสาร์ เป็นต้น ที่นับว่าเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยฟอสซิลมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงได้ยกระดับจากการเป็นอุทยานธรณีโคราช เป็นอุทยานธรณีโลก


ส่งผลให้ขณะนี้ จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งใน 4 ของทุกจังหวัดทั่วโลกที่มี 3 องค์ประกอบที่องค์การยูเนสโกรับรอง หรือเรียกตามสากลว่า Triple Heritage City ได้แก่ 1. มีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นมรดกโลก 2. มีพื้นที่สงวนชีวมณฑล ที่ อ.ปักธงชัย และ 3. มีพื้นที่อุทยานธรณีโลกในพื้นที่ 5 อำเภอดังกล่าว

แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งปัจจุบันนี้เศรษฐกิจของไทยต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นเราต้องส่งเสริมเรื่องนี้ให้เป็นที่รับรู้ของนักท่องเที่ยวในวงกว้าง สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการผลักดันส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับมาเหมือนเดิม เหมือนก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณปีละ 40 ล้านคน แต่ปีที่แล้วเรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยประมาณ 27 ล้านคนเท่านั้น


ถ้าปีนี้รัฐบาลช่วยผลักดันการประชาสัมพันธ์พื้นที่ จ.นครราชสีมา เป็นมหานครบรรพชีวินโลก อาจจะมีการจัดแพกเกจการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับรู้ในวงกว้าง ก็จะสามารถช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้เป็นอย่างมาก เพราะตอนนี้ระบบคมนาคม การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมาสู่พื้นที่ จ.นครราชสีมา มีความพร้อมเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดใช้ถนนมอเตอร์เวย์ M6 การสร้างถนนวงแหวนรอบนอกเมืองโคราช การก่อสร้างรถไฟทางคู่ และอนาคตกำลังมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมา จ.นครราชสีมาได้อย่างสะดวกสบาย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ต่อไปถ้าสามารถดึงนักท่องเที่ยวที่มาแถบทะเลอันดามัน หรือภูเก็ต แล้วเขาเห็นว่าที่ จ.นครราชสีมา มีแหล่งท่องเที่ยวทางด้านธรณีวิทยาระดับโลกอยู่ถึง 3 แห่ง จะทำให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกลายเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของไทยด้วย ซึ่งจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจกระจายไปสู่ท้องถิ่น ชาวบ้านระดับรากหญ้าได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง มีผลไปถึงทำให้ GDP ของประเทศเติบโตตามไปด้วยอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น