“พล.ต.อ.พัชรวาท”ตอบกระทู้สภาฯแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช รับปากให้ สนง.นโนบายชี้แจงเร่งด่วน
15 ก.พ. 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามสด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงกรณีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช
โดยนายพิทักษ์เดช กล่าวว่า ตัวแทนลุ่มน้ำปากพนัง วันนี้มีกระทู้ถามสดด่วนด้วยวาจาที่จะต้องถาม พล.ต.อ.พัชรวาท ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ที่อยู่ในการกัดเซาะแนวชายฝั่งเป็นพื้นที่ของกรมทรัพยากรชายฝั่ง พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำมาหากิน ปลูกพืชผลทางการเกษตร หรือบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตลอดแนวชายฝั่งของ อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เกิดมรสุมทุกปี ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ
“ปัญหาเหล่านี้ผมต้องกราบยืนยันว่าเป็นปัญหาที่ซ้ำซากมาเป็นเวลาระยะ 7-8 ปี ผมลงไปดูพื้นที่ชายฝั่ง แม้กระทั่งศาลพระภูมิยังหนีเจ้าของบ้านเลย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างต้องบอกลาว่าลูกหลานเอ้ย เจ้าที่อยู่ไม่ได้แล้ว เรื่องนี้ผมถึงต้องมาพูดให้กับสภาในฐานะตัวแทนพี่น้องประชาชน” นายพิทักษ์เดช กล่าว
นายพิทักษ์เดช กล่าวอีกว่า เมื่อคืนตนฝันดีมาก ว่าจะตั้งกระทู้สดความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน แล้ว พล.ต.อ.พัชรวาทมาตอบ ที่ผ่านมาก็มีรัฐมนตรีมาบ้าง ไม่มาบ้าง วันนี้ตนถือว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ให้โอกาสกับพี่น้องปากพนัง และหวังว่าจะกลับไปนอนฝันต่อว่าท่านจะแก้ปัญหา
โดยคำถามแรกขอถามว่า เนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เสนอโครงการเขื่อนหินใหญ่เตรียมแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งของ ต. ปากพนังฝั่งตะวันออก และ ต.แหลมตะลุมพุก แต่คณะกรรมการกลั่นกรองได้ให้กลับไปทบทวน กระทรวงทรัพย์ฯ จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนนี้ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจนอย่างไร
พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ตอบว่า พื้นที่ อ.ปากพนังและหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ได้มีโครงการเขื่อนหินใหญ่ก่อนหน้านี้ บางบริเวณที่มีการก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งในพื้นที่อยู่แล้ว บริเวณดังกล่าวได้เสนอโครงการต่อคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งชาวบ้านต้องการเขื่อนกันคลื่น ที่มีความแข็งแรงมีความคงทนถาวรแต่ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรรมชาติทางชายฝั่งได้แก้ไขโดยการฝากรั้วไม้ชะลอคลื่น ซึ่งเป็นโครงการไม่ถาวร ราษฎรในพื้นที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีดังกล่าว ประกอบกับประกาศกระทรวงระบุว่าการกั้นเขื่อนกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA ส่งผลให้เกิดความล่าช้า
ในช่วงเดือน ม.ค. ตนได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรี ลงไปรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาแล้ว ทางกระทรวงได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินการปักรั้วไม้ดักทรายเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นระยะทางกว่า 200 เมตร ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการติดตามผลการดำเนินงาน ในส่วนพื้นที่ อ.ปากพนัง การแก้ไขปัญหาต้องใช้รูปแบบที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงจึงได้มอบหมายให้นักวิชาการลงพื้นที่ ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
พล.ต.อ.พัชรวาท ยืนยันว่า ทางกระทรวงได้ใช้รูปแบบที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ และให้คำแนะนำเพื่อเร่งรัดกระบวนการเพื่อให้การแก้ไขเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
นายพิทักษ์เดช จึงถามต่อว่า ประกาศของกระทรวงทรัพย์ฯ ที่ให้ยกเลิกและจัดทำ EIA ใหม่ ปัจจุบันยังมีพื้นที่ที่ชาวบ้านประสบปัญหาการกัดเซาะ ต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ขอให้พิจารณาทบทวนยกเว้น ในพื้นที่ภัยพิบัติซ้ำซากรุนแรงได้หรือไม่ พล.ต.อ.พัชรวาท รับปากว่า จะสั่งการให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชี้แจงรายละเอียดกับ สส.ต่อไป