วันนี้(10 ม.ค.)นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 เป็นตัวแทนรับหนังสือจากนายอภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life หรือเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
โดยนายนิติพล กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลก่อน เราจะเห็นความพยายามของ กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ในการผลักดันโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อสร้างกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ ซึ่งนอกจากต้องใช้งบประมาณมากแล้ว ยังมีข้อกังขาจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่ท้วงติงในหลายครั้ง เพราะหลายกรณีเป็นการเอาภาพช่วงที่มีการกัดเซาะตามฤดูกาลมาแสดงให้ดูเหมือนมีการพังทลายมาก เป็นเหตุผลที่ต้องของบทำโครงการ ทั้งที่ความจริงเป็นวัฏจักรของทะเล เมื่อถึงอีกฤดูกาลหนึ่งทรายก็ถูกพัดกลับมาเป็นชายหาดเหมือนเดิม ขณะที่การสร้างเขื่อนแข็งกลับทำลายธรรมชาติมากขึ้น เพิ่มการกัดเซาะมากกว่าเดิมในจุดอื่นที่ไม่มีกำแพงเพราะกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ซึ่งนอกจากเหตุผลทางวิชาการแล้วยังส่งผลกระทบถึงวิถีชุมชนเนื่องจากชายหาดหายไป พี่น้องประมงพื้นบ้านไม่สามารถใช้วิถีชีวิตตามปกติได้เลย หลายพื้นที่จึงมีการคัดค้าน ที่ไหนเป็นข่าวก็มีโอกาสรอด ที่ไหนกระแสเงียบ กำแพงกันคลื่นก็ผุดขึ้นได้
นายนิติพล กล่าวอีกว่า สำหรับการรับหนังสือในครั้งนี้ เป็นข้อเสนอไปยัง กมธ.งบ 67 เกี่ยวกับโครงการกำแพงกันคลื่นที่มีข้อกังขาใน 2 เรื่องหลักได้แก่ โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราช จ.สงขลา ระยะที่ 3 ความยาว 555 เมตร ตั้งงบประมาณปี 2563-2567 วงเงินทั้งสิ้น 76,862,000 บาท ขอรับงบประมาณในปี 2567 จำนวน 15,000,000 บาท โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง
"แต่โครงการนี้ถูกศาลปกครองสงขลา ระงับการดำเนินโครงการไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอื่น โดยศาลได้วินิจฉัยว่า พื้นที่โครงการดังกล่าวมีสภาพเป็นชายหาดที่สมบูรณ์ ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง ประชาชนใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดในการจอดเรือและขนถ่ายอุปกรณ์ประมง อีกทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง ไม่สามารถแสดงหลักฐานยืนยันได้ว่า กำแพงกันคลื่นจะสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้แท้จริงและได้ผลดีจริงโดยไม่สร้างความเสียหายต่อชายหาด"
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือขอให้ตรวจสอบการตั้งงบประมาณว่าจ้างศึกษาโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 6 โครงการ เป็นโครงการผูกพันต่อเนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 4 โครงการ และ เป็นโครงการตั้งใหม่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 2 โครงการ โดยโครงการเหล่านี้ไม่ระบุพื้นที่ศึกษาออกแบบ ระบุเพียงระบุระยะโครงการ (เฟส) และระบบกลุ่มหาดแบบกว้าง จึงมีข้อสังเกตว่า การตั้งงบลักษณะนี้อาจทำให้เกิดการสุ่มหาพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างโดยไร้ความจำเป็นอย่างที่ผ่านมาหรือไม่
"ทางภาคประชาชนแนะนำให้ กมธ.งบ 67ต้องให้หน่วยงานผู้ขอรับงบประมาณเข้ามาชี้แจงถึงรายละเอียดทั้ง 6 โครงการ เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินนั้นนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง ขอให้เพิกถอนงบโครงการที่ถูกศาลปกครองระงับไว้ ผมคิดว่า ข้อสังเกตจากภาคประชาชนมีเหตุผลที่ควรรับฟัง จึงจะนำข้อเสนอและหนังสือฉบับนี้นำเสนอในการพิจารณางบประมาณในชั้นกรรมาธิการและต้องขอขอบคุณประชาชนที่ช่วยกันตรวจสอบงบประมาณเพื่อให้มีประสิทธิภาพ และตัวผมเองก็หวังเช่นกันว่ารัฐบาลนี้จะเห็นปัญหาและเจตนาของการทำโครงการแบบนี้ ไม่เหมือนรัฐบาลที่แล้วที่เป็นอาชญากรชายหาดด้วยการผลักดันโครงการไร้ประโยชน์และทำลายชายหาดไปมากมายในช่วงที่ผ่านมา"